1400 จำนวนผู้เข้าชม |
โรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ และโรงพยาบาลวัฒโนสถ ชูจุดเด่นของการผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก (Minimally Invasive Surgery: MIS) เพื่อดูแลให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หัวใจสำคัญของการผ่าตัดผ่านกล้องคือ แผลเล็ก คนไข้เจ็บตัวน้อย เสียเลือดน้อย ลดอาการแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด ระยะเวลาในการพักฟื้นที่โรงพยาบาลน้อย ลดการเกิดผังผืด และลดโอกาสการเกิดแผลติดเชื้อได้มาก ซึ่งการผ่าตัดรักษาผ่านกล้อง สามารถทำได้ในหลายอวัยวะของระบบร่างกาย
พญ.หยิงฉี หวัง สูติ-นรีแพทย์ด้านการผ่าตัดผ่านกล้อง รพ.กรุงเทพ กล่าวว่า การผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก MIS เป็นวิธีการผ่าตัด โดยการเจาะรูเล็ก ๆ ขนาดประมาณ 5-10 มม. จำนวน 3-5 รูขึ้น(อยู่กับโรคที่กำลังรักษา) ในบริเวณผิวหนังที่ต้องการจะผ่าตัด เพื่อสอดอุปกรณ์และกล้องขนาดเล็ก พร้อมบันทึกภาพและส่งมายังจอรับซึ่งทำหน้าที่แทนตาของศัลยแพทย์ รวมถึงอุปกรณ์อื่น ๆ ให้ประสิทธิภาพการรักษาเทียบเท่ากับการผ่าตัดมาตรฐานเปิดแผลใหญ่ แต่จะมีความคมชัดมากขึ้นเพราะกล้องมีกำลังขยายสูง สามารถเข้าไปผ่าตัดในจุดเล็ก ๆ ที่มือแพทย์เข้าไม่ถึง ลดการกระทบกระเทือนอวัยวะภายใน จึงช่วยลดผลแทรกซ้อน ทำให้การผ่าตัดสะดวก ลดความเจ็บปวดจากแผลผ่าตัดทำให้ระยะพักฟื้นของผู้ป่วยน้อยลง
โรคที่พบบ่อยและสามารถผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก ได้แก่ เนื้องอกมดลูก ช็อกโกแลตซีสต์ เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ซีสต์ในรังไข่ ฯลฯ สำหรับ“เนื้องอกในมดลูก” พบบ่อยในผู้หญิงอายุระหว่าง 30-40 ปี พบได้ 3-4 คนใน 10 คน และ 3-4 คน มี 30 เปอร์เซ็นต์ที่ต้องรับการผ่าตัดเพื่อรักษา และไม่ทราบสาเหตุในการเกิด ผู้ที่ควรต้องเข้ารับการผ่าตัดเนื้องอก มีอาการบ่งชี้ เช่น เลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด เช่น ประจำเดือนมามากหรือมากะปริบกะปรอย มีอาการปวดท้องมาก เนื้องอกไปกดทับอวัยวะข้างเคียง เช่น กระเพาะปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะบ่อย ตรวจพบเนื้องอกโตเร็วผิดปกติในเวลา3-4 เดือน หรือเนื้องอกที่สงสัยว่าจะเป็นมะเร็ง ความยากของการผ่าตัดเนื้องอกขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่ง นอกจากนี้ยังมีโรคซีสต์รังไข่ซึ่งจะไม่แสดงอาการ เป็นถุงที่เต็มไปด้วยของเหลว ก่อตัวขึ้นได้ในรังไข่ เมื่อตกไข่ผิดปกติจะทำให้เกิดการคั่ง เป็นถุงน้ำในรังไข่ขนาดเล็ก เกิดได้กับรังไข่ทั้งสองข้าง รวมไปถึงภาวะที่เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญเติบโตอยู่นอกโพรงมดลูกหรือแทรกในผนังหรือกล้ามเนื้อมดลูก