1253 จำนวนผู้เข้าชม |
911 GT3 รหัสตัวถัง ‘991’ ได้เวลาไมเนอร์เชนจ์เพื่อเป็นรถ Model Year 2017 อย่างเป็นทางการ แนวคิดในการพัฒนา GT3 ให้แตกต่างจาก 911 เวอร์ชั่นมาตรฐานยังคงไม่เปลี่ยนแปลง เน้นความโหดพร้อมส่งลงสนามแข่งได้ทันที เป็นรถที่วิศวกร PORSCHE มุ่งสร้างความสมดุล ระหว่างการใช้งานในชีวิตประจำวัน กับการนำไปซิ่งบนแทร็คในวันหยุดสุดสัปดาห์ โดย GT3 รักษาบุคคลิกพื้นฐานสุดคลาสสิกของ PORSCHE ตระกูลอมตะอย่าง 911 เอาไว้อย่างเหนียวแน่น ด้วยการเป็นรถวางเครื่องยนต์ไว้ด้านหลัง และขับเคลื่อนล้อหลัง เพื่อให้ได้แฮนด์ลิ่งที่เฉียบคมยิ่งขึ้น GT3 ได้รับการขยายช่วงความกว้างล้อหลังเพิ่มเติม กระทั่งได้ความกว้างมากกว่า 911 Carrera 4S ซึ่งเป็นรุ่นที่ใช้ระบบขับเคลื่อน AWD
911 GT3 (991 II) คันที่ใช้เปิดตัวเป็นสีแดง ธีมสีในห้องโดยสารเป็นโทนเข้ม ดีไซน์เนอร์ใช้หนังอัลคันทาร่าสีดำคลิปด้วยด้ายสีแดงช่วยเพิ่มความสปอร์ตในส่วนต่างๆ อาทิ รอบวงพวงมาลัย, คอนโซลหน้า และแผงประตู รวมถึง Bucket Seats ทรงสปอร์ตซึ่งใช้โครงที่ผลิตจากคาร์บอนไฟเบอร์ โดยเบาะนั่งจะต่ำลง 25 มิลลิเมตร เมื่อเทียบกับ 911 Carrera S ปรับความรู้สึกหลังพวงมาลัยให้เข้าใกล้ตัวแข่งมากยิ่งขึ้น ขณะที่เบาะนั่งคู่หลังที่ถูกเรียกว่า Dog Seats สำหรับส่วนเกิน จะถูกยกทิ้งทั้งชุด
ท่อนสะโพกไล่ไปถึงบั้นท้ายของ GT3 ไม่ได้มีไว้เพื่อความสวยงามน่าเกรงขามแต่เพียงอย่างเดียว ทั้งหมดออกแบบเพื่อให้ภายในบรรจุเครื่องยนต์บ็อกเซอร์ 6 สูบ ขนาด 4.0 ลิตร พร้อมอุปกรณ์ประกอบอีกมากมายได้อย่างลงตัว วิศวกรเริ่มต้นกำหนดวัตถุประสงค์ในการสร้างเครื่องยนต์สูบนอนบล็อกนี้ด้วย Lightweight Design ลดน้ำหนักส่วนเกินตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ ในส่วนการเลือกใช้วัสดุ เสื้อสูบ, ฝาสูบ และอ่างน้ำมันเครื่องผลิตจากอะลูมินัมอัลลอย
สูตร ‘ชักสั้น ดันเร็ว’ ถูกนำมาใช้ในการออกแบบกระบอกสูบ ด้วยการลดระยะชัก แต่ไปเพิ่มเส้นผ่าศูนย์กลางกระบอกสูบ สูตรนี้ช่วยให้การตอบสนองในการเพิ่มรอบของเครื่องยนต์ทำได้อย่างฉับไว ขั้นตอนต่อมา เป็นเรื่องของการประจุอากาศเข้าห้องเผาไหม้ จะทำอย่างไรให้อากาศไหลเข้าห้องเผาไหม้ได้ทัน