1138 จำนวนผู้เข้าชม |
สมาคมรถโบราณฯ มุ่งมั่นสนับสนุนการอนุรักษ์ยานยนต์โบราณในประเทศไทย พัฒนาการประกวดรถโบราณให้ได้มาตรฐานเทียบเท่าสากล
ขวัญชัย ปภัสร์พงษ์ นายกสมาคมรถโบราณแห่งประเทศไทย ผู้จัด “งานประกวดรถโบราณ ครั้งที่ 41” ณ ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค ที่เพิ่งเสร็จสิ้นไป เปิดเผยว่า เนื่องจากสมาคมฯ เป็นสมาชิกของ สมาพันธ์ยานยนต์โบราณสากล (FIVA) จึงมีพันธกิจที่จะต้องพัฒนาการประกวดรถโบราณให้มีมาตรฐานเดียวกับการประกวดในระดับโลก
“ดังนั้น ตั้งแต่การจัดงานปีที่ผ่านมา สมาคมฯ จึงแบ่งประเภทการประกวดใหม่เป็น 7 ประเภท ตามกำหนดของ FIVA ได้แก่ ประเภทรถรุ่นบรรพบุรุษ (ก่อน คศ.1905) ประเภทรถรุ่นผ่านศึก (คศ.1905-1918) ประเภทรถโบราณ (คศ.1919-1930) ประเภทรถรุ่นก่อนสงคราม (คศ.1931-1945) ประเภทรถรุ่นหลังสงคราม (คศ.1946-1960) ประเภทรถคลาสสิค (คศ.1961-1970) และประเภทรถคลาสสิคร่วมสมัย (คศ.1971-ปัจจุบัน-30 ปี)”
ประเภทรถโบราณ
ประเภทรถรุ่นก่อนสงคราม
ประเภทรถรุ่นหลังสงคราม
ประเภทรถคลาสสิค
ประเภทรถคลาสสิคร่วมสมัย
ยิ่งกว่านั้น สมาคมฯ ยังได้ปรับปรุงเกณฑ์การให้คะแนนใหม่ โดยเริ่มตั้งแต่การประกวดในปีนี้ ซึ่ง วรกุล บุณยัษฐิติ ประธานคณะกรรมการตัดสิน ชี้แจงว่า “เดิมที เราจะตัดสินโดยพิจารณาเฉพาะสภาพของตัวรถที่ส่งเข้าประกวดเท่านั้น แต่ปีนี้เราได้เพิ่มการพิจารณาในด้านคุณค่าของตัวรถด้วย เช่น แบรนด์ ปีที่ผลิต ความหายาก และสภาพดั้งเดิม เป็นต้น ซึ่งเป็นเกณฑ์การตัดสินในระดับสากล”
ประธานคณะกรรมการตัดสินเปิดเผยถึงรายละเอียดเกณฑ์การให้คะแนนใหม่ว่า แบ่งเป็น 3 หมวด ได้แก่ หมวด ก. เกี่ยวกับชาติกำเนิดของรถ เช่น คุณค่าของแบรนด์ และรุ่น ปีที่ผลิต คุณสมบัติ และลักษณะพิเศษ ฯลฯ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงของรถ มีค่าคะแนน 40 เปอร์เซนต์ หมวด ข. เกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจในตัวรถที่ส่งเข้าประกวดของเจ้าของ มีค่าคะแนน 10 เปอร์เซนต์ และหมวด ค. เกี่ยวกับสภาพรถโดยตรง ทั้งตัวถัง สี เครื่องยนต์ ช่วงล่าง และห้องโดยสาร มีค่าคะแนน 50 เปอร์เซนต์
“ถ้าพิจารณาให้ดี จะเห็นว่า คะแนนที่เกี่ยวกับตัวรถในหมวด ก. ด้านข้อเท็จจริง และหมวด ค. ด้านสภาพรถ มีสัดส่วนคะแนนรวมกันถึง 90 เปอร์เซนต์ ซึ่งเป็นการยืนยันว่า รถที่คณะกรรมการตัดสินให้ได้รับรางวัล เป็นรถที่มีความเหมาะสมทั้งคุณค่าและความงามอย่างแท้จริง”