แต่ง ISUZU สวยแรงตื๊ดดด แต่งยังไงให้ไม่หลุดเทรนด์ แรง สวย ครบเครื่อง

47080 จำนวนผู้เข้าชม  | 

          สวัสดีครับ ผม RetroSky ได้รับหน้าที่เขียนคอลัมน์ใหม่ในเว็บไซต์ Lifestyle 224 เป็นคอลัมน์เกี่ยวกับเรื่องราวรถแต่งแบบหลากหลายสไตล์ Variety ซึ่งจะเป็นการแนะนำเทรนด์และรูปแบบการแต่งรถที่นิยมกันในเมืองไทย รวมถึงนำสไตล์การแต่งของต่างประเทศมาประยุกต์ใช้ และบอกเทคนิครายละเอียดต่าง ๆ ในการแต่งแต่ละสไตล์ว่าต้องใช้ของอะไรบ้าง การแต่งรถไม่มีกฎตายตัว บางอย่างอาจไม่ต้องตามแนวเป๊ะ ๆ อยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้ประยุกต์แล้วดูดีมีสไตล์ไม่หลุดโลก  

          เรามีคำแนะนำดี ๆ มาฝากกันครับ ครั้งนี้จะแนะนำแนว “แต่งกระบะ” ให้สวยงาม รวมถึงการเพิ่มความแรงในรูปแบบที่ยังสามารถขับใช้งานบนท้องถนนได้อย่างไม่ล่อแหลม เทียบเท่า “พี่โป” มากนัก ที่สำคัญเราไม่สนับสนุนในการแต่งรถเพื่อแข่งขันบนท้องถนน ใครเสี้ยนคันเร่งก็ไปโน่นครับ สนามแข่งมีเยอะแยะ ยิ่งตอนนี้มีสนามใหม่ ๆ เปิดเพิ่มในหลายพื้นที่ ทั้งรอบนอกเขตปริมณฑล และต่างจังหวัดที่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มากนัก รายการแข่งขันก็มีทุกเสาร์-อาทิตย์ เพราะฉะนั้นไม่มีข้ออ้างที่จะมาแข่งบนถนนให้คนอื่นเขาเดือดร้อนและอันตรายใครทำยังงั้นมีแต่คนแช่งละกัน

ISUZU D-MAX สุดฮิต มีอะไรดี

          สำหรับกระบะแต่งที่ฮอตฮิตที่สุดในเมืองไทย แน่นอนว่าต้องเป็น All New ISUZU D-MAX เนื่องจากเป็นรถกระบะที่ได้รับความนิยมสูง จากความแรง ทนทาน ประหยัด ซึ่ง ISUZU ก็ดูจะโดดเด่นมากในสายรถดีเซล (เพราะทำเป็นหลักมานาน) ส่วนอะไหล่ก็เรียกว่าท่วมท้น บางอย่างก็ราคาถูกมาก ๆ จนคิดว่านี่ของแท้หรือเปล่า ดังนั้น เมื่อรถได้รับความนิยมสูง บรรดา “กระแสสายซิ่ง” ก็เลยบูมมาก แน่นอนว่า ของแต่งต่าง ๆ จึงมีท่วมท้นสำหรับ ISUZU เรียกว่ามีให้เล่นทุกสเต็ป ตั้งแต่การเพิ่มสมรรถนะวิ่งบนถนน แข่งในสนามก็มีอีกหลายสเต็ป ตั้งแต่รถบ้านใช้งานได้ รวมไปถึงแข่งขันในระดับ “โปรฯ” ที่เป็นรถแข่งเต็มระบบ ลามไปถึงการแข่งระดับ Open ที่รายการใหญ่ปลายปีอย่าง Souped Up Thailand Records ก็จะมีรถในแบบ “สเปซเฟรม” ครอบบอดี้ D-MAX แรง ๆ หลายคัน และปีนี้ก็ลามไปถึงรถหน้ายาวแบบ Dragster ที่ใช้เครื่อง ISUZU อีก แถมสาย “วิบาก” ก็ยังมีชุดแต่งเพิ่มสมรรถนะการลุยให้เลือกมากมาย จนไปถึงระดับ Cross Country โน่นเลย แต่เราขอเน้นไปทางรถวิ่งถนนดำแต่งสวย ๆ แล้วกันครับ เพราะกระแสแรงไม่ตกจริง ๆ...



