AUDI SQ5 TDI: SUV ดีเซลจอมพลัง ภายใต้รหัส ‘S’

691 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ภาพ : AUDI AG

เรียบเรียง : Pitak Boon

 

Audi สร้างรถยนต์สมรรถนะสูง ด้วยแนวคิดที่แตกต่างจากผู้ผลิตรายอื่นๆ แม้วันนี้ Audi จะมี R8 มาเป็นซูเปอร์คาร์ประจำค่ายแล้วก็ตาม แต่ในอดีตบรรดาตัวแรงติดโลโก้สี่ห่วง ล้วนถูกพัฒนาขึ้นมาจากรถสแตนดาร์ด ไม่ว่าจะเป็นตัวถัง แฮทช์แบ็ค, คูเป้, ซีดาน, เอสเตท (Avant) หรือแม้กระทั่ง SUV โดยเวอร์ชั่นพิเศษที่ถูกรังสรรค์ขึ้นจะถูกเปลี่ยนรหัสเป็น S และ RS จุดเปลี่ยนภายนอกของตัวแรงสังกัด Audi อาจดูไม่หวือหวาเท่ารถสปอร์ตสายพันธุ์แท้ และหากพิจารณาอย่างลึกซึ้ง จะพบว่า มันแตกต่างกับบอดี้สแตนดาร์ดเพียงไม่กี่จุด ไม่ได้มีชุดแอร์โร่พาร์ทมากมายมาทำให้ตัวถังดูรกรุงรัง นั่นเพราะระบบแอร์โร่ไดนามิคเดิมๆ บนตัวถัง เข้าขั้นเยี่ยมยุทธ์อยู่แล้ว ทว่าความน่าสนใจกลับถูกซุกซ่อนไว้ภายใน เพียงแค่เปิดฝากระโปรงหน้าขึ้นมา ก็อาจทำให้ใครหลายคนต้องอ้าปากค้างกันเลยทีเดียว

Q5 เป็นรถ SUV โมเดลแรกของค่ายที่ถูกต่อยอดขึ้นเป็น SQ5 นับตั้งแต่ตัวถัง ‘Mk.I’ ต่อเนื่องมาจนถึง ‘Mk.II’ ซึ่งเป็นโฉมปัจจุบัน ความแปลกใหม่ของการอัพเกรดในรอบนี้คือ มันมาพร้อมรหัส TDI ซึ่งหมายความว่า เป็นเครื่องยนต์ดีเซลที่ถูกโมเพื่อเข้าสู่รถในกลุ่มที่เน้นสมรรถนะ ตัวถังของ Q5 อยู่ในคลาส Mid-class SUV ซึ่งได้รับการตอบรับสูงสุดในตลาดยุโรป ด้วยขนาดตัวถังที่ไม่เล็กและไม่ใหญ่จนเกินไป ความอเนกประสงค์ภายในห้องโดยสารมีให้อย่างพอเพียง จากความจุในการเก็บสัมภาระเริ่มต้นที่ 550 ลิตร และขยายต่อไปได้ถึง 1,550 ลิตร จากการพับเบาะแถวหลัง

SQ5 TDI ใช้ขุมพลัง 3.0 V6 TDI จากการเก็บข้อมูลในเชิงลึก โดยทีมวิศวกรผู้ออกแบบเครื่องยนต์ พบว่า แม้แต่เครื่องยนต์ที่ใช้เทอร์โบแปรผัน (VTG; Variable Turbine Geometry) ก็ยังประสบปัญหาเรื่องอาการ turbo lag ขณะไอเสียแรงดันน้อยๆ ในรอบเครื่องต่ำๆ วิศวกร Audi แก้ปัญหาด้วยการเพิ่มเทอร์โบตัวเล็กเข้ามาอีก 1 ตัว เพื่อช่วยอัดอากาศในรอบต่ำๆ แต่เทอร์โบตัวนี้เป็น “Electric Powered Compressor” (EPC) เพื่อช่วยอัดอากาศเข้าห้องเผาไหม้ โดยไม่ต้องอาศัยแรงดันจากไอเสียอีกต่อไป

