1314 จำนวนผู้เข้าชม |
นายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ ประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดประชุมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลนานาชาติครั้งที่ 29 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 2-11 ธันวาคม 2559 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จ.เชียงใหม่ โดยประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพว่า การประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 2,000 คน จาก 40 ประเทศทั่วโลก ทุกประเทศชื่นชมและสนใจต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทย โดยเฉพาะการทำไร่อ้อยแบบพอเพียง ตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานให้ปวงชนชาวไทยยึดเป็นแนวทางในการดำรงชีพและใช้ชีวิต ซึ่งการทำไร่อ้อยแบบพอเพียงจะทำให้เกษตรกรรายย่อยสามารถอยู่รอด และก้าวขึ้นเป็นผู้ส่งออกระดับโลกได้ เพียงเกษตรกรรวมกลุ่มกันจากแปลงเล็กหลาย ๆ แปลงเป็นแปลงขยายใหญ่ ซึ่งจะสอดคล้องกับนโยบายประชารัฐเกษตรแปลงใหญ่ของรัฐบาล จากนั้นร่วมกันพัฒนานำเครื่องจักรกลที่ทันสมัยเข้ามาใช้ทดแทนแรงงานที่ขาดแคลนและมีต้นทุนสูง จะทำให้ต้นทุนการผลิตอ้อยของไทยลดลง สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้
นอกจากนี้ มีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลจากทั่วโลกให้ความสนใจมาร่วมจัดนิทรรศการจำนวนมาก การเจรจาธุรกิจก็ได้รับความสนใจในกลุ่มผู้ให้บริการและผู้ผลิตอุปกรณ์ ตลอดจนกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทย เป็นอุตสาหกรรมที่มีอนาคต และกำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม อันจะนำไปสู่การก้าวขึ้นเป็นผู้นำการผลิตและส่งออกเป็นอันดับหนึ่งของโลกในอนาคตได้
ในด้านวิชาการ มีผู้ส่งผลงานทางวิชาการมากถึง 267 เรื่อง ทำให้นักวิชาการและนักวิจัยรุ่นใหม่ได้แสดงความคิดเห็น สร้างความสัมพันธ์ สร้างเครือข่ายกับนักวิจัยระดับโลกที่เข้ามาเพื่อต่อยอดในการสร้างงานวิจัยที่มีประโยชน์ต่อไปในอนาคต และที่สำคัญตัวแทนผู้ส่งผลงานจากประเทศไทยถึง 10 คนได้รับคัดเลือกให้รับรางวัล Best Papers และ Best Posters Award จาก 4 สาขา ได้แก่ สาขาการเกษตร สาขาชีววิทยา โรงงาน และผลิตภัณฑ์พลอยได้ โดยสาขาชีววิทยาเป็นสาขาที่มีการนำเสนอผลงานทั้งแบบปากเปล่าและจัดแสดงโปสเตอร์มากที่สุด โดยเฉพาะหัวข้อเรื่องชีววิทยา และการปรับ ปรุงพันธุ์อ้อย
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยของไทยได้เรียกร้องผ่านทางเวทีประชุมดังกล่าว ให้ภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้ามาสนับสนุนงาน วิจัยมากขึ้น เพื่อให้งานวิจัยเกิดประโยชน์กับการพัฒนา สามารถขยายผลนำมาปฏิบัติได้จริงดังเช่นประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่การพัฒนาอยู่บนฐานข้อมูลที่ได้มาจากงานวิจัย ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาที่มั่นคงและยั่งยืน
นายกิตติ ชุณหวงศ์ นายกสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ความสำคัญในการจัดงานประชุมครั้งนี้ ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความพร้อมในการเป็นผู้นำในเรื่องอ้อยและน้ำตาลของไทย ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์อ้อยประเภทต่าง ๆ การจัดการดินและน้ำภายใต้ทรัพยากรที่จำกัด ไปจนถึงใช้เครื่องจักรขนาดเล็ก สำหรับเกษตรกรรายย่อย และโรงงานน้ำตาลในยุคใหม่ ที่นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีในการนำผลผลิตอ้อยทุกส่วนมาใช้ประโยชน์ โดยไม่มีส่วนใดเหลือทิ้ง ตลอดจนการบริหารจัดการที่ให้ความสำคัญกับการประหยัดพลังงาน และการควบคุมการผลิตด้วยระบบจีพีเอส นอกจากนี้ยังเป็นการเปิดตลาดให้ผู้ประกอบการอ้อยและน้ำตาลของไทย ได้มีโอกาสนำเสนอสินค้าออกสู่สากลมากขึ้นอีกด้วย
การประชุมครั้งนี้ยังได้เปิดโอกาสให้เกษตรกรของไทยได้เข้าชมงาน ทำให้ได้รับรู้และรับทราบเทคโนโลยีความก้าวหน้าในอุตสาหกรรม ซึ่งสามารถนำมาใช้ปรับปรุง พัฒนาต่อยอดเพื่อเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมั่นคงและยั่งยืน
"การจัดงานในครั้งนี้ เป็นการสร้าง Economic Impact และแสดงให้เห็นว่า จ.เชียงใหม่ สามารถเป็น MICE City ได้ อีกทั้งยังเป็นที่ยอมรับให้เป็นหนึ่งในจุดหมายที่ถูกเลือกให้จัดงานในระดับ International CONVEX ที่ประสบความสำเร็จทั้งในด้าน International Congress และ Trade Exhibition ได้อีกจุดหมายหนึ่งนอกเหนือจากกรุงเทพมหานคร การประชุมดังกล่าวยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านนักท่องเที่ยว เพราะจะทำให้ทั่วโลกได้รู้จักประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมจากกว่า 40 ประเทศทั่วโลก ก็จะนำเรื่องราวของประเทศไทย สถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม ไปเชิญชวนให้ประชาชนในประเทศของเขาเข้ามาท่องเที่ยวเมืองไทยมากขึ้น" นายกิตติ กล่าว