ขุมพลังได้เปรียบ วาล์วใหญ่หัวใจโต

          สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญ คือ “เครื่องยนต์” ในบล็อก 4J คอมมอนเรล ก็จะมีทั้ง 4JK1-TCX ขนาด 2.5 ลิตร ที่อยู่ใน D-MAX ตัวเตี้ย (ขอพูดภาษาชาวบ้านแล้วกันนะ) ส่วนตัวท๊อป คือ 4JJ1-TCX ขนาด 3.0 ลิตร ที่อยู่ในตัว Hi-Lander ยกสูง หรือ V-CROSS ขับสี่ ซึ่งเครื่องบล็อกนี้มีข้อดีตรงที่ว่า “ฝาสูบดี” เนื่องจากวาล์วมีขนาดใหญ่ และฝาสูบก็ยังมีเนื้อที่ขยายวาล์วได้อีก ซึ่งเป็นการเพิ่มอัตราการไหลของอากาศเข้าห้องเผาไหม้ ถ้าเข้าได้เยอะก็หมายถึงความแรงที่เพิ่มมา ส่วนความทนทานก็เข้าท่าดี เรียกว่าเสกแรงม้าได้ในระดับ 400 PS ในแบบ “เบิร์ด เบิร์ด” ซึ่งเครื่องยี่ห้ออื่นทำแรงได้เหมือนกัน แต่ต้องใช้งบประมาณสูงกว่า ISUZU อยู่บ้างครับ...



ออกสเต็ปการแต่ง ตั้งแต่ขั้นอนุบาลไปยันมหาเทพ

          สาเหตุหนึ่งที่เครื่องยนต์ดีเซลยุคใหม่ที่เป็นระบบ “คอมมอนเรล” มีความแรงเกินหน้าเกินหน้าจากยุคก่อนที่เป็น “ปั๊มสาย” หรือ “ปั๊มไฟฟ้า” เป็นอย่างมาก ในจุดหลัก ๆ ก็คือ “ตัวเครื่องยนต์ออกแบบให้ทันสมัยมากขึ้น” จุดที่ได้แรงม้าและโมดิฟายเพิ่มได้ง่ายก็คือ “การออกแบบฝาสูบ” ที่เป็นแบบ DOHC หรือ แคมชาฟต์คู่ แถมยังมี 16 วาล์ว ที่ยังไงก็สามารถออกแบบห้องเผาไหม้ได้ใหญ่กว่าระบบเก่าที่เป็น แคมชาฟต์เดี่ยว แถมระบบจ่ายเชื้อเพลิง “คอมมอนเรล” ที่อัจฉริยะสุด ๆ พูดง่าย ๆ คือ ตอนนี้เราสามารถสั่งงานและปรับแต่งได้อย่างละเอียด ทำให้รถมีแรงม้าสูง การตอบสนองดี ดีเซลยุคใหม่จึงได้รับความนิยมสูงมาก ๆ เรียกว่า เบนซิน ต้องค้อนกันเลยล่ะ...

