981 จำนวนผู้เข้าชม |
มหาวิทยาลัยราชภัฎวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จ.ปทุมธานี ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), สมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย และภาคีเครือข่าย สสส. จัดกิจกรรมเดิน-วิ่ง"วไลยอลงกรณ์ รัน 2017" เทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 พร้อมชิงถ้วยเกียรติยศองคมนตรี พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ และถ้วยเกียรติยศผู้ว่าราชการจังหวัด ปทุมธานี นายสุรชัย ขันอาสา ภายใต้แนวคิด Run For Harmony เชื่อมสัมพันธ์ศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน ประชาชนทั่วไป และชุมชน โดยมีสถาบันการศึกษาเป็นแกนกลาง อันจะเป็นต้นแบบให้กับมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่งทั่วประเทศในการสร้างความสามัคคีภายในสถาบันและก่อให้เกิดการ “รับน้องใหม่อย่างสร้างสรรค์ ด้วยการออกกำลังกาย”
นายสุรชัย ขันอาสา ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี พร้อมด้วย รศ.ดร.สมบัติ คชสิทธิ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. ร่วมเปิดการแข่งขันอย่างเป็นทางการ โดยมีนักวิ่งซึ่งมีทั้งศิษย์เก่า-ศิษย์ปัจจุบันของมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยลงกรณ์ฯ ตลอดจนนักวิ่งทั่วไปจากจังหวัดต่าง ๆ เข้าร่วมแข่งขันรวมกว่า 4,000 คน โดยระหว่างเส้นทางการวิ่งได้มีการนำ "ตุ่มสามโคก" เครื่องปั้นดินเผาที่มีศิลปะสวยงามที่สืบทอดภูมิปัญญาชาวมอญมาตั้งแต่สมัยโบราณมาตั้งไว้บริเวณจุดให้น้ำเพื่อบรรจุน้ำให้เหล่านักวิ่งได้ดื่มด่ำซึมซับบรรยากาศ รวมถึงพระสงฆ์ที่มาคอยประพรมน้ำมนต์เพื่อเป็นสิริมงคลกับนักวิ่งเมื่อวิ่งผ่านหน้าวัด
ผลปรากฎว่าผู้ที่เข้าเส้นชัยเป็นคนแรกในประเภทโอเวอร์ออลระยะ 10 กม. พร้อมคว้าถ้วยเกียรติจากองคมนตรี พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ ไปครอง ฝ่ายชาย ได้แก่ ร.ต.ท ปฎิการ เพรศรีชา อดีตนักกรีฑาทีมชาติไทย เข้าเส้นชัยเป็นคนแรก ด้วยเวลา 34.04 นาที และฝ่ายหญิง ได้แก่ ศยามล ผูกมิตร เข้าเส้นชัยเป็นคนแรก ด้วยเวลา 46.36 นาที
ร.ต.ท ปฎิการ เพรศรีชา
ศยามล ผูกมิตร
ภายหลังการแข่งขัน รศ.ดร.สมบัติ คชสิทธิ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า "กิจกรรมเดินวิ่งวไลยอลงกรณ์ รัน 2017 ถือว่าประสบความสำเร็จด้วยดี มีนักวิ่งให้ความสนใจจำนวนมากแม้ จะเป็นปีแรกที่จัดการแข่งขัน นับเป็นการสนองนโยบายการเสริมสร้างสุขภาพของทางรัฐบาลที่รณรงค์ให้ประชาชนได้ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างแท้จริง รวมถึงขานรับนโยบายของ สสส. ในการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ และสร้างกระแสให้คนไทยทุกช่วงวัยให้หันมาใส่ใจสุขภาพ และให้เห็นผลดีของการออกกำลังกายที่สามารถช่วยลดภาวะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่สำคัญยังเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ของประชาชนในจังหวัดโดยมีมหาวิทยาลัยราชภัฎวไลยอลงกรณ์เป็นศูนย์กลาง อันจะเป็นมาตรฐานต้นแบบให้กับมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่งทั่วประเทศในการสร้างความสามัคคีภายในสถาบันและเล็งเห็นถึงความสำคัญของการสร้างเสริมสุขภาพผ่านการจัดกิจกรรมเดิน-วิ่ง อีกทั้งผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ยังได้รับความประทับใจและซึมซับเสน่ห์อันเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดปทุมธานี ไม่ว่าจะเป็นการได้ชิมมอาหารพื้นถิ่นชาติพันธุ์มอญ อาทิ เปิงตาว กวาญย์ฮะกอ ข้าวแช่ปทุม เมี่ยงกลีบบัว ชาเกสรบัว ข้าวห่อใบบัว น้ำสมุนไพรรากบัว ฯลฯ พร้อมชมการแสดงพื้นบ้าน และซื้อของฝากของที่ระลึกจากร้านค้าชุมชนในท้องถิ่นด้วยเช่นกัน เชื่อว่ากิจกรรมที่มีประโยชน์มากมายที่เกิดขึ้นในปีนี้จะเป็นจุดเริ่มในการต่อยอดจัดการแข่งขันเป็นประจำอย่างยั่งยืนต่อเนื่องไปทุกปี"
นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมการงาน เดิน-วิ่ง "วไลยอลงกรณ์ รัน 2017" ได้พาเพื่อนและครอบครัวไปเที่ยวชมสถานที่สำคัญและทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีอยู่มากมายภายใน จ.ปทุมธานี อาทิ เข้าสักการะรูปปั้น "หลวงพ่อโต" สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) องค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย, วัดหงษ์ปทุมาวาส วัดมอญโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าตากสินมหาราช, วัดเจดีย์ทอง วัดมอญสมัยอยุธยาที่มีอายุมากกว่า 160 ปี, วัดเจดีย์หอย ชมเจดีย์ที่สร้างขึ้นจากเปลือกหอยนางรม, ตลาดริมน้ำวัดศาลเจ้า, ท้องฟ้าจำลอง, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติธรณีวิทยา เฉลิมพระเกียรติ, พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติ ปทุมธานี ฯลฯ