ด้วยปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการของเครื่องยนต์ในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน มาลงเอยที่ระบบ ‘VarioCam Plus’ เป็นระบบวาล์วแปรผันที่เข้ามาช่วยปรับเปลี่ยนองศาการเปิด-ปิดของวาล์วไอดีและวาล์วไอเสีย ให้สัมพันธ์กับรอบเครื่อง ปิดท้ายด้วยระบบ DFI (Direct Fuel Injection) มาพร้อมหัวฉีด Piezo สามารถคอนโทรลระยะเวลา ความแรง ในการฉีดได้หลายระดับตามโหลดที่เครื่องยนต์ได้รับ
แม้เครื่องยนต์บ็อกเซอร์ 6 สูบ ใน 911 รุ่นอื่น ๆ จะหันไปคบกับเทอร์โบกันหมดแล้ว แต่ขุมพลังใน GT3 ยังคงเป็นเครื่องยนต์ NA (Naturally Aspirated) ไร้ระบบอัดอากาศที่สุดคลาสสิก ให้การตอบสนอง รวมทั้งซุ่มเสียงที่ดุดันเร้าใจกว่าเครื่องยนต์เทอร์โบอยู่ไม่น้อย โดยสูตรในการโมเครื่องยนต์บล็อกนี้ นอกจากการเพิ่มปริมาตรกระบอกสูบอีก 200 ซีซี (เดิมเป็นเครื่องยนต์ 3.8 ลิตร) ก็ได้แก่ ลูกสูบเปลี่ยนมาใช้แบบที่ผลิตจากกรรมวิธี forced เกรดเดียวกับตัวแข่ง ขณะที่ก้านสูบเป็นไทเทเนียม ผลลัพธ์คือแรงม้าระดับ ระดับ 500 hp ที่รอบจัดจ้านถึง 8,250 รอบ/นาที แรงบิดเหลือเฟือ 460 Nm ที่ 5,750 รอบ/นาที สร้างอัตราส่วนแรงม้าต่อลิตรได้สูงถึง 125 hp/litre จัดเป็นเครื่องยนต์หายใจเองที่แรงที่สุดบล็อกหนึ่งในสารบบ เมื่อประกอบกับตัวถังของ GT3 ที่ถูกจับเข้าคอร์สลดน้ำหนักจนเหลือเพียง 1,430 กิโลกรัม จะได้ตัวเลข weight-to-power ratio ออกมาสวยหรูถึง 2.86 kg/hp
GT3 ขับเคลื่อนล้อหลัง ของเล่นใหม่ที่ถูกเพิ่มเติมเข้ามาเป็น Active Rear-axle Steering หรือระบบช่วยเลี้ยวที่ล้อคู่หลัง ช่วยลดรัศมีวงเลี้ยวเมื่อใช้ความเร็วต่ำ ขณะเดียวกัน ก็ช่วยรักษาสภาพตั้งฉากของหน้ายางกับผิวถนน เมื่อรถเข้าโค้งด้วยความเร็วสูง GT3 ติดตั้งเกียร์ PDK หรือเกียร์คลัตช์คู่ 7 สปีด มาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน และรถปี 2017 ยังมีเกียร์แมนวล 6 สปีด มาให้ลูกค้าที่ชื่นชอบการเหยียบคลัตช์-เปลี่ยนเกียร์เลือกจ่ายเพิ่มด้วย สำหรับ GT3 รุ่นเกียร์ PDK เร่งจาก 0-100 กม./ชม. ด้วยเวลา 3.4 วินาที ความเร็วสูงสุด 318 กม./ชม. ส่วนรุ่นที่ใช้เกียร์แมนวลอัตราเร่งผ่านหลัก 100 กม./ชม. ช้ากว่าเล็กน้อย ทำได้ 3.9 วินาที แต่ความเร็วปลายไหลไปได้ถึง 320 กม./ชม.
ภาพและภาพยนตร์ : Porsche AG
เรียบเรียง : Pitak Boon