          สำหรับการโมดิฟายเพิ่มแรงม้าให้กับเครื่อง ISUZU นั้น มีตั้งแต่สเต็ปเด็ก ๆ อนุบาล จนไปถึงขั้นบรรลุ เรียกว่ามีตังค์เท่าไรก็จัดไปตามความอยาก ภาษาวัยรุ่นเรียกว่า “แรงตามตังค์ พังตามตีน” หรือ “แรงสุด ๆ แม่งก็หยุดที่พัง” อันนี้สัจธรรมชีวิต แต่เราต้องรู้ความต้องการและลิมิทการแต่งของเครื่องยนต์ว่าอยู่ตรงไหน แต่ปกติเครื่องดีเซลก็จะออกแบบมาแข็งแรงเพื่อรองรับงานหนักอยู่แล้วเลยได้เปรียบเรื่องความทนทาน ทนกับบูสต์สูง ๆ ได้ดี แต่จะมีสเต็ปอะไรบ้างนั้นเราจะเล่าแบบ “เข้าใจง่าย” สำหรับทุกคนครับ...

          สเต็ปแรก “เล่นกับกล่อง” โดยยังไม่ได้แตะต้องตัวเครื่องใด ๆ ทั้งสิ้น เนื่องจากรถเดิม ๆ จะโปรแกรมกล่องมาให้ได้ความแรงระดับหนึ่ง แต่ต้องควบคุมทั้งด้านมลพิษ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง รวมถึงความทนทานของเครื่องยนต์ในระยะยาวได้ จึงไม่ได้ปล่อยแรงม้าออกมาเต็มที่นัก สำหรับกล่องสเต็ปแรก ก็คือ “กล่องยก กล่องดัน” มีขายเป็นแพ็คคู่ สำหรับกล่องยก คือ “กล่องเพิ่มระยะยกหัวฉีด” ให้น้ำมันจ่ายได้ปริมาณมากขึ้น ส่วนกล่องดัน คือ “กล่องเพิ่มแรงดันในระบบน้ำมัน” เพื่อให้ป้อนน้ำมันได้ทันกับการยกของหัวฉีด ดีเซลหลัก ๆ มีแค่นี้ ถ้าน้ำมันเข้าเยอะพอ บูสต์หนัก ๆ มันก็จะไม่ร่วง ได้แรงม้าเพิ่ม เพราะถ้าแรงดันเท่าเดิม พอหัวฉีดเปิดนาน จะทำให้ “แรงดันตก” เกิดปัญหาขึ้นได้ ราคาแพ็คคู่ “19,000 บาท” จริง ๆ ตอนแรกจะขายเป็นโปรโมชั่น 3 เดือน 6 เดือน ก็ว่าไป ไป ๆ มา ๆ กล่องมีหลายเจ้า ดั๊มพ์ราคากันต่ำความเฮงเลยอยู่กับลูกค้า เรียกว่าเป็น “ชุดแฮปปี้มีล” เริ่มต้นสำหรับคนต้องการเพิ่มแรงม้า ถ้าเป็นเครื่อง 3,000 ซีซี. จูนกล่องอย่างเดียวมีเพิ่มกันถึง 80-90 แรงม้า โดยไม่ต้องปรับบูสต์ หรือแตะต้องอะไรที่ตัวเครื่องยนต์แม้แต่น้อย…



