3136 จำนวนผู้เข้าชม |
จากรถต้นแบบ Le Mans Quattro ในปี 2003 กลายมาเป็น AUDI R8 Mk.I ซูเปอร์คาร์ที่ถูกส่งลงสายพานการผลิตในปี 2007 ใช้โครงสร้างอะลูมิเนียม ASF ทั้งหมด ช่วยลดน้ำหนัก เพิ่มสมรรถนะ และลดการใช้เชื้อเพลิง ยุคนั้นเป็นเรื่องที่น่าทึ่งมาก ที่โครงสร้างทั้งชุดจะมีน้ำหนักเพียง 210 กิโลกรัม ก้าวเข้าสู่ยุคของ R8 Mk.II โครงสร้างอัพเกรดมาใช้นวัตกรรมล่าสุดที่ชื่อว่า Multimaterial Audi Space Frame (ASF) เป็นโครงสร้างที่ผสมผสานอะลูมีเนียมเข้ากับ วัสดุขั้นเทพในวงการรถยนต์อย่าง CFRP (Carbon Fiber-Reinforced Plastics)
วิศวกรใช้ CFRP หรือคาร์บอนไฟเบอร์ เสริมโครงสร้างในส่วนของ Firewall กั้นระหว่างห้องโดยสารกับห้องเครื่องที่กลางตัวถัง ต่อเนื่องไปจนถึงเสา B และในส่วนของอุโมงค์เพลากลาง โครงสร้างลูกผสมของ R8 บอดี้ปัจจุบัน มีน้ำหนักอยู่ที่เพียง 200 กิโลกรัม เบาขึ้น 5% แต่รับแรงบิดได้มากขึ้นถึง 40% ทั้งหมดส่งผลให้ R8 V10 Plus ซึ่งเป็นตัวแรงสุดของ R8 Mk.II มีน้ำหนักตัวอยู่ที่ 1,640 กิโลกรัม ขณะที่ R8 Spyder V10 Plus ซึ่งเป็นโมเดลท็อปของเวอร์ชั่นเปิดหลังคาหนัก 1,695 กิโลกรัม
R8 Spyder V10 Plus ใช้สปอยเลอร์หลังแบบติดตาย โดยสปอยเลอร์ทั้งชิ้น ช่องรับลมขนาดใหญ่ก่อนซุ้มล้อหลัง ลิ้นสปอยเลอร์หน้า เรือนกระจกมองข้าง และชุดดิฟฟิวเซอร์ที่ด้านท้ายรถ จะผลิตจากคาร์บอนไฟเบอร์ทั้งหมด หลังคาประทุนของ R8 Spyder เป็นแบบหลังคาอ่อน โครงหลังคาเน้นความเบาด้วยวัสดุแม็กนีเซียม และอะลูมีเนียม การเปิด-ปิดหลังคาควบคุมด้วย Electrohydraulic ใช้เวลาในทุกขั้นตอนขณะกางหรือเก็บหลังคาเพียง 20 วินาที ทำงานได้ทั้งขณะรถจอด และรถเคลื่อนที่ ที่ความเร็วไม่เกิน 50 กม./ชม. โดยโครงสร้างและระบบหลังคาทั้งชุดมีน้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 44 กิโลกรัม
ห้องโดยสารใช้ดีไซน์ใหม่ยกแผง เป็นการก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตอลแบบเต็มตัวของ AUDI แผงมาตรวัดอัพเกรดจากเข็มแบบอนาล็อก มาใช้มาตรวัดดิจิตอล แดชบอร์ดจึงถูกปรับเปลี่ยนมาเป็นจอแสดงผลแบบ TFT ขนาด 12.3 นิ้ว ความละเอียด 1,440 x 540 พิกเซล รองรับการแสดงภาพกราฟฟิค 3D ด้วยชิพ T30 ซึ่งเป็นแบบ Quad-core ระดับ 1 GHz ที่ AUDI ลงทุนพัฒนาร่วมกับ เจ้าพ่อวงการชิพกราฟิคอย่าง NVIDIA แสดงข้อมูล และมาตรวัดส่วนต่าง ๆ หลากหลายรูปแบบ ตามความต้องการของผู้ขับ รวมทั้งในส่วนของแผนที่อิเล็กทรอนิกส์ ทั้งหมดเป็นจุดเริ่มต้นของคำว่า Audi Virtual Cockpit
เครื่องยนต์ V10 5.2 FSI วางทำมุม 90 องศา เพื่อลดจุดศูนย์ถ่วงของเครื่องยนต์ทั้งบล็อกลง ยังคงเป็นเครื่องยนต์หายใจเองา (NA: Naturally Aspireated) ได้รับการออกแบบให้เป็นเครื่องยนต์รอบจัด R8 Spyder V10 Plus มาพร้อมพละกำลังระดับ 610 hp ที่ 7,800 รอบ/นาที พร้อมแรงบิดสูงสุด 560 Nm ที่ 6,500 รอบ/นาที สำหรับเรื่องความประหยัด วิศวกรพัฒนาระบบ COD (Cylinder on Demand) บรรจุให้กับเครื่องยนต์ V10 บล็อกนี้ ระบบ COD จะตัดการทำงานของลูกสูบ จาก 10 สูบ มาเหลือเพียง 5 สูบ (ตัดการจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง) ในขณะที่ R8 ใช้รอบเครื่องยนต์คงที่ เช่นการเดินทางบนไฮเวย์ และก็พร้อมกลับมาทำงานเต็มทั้ง 10 สูบ ได้ในเสี้ยววินาทีที่ผู้ขับต้องการอัตราเร่ง ส่วนระบบ Start-Stop ก็ยังคงมาคู่กับเครื่องยนต์บล็อกนี้เช่นเดียวกับรถกลุ่มอื่นๆ ทั้งหมดช่วยให้ประหยัดเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นอีกราว 10 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับ R8 โฉมเก่า
R8 Spyder V10 Plus ใช้ระบบเกียร์ S-Tronic 7 สปีด เป็นเกียร์คลัตช์คู่ที่พัฒนาขึ้นมาใช้กับเครื่องยนต์ V10 โดยเฉพาะ ถัดมาเป็นระบบขับเคลื่อน Quattro รับหน้าที่กระจายแรงขับเคลื่อนระหว่างล้อหน้า และล้อหลังให้สัมพันธ์กับรูปแบบการขับขี่ โดยระบบ Quattro จะจัดสรรกำลังไปที่ล้อหน้าได้สูงสุด 100% (100:0) และส่งไปให้ล้อหลังสูงสุดถึง 100% เช่นกัน (0:100) ทั้งหมดเป็นหน้าที่ของชุดคลัทช์แบบหลายแผ่นซ้อน (Multi-plate Clutch) ควบคุมการทำงานด้วยชุด Electrohydraulic ซึ่งตอบสนองได้ฉับไว และกระจายกำลังได้แม่นยำกว่าระบบ Quattro กลไกดั้งเดิมใน R8 Mk.I อยู่ไม่น้อย
ปิดท้ายด้วยเรื่องสมรรถนะ R8 Spyder V10 Plus ทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ด้วยเวลา 3.3 วินาที พร้อมความเร็วปลาย 328 กม./ชม. อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย 8.0 กิโลเมตร/ลิตร และค่า CO2 ในระดับ 292 กรัม/กิโลเมตร เท่านั้น
ภาพและภาพยนตร์ : AUDI AG
เรียบเรียง : Pitak Boon