อาจารย์คณะวิทย์ฯ ม.รังสิต เผยเรียน ป.ตรี ฝึกงานที่ญี่ปุ่น ค่าใช้จ่ายถูกเหลือเชื่อ

1975 จำนวนผู้เข้าชม  | 

          การฝึกงานก่อนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี มักเป็นวิชาบังคับที่นักศึกษาระดับปริญญาตรีสายวิทยาศาสตร์ ต้องหาที่ฝึกงาน และเข้าไปใช้ชีวิตในหน่วยงานนั้นประมาณ 2-3 เดือน เพื่อให้ได้ประสบการณ์จริง โดยส่วนใหญ่ของนักศึกษาจะฝึกงานในเมืองไทย แต่ปัจจุบันยุคญี่ปุ่นเปิดประเทศ การเรียนในเมืองไทยแต่ฝึกงานในมหาวิทยาลัยญี่ปุ่นจึงสามารถทำได้ไม่ยาก โดยไม่จำกัดเฉพาะเด็กเก่ง ๆ ที่มั่นใจการใช้ภาษาอังกฤษ แถมค่าใช้จ่ายถูกเหลือเชื่อ



          รองศาสตราจารย์ ดร.กานดา ว่องไวลิขิต อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า คณะวิทยาศาสตร์ ได้ส่งนักศึกษาชั้นปีที่ 3 จำนวน 6 คน ไปฝึกงานที่มหาวิทยาลัย Kanagawa เมือง Kanagawa ที่อยู่ทางตอนใต้ของกรุงโตเกียว ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความทันสมัย เครื่องมือทางการวิจัยครบครัน นักศึกษากลุ่มนี้ จะแยกกันเข้าไปทำงานวิจัยในห้องแล็บแต่ละสาขาที่นักศึกษาเลือก ภายใต้การดูแลของศาสตราจารย์ญี่ปุ่น ประจำห้องแล็บนั้น ๆ ซึ่งผ่านการติดต่อเป็นทางการระหว่างอาจารย์ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และมหาวิทยาลัยญี่ปุ่น

          “การติดต่อเข้าไปทางมหาวิทยาลัยญี่ปุ่นนั้น เป็นกระบวนการตามขั้นตอนและได้รับความร่วมมือดีมาก เพราะมหาวิทยาลัยญี่ปุ่นต้องการความเป็นนานาชาติ นักศึกษาไทยจะถูกสอนวิธีการปฏิบัติการโดยรุ่นพี่ญี่ปุ่น ที่เรียนระดับปริญญาโท หรือปริญญาเอก การฝึกหัดการพูดภาษาอังกฤษระหว่างเด็กไทยและเด็กญี่ปุ่น ระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้องต่างชาติ ที่พยายามใช้ภาษาอังกฤษสื่อสาร ทั้ง ๆ ที่ไม่ถนัดทั้งสองฝ่าย ได้ทั้งความสนุก เพื่อน และที่สำคัญคือ ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ที่เราต้องยอมรับว่าที่ญี่ปุ่นเหนือล้ำกว่าเรามาก ดังนั้น นักศึกษาไทยที่ไม่เก่งภาษาจะกล้าแสดงออก กล้าฝึก กล้าพูดมากขึ้น นับเป็นบรรยากาศที่อาจารย์รู้สึกปลื้มใจที่นักศึกษาได้พัฒนาตัวเองได้อย่างดีเยี่ยม ทั้งนี้ การเดินทางร่วมโครงการนี้มีค่าใช้จ่ายที่จำเป็นคือ ค่าเครื่องบิน และค่าที่พัก รวมประมาณ 20,000 บาท ต่อ 2 เดือน ที่สำคัญคือทางญี่ปุ่นเขาไม่คิดค่าใช้จ่ายในการทำแล็บ โดยใช้สารเคมีของทางญี่ปุ่น ซึ่งถือว่าคุ้มกับการได้ประสบการณ์ที่ประเมินค่าไม่ได้ค่ะ”  รศ.ดร.กานดา กล่าวเสริม