          หากยังไม่พอใจ ยังจะเสี้ยนแรงม้าเพิ่ม ก็ต้อง “เปลี่ยนเทอร์โบใหม่” สเต็ปแรกก็จะเป็น “โบสามพัน” ขยายความคือ “เทอร์โบเดิมจากเครื่อง ISUZU 3,000 ซีซี.” ก็คือตัว 4JJ1-TCX นั่นเอง ทำไมต้องเปลี่ยนน่ะเหรอ เพราะว่าส่วนมากคนจะซื้อรถ “ตัวเตี้ย” มาทำ ซึ่งมีแต่เครื่อง “สองพันห้า” และเทอร์โบของมันก็มีขนาดใบเล็กกว่าตัว “สามพัน” ประมาณ 3 มม. ถือว่ามีข้อแตกต่างอย่างมาก เอาเทอร์โบสามพันมาใส่เดิม ๆ ก็แรงขึ้นทันตาเห็น ซึ่งเป็นของที่ IHI ผลิตให้ สำหรับราคาโบสามพัน ถ้าของแท้เบิกศูนย์ “ตรีเพชร” ลูกนึงประมาณ “หมื่นหก” !!! แต่ร้านอะไหล่บางที่ก็ไปตัดจากซัพพลายเออร์เจ้าไหนมาก็ไม่รู้ว่ะ ของแท้เหมือนกัน แต่ราคาร่วมมาอยู่ “เก้าพันห้า” โดยประมาณ ถ้าเล่นของ “แผ่นดินใหญ่” ก็จะถูกลงมาเหลือประมาณ “เจ็ดพันกว่าบาท” แต่งานก็สู้ของแท้ไม่ได้ ซึ่งตอนนี้งานแผ่นดินใหญ่ก็พัฒนาขึ้นไปอีก ออกแบบโข่งหน้าให้มีเนื้อหนาไว้ก่อน เอาไว้สำหรับ “คว้านหมกใบใหญ่” ถ้าจะให้สุด ๆ ต้องใช้ยอดใบหน้าขนาด 44 มม. ฐานใบ ความสูงใบ จำนวนใบ และการผลิตใบเป็นแบบ “บิลเล็ท” ที่เป็นการกัดขึ้นรูปจากโลหะทั้งก้อน ได้น้ำหนักเบาและองศาใบสวยกว่าเดิม ทำลมได้ดีกว่า ราคา “ห้าพันห้า” ส่วนไอเสียก็กลึงจุดที่มันเป็นตะปุ่มตะป่ำออก มีการคว้านร่องเพิ่มนิดนึงให้ไอเสียไหลดีขึ้น ถ้าจะหมกกว่านั้นก็ใช้ “ชุดกลาง” ของเทอร์โบ TD-04L มายำใส่เข้าไป ทำบูสต์ได้ในระดับ 50 ปอนด์ ซึ่งก็มีใบหลายแบบตามสูตรของแต่ละที่ ถ้าเครื่อง “สองพันห้า” จะได้แรงม้าแถวๆ 320-330 ตัว ส่วนเครื่อง “สามพัน” จะเป็นสามพันแท้ หรือสองพันห้าอัพเกรด เปลี่ยนข้อเหวี่ยงสามพันใส่ ก็บวกไปอีก “ห้าสิบตัว” โดยเฉลี่ย แต่ถ้าเป็นเครื่องสามพันที่ “มีของ” เช่น แคมชาฟต์โมดิฟาย แรงม้าก็บานไป “สี่ร้อยกว่าตัว” ได้อย่างสิว ๆ...

          สเต็ปสุดท้ายสำหรับรถวิ่งถนน ที่สามารถแข่งได้สนามรุ่นรถบ้าน ก็คือ “สเต็ป F55” มันหมายถึงการเอาเทอร์โบ IHI F55V มาใช้ในการโมดิฟายกับรถดีเซลบ้านเรา ซึ่งเป็นเทอร์โบขนาดกลาง เหมาะสมกับการวิ่งถนน แรงม้าระดับ 400 กว่า ๆ นี่สบายมาก สามารถขับใช้งานในชิวิตประจำวันได้อีก การตอบสนองดีไม่รอรอบแล้วมาเหมือนพายุเหมือนเทอร์โบใหญ่ ๆ ที่แรงจริงแต่ขับยาก ดังนั้น F55V จึงเป็นสเต็ปที่เหมาะสม สำหรับผู้ที่อยากบรรลุ และคิดว่าเทอร์โบสามพันไม่พอกับ “อุ้ง” ขวาของตัวเองเสียแล้ว สำหรับเทอร์โบตัวนี้ ถ้าเป็นขนาดยอดใบหน้า อยู่ประมาณ 48.5 มม. นี่คือเดิม ๆ แต่ตอนนี้อยู่ไม่ได้แล้ว ถ้าเป็น “เทอร์โบจีนโมฯ” ใบหน้าบิลเล็ทที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิม แต่กลึงลดขนาดยอดใบให้เหลือ 48.5 มม. จะอยู่ราว ๆ หมื่นกว่าบาท กว่าแก่กว่าอ่อนก็แล้วแต่สเต็ปความแรงที่ต้องการ และของเกรดต่าง ๆ ที่ราคาไม่เท่ากัน อยู่ที่คนขายตั้งราคาครับ...

