477 จำนวนผู้เข้าชม |
จีทีเอ เจ้าของลิขสิทธิ์ศึก ซูเปอร์ จีที จากประเทศญี่ปุ่น จับมือกับ สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต ยืนยันร่วมจัดการแข่งขัน ซูเปอร์ จีที ระยะยาวในเมืองไทย ล็อกโปรแกรมช่วงเดียวกันในปีหน้า ชี้เจรจา ดีทีเอ็ม ลงตัวก่อนชิมลางหนึ่งสนามปี 2019 ขณะไทยเป็นตัวเลือกสำคัญ เผยความร่วมมือ “ไทย-ญี่ปุ่น” และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของไทยเป็นปัจจัยสร้างความสำเร็จ
ภาพความตื่นตัวของวงการมอเตอร์ส ปอร์ตไทย ณ ปัจจุบัน ราวกับหนังคนละฉากจากเมื่อ 5 ปีผ่านมา การลงทุนของผู้ผลิต การขยับตัวของทีมแข่ง การให้ความสนใจจากแฟนๆ คือสิ่งล้ำค่าที่ปลุกให้เกิดการเติบโตแบบก้าวกระโดด และหนึ่งปัจจัยสำคัญคือการเกิดขึ้นของสนามแข่งรถระดับโลกในเมืองไทย รวมถึงเกมการแข่งขันระดับโลกที่ร่วมสร้างความยิ่งใหญ่ไปด้วยกัน
ศึก ซูเปอร์ จีที เดินทางมาเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในเมืองไทยเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคมปี2014 พร้อมกับที่ สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ ได้ถูกจารึกเป็นสนามแข่งรถมาตรฐานโลกแห่งแรกของเมืองไทยในปีเดียวกัน ซึ่งในปีแรกของการแข่งขัน “ซูเปอร์ จีที” นับเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญ เพราะนี่คือการเปิดโลกมอเตอร์สปอร์ตให้แฟนๆ ที่ไม่เคยรู้จักเลยได้เข้ามาสัมผัส ขณะที่แฟนพันธุ์แท้ของกีฬาความเร็วนั้นไม่ต้องพูดถึงความตื้นตันมันเอ่อล้น... เพราะซีรีส์อย่าง ซูเปอร์ จีที นั้นมีทั้งความเข้มข้นของการแข่งขัน รถแข่งที่ล้ำสมัย แถมยังทรงคุณค่าด้วยตำนานในแบบฉบับของแดนอาทิตย์อุทัย ถึงแม้ในปีแรกของ “ซูเปอร์ จีที” ในเมืองไทยจะยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐมากนัก แต่การตบเท้าเข้ามาร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่โดยภาคเอกชนก็ถือเป็นหนึ่งในสัญญาณที่ดีว่าเราจะได้เห็นการเติบโตอย่างมั่นคงของมอเตอร์สปอร์ตในเมืองไทย
จากวันนั้นถึงวันนี้ สนามช้าง เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ซูเปอร์จีที มาแล้วทั้งสิ้น 5 ครั้ง และเปลี่ยนมาใช้ชื่อรายการว่า “ช้าง ซูเปอร์ จีที เรซ” มาแล้ว 4 ครั้ง พร้อมกับบรรยากาศแห่งความยิ่งใหญ่ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในเมืองไทยโดย ศึก ช้าง ซูเปอร์ จีที เรซ 2018 เพิ่งดวลความเร็วเมื่อวันที่ 30 มิถุนายนกับ 1 กรกฎาคม ที่ผ่านมา โดยนับเป็นปีที่ 5 ติดต่อกันที่ศึกมอเตอร์สปอร์ตระดับตำนานของประเทศญี่ปุ่นจัดขึ้นในเมืองไทย พร้อมกับภาพการแข่งขันสุดเข้มข้น แฟนๆ หลายหมื่นคนเข้าชมไม่แตกต่างจากทุกๆ ปี ที่สำคัญกิจกรรมที่ย้อมให้ สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต กลายเป็นญี่ปุ่นขนาดย่อมก็สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับแฟนๆ ทั้งไทยและเทศที่เดินทางเข้าชมการแข่งขัน