ส่วนใหญ่เกิดจากการไหลย้อนกลับของประจำเดือนเข้าไปในอุ้งเชิงกรานผ่านท่อนำไข่และฝังตัวในโพรงมดลูกหรือฝังตามอวัยวะต่าง ๆ บริเวณที่พบบ่อยคืออุ้งเชิงกราน รังไข่ ท่อนำไข่ อาการที่พบ ส่วนใหญ่ปวดท้องน้อยเป็นประจำ ก่อน ระหว่าง หลังมีประจำเดือน หรือปวดขณะหรือหลังมีเพศสัมพันธ์ เป็นต้น จากอาการของโรคเหล่านี้สามารถรักษาได้โดยเทคโนโลยี “การผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็กทางนรีเวช ทำให้ไม่ต้องเปิดแผลใหญ่ที่หน้าท้อง แผลเล็กขนาด 5-10 มม. 3-4 รู เสียเลือดน้อย สามารถช่วยลดภาวะแทรกซ้อน ทั้งยังฟื้นตัวเร็ว 1-2 วันก็สามารถกลับบ้านได้และใช้ชีวิตปกติได้ใน 1 สัปดาห์ และด้วยความพร้อมของทีมแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพที่เชี่ยวชาญเรื่องการผ่าตัดผ่านกล้องโดยเฉพาะ พร้อมทั้งเครื่องมือเทคโนโลยีที่ทันสมัยทำให้สามารถวินิจฉัย วางแผน และให้การรักษาที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วยแต่ละบุคคล เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย ข้อควรแนะนำคือ การมาพบแพทย์เพื่อตรวจภายในและอัลตราซาวนด์เป็นประจำทุกปี จึงมีความสำคัญกับผู้หญิงทุก ๆ คน หากตรวจพบความผิดปกติ ควรรีบรักษา
นพ.พรเทพ ม้ามณี ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ การผ่าตัดผ่านกล้องและเวชศาสตร์การกีฬา สถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกาย (BASEM) รพ.กรุงเทพ ศูนย์เพื่อความเป็นเลิศทางการแพทย์ของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) กล่าวว่า อาการบาดเจ็บบริเวณข้อ สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งข้อไหล่ ข้อเข่า หรือข้อเท้า และมักสร้างปัญหารุนแรง ใช้เวลาในการรักษานานหลายเดือน สาเหตุการบาดเจ็บอาจเกิดขึ้นจากการปะทะ การกระชากของไหล่หรือการเหนี่ยวแขน หรือการล้มโดยใช้แขนเท้าพื้นหรือล้มแล้วไหล่กระแทกพื้นโดยตรง การเหวี่ยงหรือขว้างบอลอย่างรุนแรงหรือการเอื้อมแขนอย่างมากก็สามารถทำให้เกิดการกระชากอย่างรุนแรงของกล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็นหัวไหล่จนเกิดการบาดเจ็บได้ การรักษาขึ้นอยู่กับตำแหน่งของการบาดเจ็บของข้อไหล่ เช่น ถ้าบาดเจ็บบริเวณกล้ามเนื้อรอบ ๆ ควรพักการใช้งาน ประคบเย็น ทานยาต้านอักเสบและยาคลายกล้ามเนื้อร่วมกับการทำกายภาพ
หากเป็นการบาดเจ็บของกระดูกหรือข้อเคลื่อนหลุด ควรดามหรือใส่ผ้าห้อยแขน เพื่อไม่ให้มีการขยับและส่งพบแพทย์โดยเร็วเพื่อรับการรักษาเฉพาะต่อไป เช่น การดึงกระดูกและข้อให้เข้าที่ หรือผ่าตัดเพื่อเย็บซ่อมเส้นเอ็นข้อไหล่ที่หลุดเคลื่อน หากข้อไหล่มีอาการบาดเจ็บเรื้อรัง อาจเนื่องมาจากเส้นเอ็นมีการฉีกขาดหลบซ่อนอยู่ ควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและวางแผนในการผ่าตัด ส่วนสาเหตุการบาดเจ็บที่หัวเข่าที่พบบ่อย คือ เอ็นไขว้หน้าเข่าขาด