อยากแรง หยอดกระปุกหรือยัง??

          มันก็อยู่ที่ความต้องการแรงม้าของเรา และการเลือกใช้ของว่าจะเกรดไหน มันหน้าตาเหมือนกันก็มีแบ่งเกรดเรื่องคุณภาพวัสดุและความทนทานกันอีก แรงม้าจะอยู่ในช่วง 300 กว่า สำหรับรถที่ไม่ได้ยุ่งกับเครื่องยนต์เลย มีแต่รอบนอก เช่น หัวฉีด อินเตอร์ ชุดคลัตช์ ฯลฯ แต่ถ้าจัดเต็มไส้ในเครื่อง เช่น แคมซิ่ง, ลูกโมดิฟาย แรงม้าในระดับ 400 ++ ตัว ทำได้สบาย ๆ โดยมากเครื่องดีเซลก็จะประมาณนี้ครับ ไม่มีอะไรซับซ้อน สำหรับค่าทำ ทั้งหมดรวมช่วงล่าง คลัตช์ เฟืองท้าย ท่ออินเตอร์ ฯลฯ เซ็ตนี้ต้องจ่ายราว ๆ “สามแสนกว่า” ครับ แต่ถ้าเป็นสายโชว์ ก็จะต้องทำท่อและอุปกรณ์จาก “ไทเทเนียม” กันแทบทั้งคัน ถ้าทำเต็ม ๆ ในห้องเครื่องก็ต้องมี “สองแสนกว่า” จัดหนักกันไปเลย... 



ความสวยงาม จัดกันไปตามศรัทธา

          การตกแต่งแรง ก็ย่อมมาด้วยการแต่งสวยควบคู่กันไป สำหรับสไตล์การแต่งกระบะ โดยมากก็จะเป็นรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน เหมือนเป็นแฟชั่นว่าต้องทำแบบนี้ ๆ ไม่งั้นเพื่อนล้อ แต่สิ่งที่จะแตกต่างกัน คือ “แท้หรือเทียม” ถ้าใครกล้าเบิกของแท้ใหม่ ๆ ใส่ นั่นแหละจะกลายเป็น “ซุปตาร์” กระบะไฮโซทันที โดยมากก็จะเป็นล้อ 18 นิ้ว กว้าง 9 และ 10 นิ้ว หน้าหลังตามลำดับ ต้องล้น ๆ กาง ๆ หน่อย ส่วนยางก็แล้วแต่งบประมาณ ยางจีน ยางเกาหลี แต่ถ้าสาย “เหลือ” ก็ต้อง “AD08” ของ YOKOHAMA ใครเบิกใหม่ใส่นับว่าเพื่อนยกย่องว่าสุด ช่วงล่างก็จะมี โช้คอัพซิ่ง ส่วนใหญ่ก็จะใช้ของไทย แต่ถ้าสายเหลือก็ต้องตัวท๊อปของนอกมาแปลงใส่ ชุดเบรกก็เช่นเดียวกัน ต้องใหญ่ ๆ สีสวย ๆ ไว้ก่อน ก็มีสายแบรนด์เนมแท้แต่มีน้อย ส่วนแบรนด์เนมแบบเหมื๊อนนเหมือน งานมิลล่งมิลเลอร์อะไรของมัน อันนี้มีเยอะ หรือไม่ก็สายเบรกเซียงกง นิยมสุดก็เบรก “สามยู” หมายถึงชุดเบรกจาก LEXUS LS430 หรือ TOYOTA CELSIOR ที่ใช้เครื่องยนต์รหัส 3UZ-FE เรียกกันสามยู ๆ นั่นแหละ เป็นเบรกแบบ 4 พอท ขนาดใหญ่ และมีทรวดทรงเรียบ ๆ ดูดี เลยนิยมกันทั่วบ้านทั่วเมือง อื่นๆ ก็มี เช่น ชิ้นส่วนบอดี้แบบคาร์บอน แก้ม ประตู ฝาท้าย ฝากระโปรงหน้า ภายในก็เริ่มจาก พวงมาลัยนิยมแบบก้านยกเท่านั้น ตอนแรกนิยม NARDI หลังๆ ก็มาพวก VERTEX หรือ KEY’S Racing แล้วก็ “สารพัดค้ำ” พวก X Bars ต่างๆ ใครมีตังค์ก็ล่อไทเทเนียมชุดใหญ่ เบาะก็สไตล์ Drag Racing อย่าง KIRKEY เป็นเบาะอะลูมิเนียม นั่งนาน ๆ ทรมานดากชิบไหเพราะ “แข็งสาดดดดด” ก็ว่าไม่ได้เขาทำมาให้แข่ง Drag ไม่กี่วินาที แต่เสือกเอามานั่งขับนาน ๆ ก็สมควรแล้วละครับ...