ล่าสุด นายเนวิน ชิดชอบ ประธานที่ปรึกษา บริษัท บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จำกัด และ มร.มาซากิ บันโดะห์ ซีอีโอของ จีทีเอ ฝ่ายจัดการแข่งขัน ซูเปอร์จีที ได้ร่วมกันแถลงข่าวความสำเร็จในรอบ 5 ปี ที่จัดการแข่งขันในเมืองไทยและความร่วมมือในอนาคต โดยนายเนวิน ชิดชอบ กล่าวว่า “ซูเปอร์จีที และ สนามช้างฯ อยู่คู่กันมา 5 ปี นับตั้งแต่เราเปิดใช้สนามในปี 2014 พัฒนาการต่างๆ ของวงการมอเตอร์สปอร์ตไทยเติบโตขึ้นมาก โดยเฉพาะฐานแฟนชาวไทยที่มีความนิยมต่อ ซูเปอร์จีที นั้นมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง มียอดชมผ่านการถ่ายทอดสดพุ่งสูงขึ้น และแน่นอนว่ามีนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นมาเยือนจังหวัดบุรีรัมย์มากขึ้นในช่วงการแข่งขัน ทำให้เศรษฐกิจและเมืองมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบที่คล่องตัวสูงขึ้น สร้างรายได้ให้กับชาวเมืองได้อย่างมาก”
ด้าน มร.มาซากิ บันโดะห์ เผยว่า “การแข่งขันในเมืองไทยถือเป็นหนึ่งอีเวนต์ที่สำคัญของ ซูเปอร์จีที มีการเก็บคะแนนสะสมเช่นเดียวกับทุกๆ สนาม และแน่นอนว่าทุกอย่างเข้มข้นไม่ต่างจากสนามอื่น ๆ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเติบโตขึ้นของเมืองบุรีรัมย์ โดยเฉพาะในปีนี้จะมีโมโตจีพีมาในเดือนตุลาคม สร้างความคึกคักและทำให้ทุกอย่างพัฒนาขึ้นเร็วมากๆ โดย จีทีเอ พร้อมที่จะสนับสนุนทุกอย่างที่ ทำได้ เพื่อให้ บุรีรัมย์ พัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ” นอกจากนี้ มร.บันโดะห์ ยังได้กล่าวถึงการแข่งขัน ซูเปอร์จีที ในเมืองไทยสำหรับปี 2019 ว่า “ปีหน้าสนามในประเทศไทยยังคงเป็นหนึ่งในอีเวนต์สำคัญของเรา โดยโปรแกรมฤดูกาลหน้ายังอยู่ระหว่างการจัดสรรเวลาและยื่นต่อสมาพันธ์แข่งรถในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งประเทศไทยจะแข่งขันในช่วงเวลาเดียวกันกับปีนี้”
สุดท้ายนี้ มร.บันโดะห์ ยังกล่าวถึงความร่วมมือกับ ดีทีเอ็ม สุดยอดการแข่งขันซูเปอร์คาร์สุด โหดของประเทศเยอรมนีว่า “เราได้ลงนามความร่วมมือเบื้องต้นด้านกฎเทคนิคของตัวรถแล้ว โดยปี 2019 จะมี 1 สนามที่ชิมลางแข่งขันร่วมกันระหว่าง ซูเปอร์จีที และ ดีทีเอ็ม เพื่อหาความเหมาะสมต่อไปในอนาคต โดยตั้งเป้าว่าจะร่วมแข่งขันด้วยกันอย่างจริงจังในปี 2021 ซึ่งหนึ่งในสนามที่เล็งไว้คือที่บุรีรัมย์นั่นเอง” ทั้งนี้ นายเนวิน ได้กล่าวสมทบว่า “เราอยู่กันมา 5 ปี และจะร่วมงานกันต่อไปในอนาคต หวังว่าจะสร้างประโยชน์กับวงการมอเตอร์สปอร์ตในประเทศไทยมากขึ้น ในอนาคตเราจะไปจัดโร้ดโชว์โปรโมทการแข่งขันของไทยที่ประเทศญี่ปุ่น และแฟนๆ ชาวญี่ปุ่นจะหลั่งไหลเข้ามาที่บุรีรัมย์มากขึ้น”
นอกจากการเติบโตของมอเตอร์สปอร์ตไทยแล้ว เศรษฐกิจ การค้า การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมยานยนต์ก็เติบโตตามไปด้วย “ในไทยมีโรงงานของค่ายรถยนต์และชิ้นส่วนจากญี่ปุ่น ซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนไทยกับคนญี่ปุ่น และแน่นอนว่าจุดนี้ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์พัฒนาขึ้นในเมืองไทย การมาของ ซูเปอร์จีที ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ค่ายรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ กล้าที่จะลงทุนเพิ่มในเมืองไทย 5 ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการพัฒนาของเมืองบุรีรัมย์ที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จีทีเอ ชื่นชมในการพัฒนานี้ และพร้อมจะช่วยผลักดันให้บุรีรัมย์เติบโตในทุก ๆ ด้าน”