มักเกิดจากการเล่นกีฬา การทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องมีการปะทะ เกิดการบิดของเข่า หรือเกิดการกระแทกแล้วเอ็นเข่าฉีกขาด ขณะที่การบาดเจ็บที่ไม่ได้เกิดจากการปะทะ มักมีสาเหตุมาจากกล้ามเนื้อที่ตึงไม่ยืดหยุ่นหรือไม่มีความแข็งแรง จนทำให้เข่าเกิดการบาดเจ็บแบบสะสม การปฐมพยาบาลเบื้องต้นคือ คนไข้ควรนอนนิ่งๆ ก่อนอย่าเพิ่งพยายามขยับเอง และควรรีบประคบเย็น
หากปวดมากขยับไม่ได้ควรหาอุปกรณ์เพื่อดามหรือพันผ้ายึดให้แข็งแรงอย่ากด ดัน ดึง เองเพื่อให้ขาเข้าที่ ควรดามอยู่ลักษณะนั้นจนกว่าจะถึงมือแพทย์ จากสถิติกว่า 80% มักเป็นเอ็นไขว้หน้าเข่าฉีก เนื่องจากเอ็นไขว้หน้าที่ฉีกนั้นมีแรงตึงในตัวเอ็น เมื่อฉีกไป แต่ละปลายของเอ็นจะหดตัวห่างจากกันไปเรื่อย ๆ ปัจจุบันศัลยแพทย์เลือกใช้เทคนิคการผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก เพื่อรักษาเอ็นข้อไหล่ฉีกขาด เอ็นไขว้หน้าเข่าฉีก หมอนรองกระดูกเข่า ฯลฯ เนื่องจากได้ผลการรักษาที่ได้ผลค่อนข้างดี แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก เสียเลือดน้อย สามารถทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นตัวได้ตั้งแต่ 24 ชั่วโมงแรกหรือวันที่สองหลังผ่าตัด
สำหรับในผู้ป่วยที่เป็นนักกีฬาแพทย์จะพยายามรักษาและฟื้นฟูให้กลับมาใช้งานได้ดีใกล้เคียงเดิมให้ได้มากและรวดเร็วที่สุด ซึ่งการฟื้นฟูกล้ามเนื้อภายหลังผ่าตัด จะใช้เครื่องกายภาพบำบัด Alter G (Anti-Gravity Treadmill) เป็นลู่วิ่งในสภาวะไร้น้ำหนักเสมือนเดินอยู่ในลูกบอลลูน มีอุปกรณ์คล้ายถุงลมเพื่อช่วยแบกรับน้ำหนักของร่างกายถึง 80% ของน้ำหนักตัว ลดปัญหาการบาดเจ็บขณะเคลื่อนไหวและลงน้ำหนักขณะออกกำลังกายได้ ทำให้ไม่รู้สึกเจ็บขณะลงน้ำหนัก ช่วยให้ขยับเดินได้เร็ว ทั้งนี้ การป้องกัน คือ การวอร์มอัพ การยืดเส้นทั้งก่อนและหลังเล่นกีฬา หมั่นฝึกบริหารข้อไหล่ ข้อเข่าเพื่อให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นรอบข้อมีความแข็งแรง เพราะสามารถช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บได้
นพ.อรรถภูมิ สู่ศุภอรรถ ศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก และผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ กล่าวว่า หนึ่งในโรคหัวใจที่พบได้บ่อยคือ โรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง หลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ต้า(Aorta) ซึ่งเมื่อมีการโป่งขยายจนถึงระดับหนึ่งก็จะแตกทำให้เสียเลือดจำนวนมากกระทันหันจนเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้ในเวลาอันรวดเร็ว ภาวะดังกล่าวสามารถพบได้ในทุกระดับของหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ต้าไม่ว่าจะเป็นส่วนที่อยู่ในช่องอกหรือช่องท้อง ซึ่งต้องแก้ไขด้วยการผ่าตัด