EPC ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 7 kW จากไฟ 48 โวลต์ เพื่อเน้นความฉับไวในการทำงานนับตั้งแต่มอเตอร์เริ่มต้นหมุน จนถึงรอบการทำงานสูงสุดถึง 65,000 รอบ/นาที มอเตอร์ไฟฟ้าตอบสนองด้วยเวลาเพียง 300 milliseconds (0.30 วินาที) แรงดันไอเสียในรอบต่ำจึงไม่ส่งผลใดๆ ในการทำงานของเครื่องยนต์ โดย EPC สามารถสร้างแรงดันอากาศเข้าห้องเผาไหม้ได้สูงสุดถึง 1.4 บาร์ เมื่อรอบเครื่องแตะระดับ 1,650 รอบ/นาที ไอเสียมีแรงดันมากพอในการขับกังหันเทอร์ไบน์แล้ว EPC จะหมุนฟรี เทอร์โบตัวใหญ่ซึ่งเป็นแบบ VTG จะรับช่วงต่อ เพื่ออัดอากาศด้วยแรงดันแปรผันสูงสุดระดับ 2.4 บาร์ รองรับการทำงานในรอบเครื่องปานกลาง จนถึงรอบสูง

ขุมพลัง 3.0 V6 TDI ใน SQ5 TDI สร้างแรงม้าในระดับ 347 hp แรงบิดสูงสุดมหาศาลถึง 700 Nm ที่ 2,500-3,100 รอบ/นาที โดยเครื่องยนต์บล็อกนี้มาพร้อม MHEV System (Mild Hybrid Electric Vehicle) เป็นระบบไฮบริดประเภทหนึ่งที่เน้นความกะทัดรัดในการติดตั้งอุปกรณ์ ใช้มอเตอร์ตัวเล็กขนาด 12 kW ช่วยขับเคลื่อนเครื่องยนต์ผ่านเทคโนโลยี BAS (Belt Alternator-Starter) หรือ ขับผ่านสายพานในตัวเครื่องยนต์ จึงไม่มีอุปกรณ์ที่มีความซับซ้อน และมีขนาดใหญ่เหมือนพวกรถ Full Hybrid รวมทั้งแบตเตอรี่ของระบบ ที่มีขนาดกะทัดรัดมาก ติดตั้งไว้ในห้องเก็บสัมภาระท้ายรถ โดยไม่กินพื้นที่ในการเก็บสัมภาระแม้แต่น้อย

มอเตอร์ไฟฟ้าของระบบ BAS รองรับการทำงานในโหมด Start/Stop สามารถช่วยขับเคลื่อนรถจนถึงความเร็ว 22 กม./ชม. จากนั้นเครื่องยนต์จึงถูกสตาร์ตติดขึ้นอย่างนุ่มนวล ปราศจากอาการสะดุดในการ ตัด-ต่อ กำลัง และมอเตอร์ยังช่วยออกแรงเพิ่มอัตราเร่งได้ในช่วงความเร็ว 55-160 กม./ชม. โดยระบบ BAS ลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงลงได้ราว 0.7 ลิตร/100 กิโลเมตร

SQ5 TDI ขับเคลื่อนผ่านระบบ Quattro สมรรถนะจากโรงงานตะกายทั้ง 4 ล้อ ผ่านหลัก 100 กม./ชม. ด้วยเวลา 5.1 วินาที ความเร็วสูงสุดถูกล็อคไว้ที่ 250 กม./ชม. อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย 14.7-15.15 กิโลเมตร/ลิตร และตัวเลข CO2 ทำได้ระหว่าง 172-177 กรัม/กิโลเมตร พร้อมผ่านมาตรฐานไอเสียสะอาดในระดับ EU6d-TEMP

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้