ขณะที่ นายตนัยศิริ ชาญวิทยารมณ์ กรรมการผู้อำนวยการ สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ กล่าวถึงภาพรวมการแข่งขันว่า “เราได้เห็นพัฒนาการของทีมแข่งไทยที่ถือว่าติดอยู่ในท็อป 5 ของ ซูเปอร์จีที ได้แล้ว ผมเชื่อว่าทีมแข่งไทยจะพัฒนาขึ้นไปได้อีก และอยากเห็นทีมไทยในซูเปอร์จีทีแบบเต็มฤดูกาลมากขึ้น ส่วนการตอบรับในปีนี้ถือว่ายังคงมีความคึกคักเหมือนเดิม แฟนๆ ยังหลั่งไหลมาอย่างต่อเนื่อง น่าเสียดายที่ในวันเสาร์มีฝนตกลงมาอย่างหนัก ทำให้แฟนๆ บางส่วนเข้ามาชมที่สนามไม่ได้ แต่โดยรวมในวันแข่งขันก็มีจำนวนผู้ชมเต็มแกรนด์สแตนด์และหนาแน่นเช่นเคย”
นายตนัยศิริ กล่าวถึงการร่วมงานในอนาคตของ ซูเปอร์จีที และ จีที500 ซึ่งจะเริ่มมีความชัดเจนในปี2019 ว่า “เราได้คุยเรื่องนี้กับ จีทีเอ มา 2-3 ปี แล้ว ในปีหน้าทาง จีทีเอ จะยกทีมแข่ง จีที500 ไปแข่งขัน 1 สนามในรายการดีทีเอ็ม และอีก 1 สนามในเอเชียซึ่งจะไม่ใช่เพียงญี่ปุ่น โดยเขาบอกว่าเล็งสนามช้างฯ ของเราไว้ เพราะเชื่อว่าจะช่วยสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับการแข่งขันเป็นอย่างมาก และผมค่อนข้างมั่นใจว่าในปีหน้า เราจะได้เห็นการแข่งขัน จีที500 กับ ดีทีเอ็ม มาดวลความเร็วในเมืองไทย ซึ่งเมื่อถึงวันนั้นแฟนๆ ดีทีเอ็มในเมืองไทยจะตื่นตัวขึ้นมาก ขณะที่แฟนๆ ซูเปอร์จีที ก็จะเต็มอิ่มมากขึ้นกับการแข่งขันที่ดุดันและโหดมากกว่าเดิม แน่นอนว่าสิ่งที่เราพยายามพัฒนาต่อเนื่องนั่นคือการได้มอบความสุขให้กับแฟนๆ ชาวไทยอย่างแท้จริง”
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการจะเกิดอีเวนต์ระดับโลกเช่นนี้ขึ้นนั้น ต้องอาศัยปัจจัยและความร่วมแรงร่วมใจของทุกภาคส่วน ในช่วงเริ่มต้นของ ช้าง ซูเปอร์ จีที เรซ นั้น ภาคเอกชนตบเท้ามามีส่วนร่วมอย่างพร้อมหน้า หลังจากนั้นไม่นานภาครัฐทั้งการกีฬาแห่งประเทศไทยและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ก็เข้ามามีส่วนร่วมเช่นกัน ส่งผลให้เกิดความแข็งแกร่งขึ้นอย่างมาก และสิ่งหนึ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญ ที่สุด คือการให้ความสำคัญในกีฬามอเตอร์สปอร์ตของ “แฟนๆ ชาวไทย” ที่ขยายวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ การมีส่วนร่วมนี้สร้างความมั่นใจให้ภาคเอกชนและภาครัฐที่เข้ามาร่วมเดินทาง กับ สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต สร้างความเชื่อมั่นให้ จีทีเอ ฝ่ายจัดการแข่งขันว่าเมืองไทยคือประเทศที่เขามองข้ามไม่ได้ เพราะฉะนั้น “ช้าง ซูเปอร์ จีที เรซ” จึงนับเป็นอีเวนต์กีฬาที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ จากความร่วมมือของ “ไทย” กับ “ญี่ปุ่น” ที่คนไทยทุกภาคส่วนก้าวเข้ามามีส่วนร่วม