ปัจจุบันการผ่าตัดโรคหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ต้าโป่งพองมีสองรูปแบบ คือการผ่าตัดเปิด และการผ่าตัดใส่หลอดเลือดเทียมชนิดมีขดลวดถ่างขยายผ่านสายสวน ซึ่งแผลผ่าตัดมีขนาดเล็กกว่า และอัตราการเสียชีวิตในโรงพยาบาลต่ำกว่า โดยที่ให้ผลในการรักษาระยะยาวเทียบเท่ากับการผ่าตัดเปิด ที่สำคัญจะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น อย่างไรก็ตามการดูแลตัวเองหลังการผ่าตัด ควรงดหรือหยุดสูบบุหรี่ทันที จะช่วยลดการแตกของหลอดเลือดได้ถึง 4 เท่า พร้อมกันนี้ควรออกกำลังกายในระดับปานกลาง เช่น วิ่งเหยาะๆ ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ ที่สำคัญคือการเข้ารับการตรวจคัดกรองด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองทำให้การรักษาเป็นไปอย่างทันท่วงที การมาพบแพทย์ตรวจร่างกายแต่เนิ่น ๆ เพื่อป้องกันจึงเป็นสิ่งที่ควรทำ นอกจากนี้แล้วเทคโนโลยีการผ่าตัดแผลเล็กยังสามารถรักษาโรคหัวใจทางด้านอื่น ๆ ได้ เช่น การผ่าตัดซ่อมลิ้นหัวใจ เป็นต้น
นพ.วุฒิ สุเมธโชติเมธา แพทย์ศัลยศาสตร์ด้านโรคมะเร็ง รพ.วัฒโนสถ กล่าวว่า การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่มีการรักษาร่วมกันหลายวิธี คือ การผ่าตัด การใช้รังสีรักษา เคมีบำบัด โดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญวางแผนการรักษาเพื่อให้ผู้ป่วยกลับมาแข็งแรงและใช้ชีวิตได้ตามปกติ ในอดีตการผ่าตัดรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นการผ่าตัดแบบแผลเปิด ซึ่งความยาวของแผลอยู่ที่ประมาณ 6 - 12 นิ้ว หรือ 15 - 30 ซม. ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของก้อนมะเร็ง แต่ในปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง นำมาซึ่งการผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็กเพื่อรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ (Laparoscopic Surgery) โดยศัลยแพทย์จะทำการเจาะรูขนาดเล็กประมาณ 4 - 5 รู ขนาด 6 - 8 มิลลิเมตร และมีแผลใหญ่สุด 1 รู ขนาดไม่เกิน 4 ซม. หลังจากนั้นจะมีการใส่เครื่องมือผ่าตัดรวมถึงกล้องขนาดเล็กที่สามารถมองเห็นอวัยวะภายในบนจอมอนิเตอร์ได้อย่างชัดเจน จำนวนและขนาดของแผลจะขึ้นอยู่กับขนาดของก้อนมะเร็ง โดยข้อดีของการผ่าตัดผ่านกล้องคือ แผลเล็ก เสียเลือดลดลง เจ็บน้อย ฟื้นตัวไว ลดการเกิดผลแทรกซ้อนจากการผ่าตัด เช่น การติดเชื้อที่แผล และทำให้กลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้เร็วขึ้น ทั้งนี้ผลการผ่าตัดผ่านกล้องรักษาได้ดีเทียบเท่าการผ่าตัดแบบแผลเปิด แต่ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ควรจะเข้ารับการผ่าตัดแบบใดนั้นขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์เป็นสำคัญ เพื่อผลลัพธ์การรักษาที่ดีและเหมาะสมกับคนไข้แต่ละบุคคล