          จบลงไปแล้วครับ สำหรับการแต่งกระบะ ISUZU D-MAX หรือที่นิยมเรียกติดปากว่า “ออลนิว” หรือ “ออนิว” ตามสำเนียงชาวบ้าน เรียกว่านี่เป็นแนวทางในการแต่งสเต็ปต่าง ๆ ที่นิยมกัน และเป็นสเต็ปรถที่วิ่งบนถนนได้ ใช้งานได้ เราไม่ได้เน้นถึงการแข่งขันจริง ๆ ในระดับโปรฯ เพราะนั่นมันเกินความจำเป็นสำหรับคนทั่วไป ซึ่งถ้าจะไปถึงขั้นนั้นมันต้องทำแข่งโดยเฉพาะ รถก็ไม่สามารถนำมาขับใช้งานได้อีก ซึ่งทางตัวผมและ Lifestyle224 ก็จะนำเสนอการแต่งในสเต็ปที่เป็นรถบ้านโมดิฟายดังกล่าว โดยเจตนาคือ “เน้นแนวทางการเพิ่มสมรรถนะ” ซึ่งบางทีไม่ใช่เฉพาะรถซิ่ง แต่รถดีเซลที่ใช้งานจริง ๆ จะตัวเตี้ย ตัวสูง สายลุย สายบรรทุกหนัก ก็มีการเพิ่มพลังให้เพียงพอในการใช้งาน หรือในการแซง การขึ้นเขาที่ต้องใช้กำลังสูง มันก็มีประโยชน์ด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งจะนำแนวทางไปประยุกต์ใช้ได้ แต่ที่แน่ ๆ เราไม่สนับสนุนการแต่งรถเพื่อแข่งบนท้องถนนหลวงเด็ดขาดครับ !!! ก็พบกันใหม่ในคราวหน้า จะเป็นแนวทางการแต่งรถอะไร ขออุบไว้ก่อน แต่บอกแค่ว่า “ยอดฮิต” เหมือนกัน สวัสดีครับ...
           
หมายเหตุ : ภาพประกอบจากการแข่งขัน ISUZU RACE SPIRIT ในรุ่น F55 PRO ซึ่งเป็นรถแข่งเต็มระบบ ใช้ยางสลิค จึงดูเร้าใจ แต่ไม่สามารถขับขี่บนท้องถนนได้อีก สำหรับรถบ้านจะเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่ต้องทำให้ถูกกฏหมาย และเราไม่สนับสนุนการแต่งรถเพื่อแข่งบนท้องถนนหลวงครับ...

เรื่อง : RetroSky

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้