          นายภัทชระ จินขุนทอง นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ผมได้อะไรจากที่นี่มากเลยครับ ทั้งภาษา เพื่อน ประสบการณ์ได้รู้จักสถานที่ใหม่ ๆ ได้รู้จักวัฒนธรรม และได้เห็นการเป็นอยู่ของชาวเมืองในแต่ละวัน ได้ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ ได้เห็นในสิ่งที่ไม่เห็นมันเลยเป็นแรงกระตุ้นในการค้นหาและอยากจะรู้ว่าบ้านเมืองของเขาและของเราแตกต่างกันอย่างไร ส่วนการฝึกงานของผมสนุกมากครับ แล็บของผมจะเกี่ยวกับสัตว์ทะเลส่วนใหญ่ ผมเลยได้ออกไปจับสัตว์ทะเลเพื่อมาวิจัยพฤติกรรมของมันครับ บรรยากาศการทำงานสมบูรณ์แบบ ทำกิจกรรมและได้ฝึกการมีวินัยเหมือนเป็นนักศึกษาที่โน่นครั



          ด้าน นางสาวรฐา สุวรรณคีรี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาเคมีประยุกต์ กล่าวว่า เป็นประสบการณ์การใช้ชีวิตต่างประเทศที่ดีที่สุดในชีวิตเลยค่ะ ได้ทำแล็บ ใช้เครื่องมือคุณภาพ ระบบการทำงานดีมาก ๆ แถมยังได้ผลงานใหม่ที่สามารถเอาไปตีพิมพ์ได้ด้วย คุ้มค่ามากค่ะกับประสบการณ์ครั้งนี้ โดยส่วนตัวรู้สึกประทับใจที่มหาวิทยาลัยมีโครงการดี ๆ แบบนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้เราได้ไปเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ ๆ เปิดโลกกว้างขึ้น บางคนอาจจะมีแนวคิดที่อยากจะไปทำงานต่างประเทศ ทำให้เจอช่องทางในอนาคต เป็นแรงบันดาลใจอีกอย่างหนึ่ง



          นางสาวจิรพา เกตทองมา นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาเคมีประยุกต์ กล่าวว่า ไม่คิดว่าจะมีโอกาสแบบนี้ เพราะไม่เก่งภาษาอังกฤษ ตอนแรกที่ไปรู้สึกกลัว ๆ ไม่กล้าใช้ภาษาอังกฤษ แต่พอปรับตัวได้ก็หายกลัว ทุกคนที่นั่นเป็นกันเองมาก คอยช่วยเวลาเกิดปัญหา รู้สึกมีความสุขที่ได้ฝึกงานที่โน่นค่ะ

          นายปัณณพัฒน์ วิสิฐวราเสฐ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 กล่าวว่า เป็นประสบการณ์ชีวิตที่น่าประทับใจมาก อาจารย์และเพื่อน ๆ ทุกคนยินดีต้อนรับเราหมด และสิ่งที่น่าประทับใจคือเขามีงานเลี้ยงต้อนรับซึ่งทำให้เราได้เพื่อนเพิ่มขึ้น ในการทำงานของผมถ้าไม่เข้าใจหรือทำอะไรไม่ได้ ผมก็จะเริ่มจากการไปขอความช่วยเหลือจากเพื่อน ๆ ในแล็บซึ่งทุกคนยินดีช่วยมากครับ

          นางสาวชนัญญา มะลิดา นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์ กล่าวว่า เป็นประสบการณ์ใหม่ที่ประทับใจมาก ได้ฝึกทำงานอย่างจริงจัง การไปฝึกงานครั้งนี้มันเหมือนเราได้เปิดโลกอีกด้านเเละได้เรียนรู้มันจนทำให้เรากลายเป็นส่วนหนึ่งของมันไปแล้ว

          นางสาวปิยกุล ปิ่นแก้ว นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์ กล่าวว่า ได้รับประสบการณ์ใหม่ ๆ ในการทำแล็บ มีอิสระในเรียนรู้เครื่องมือภายในห้องแล็บ รวมทั้งการนำเสนอแบบนักศึกษาญี่ปุ่น ได้แลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นและประสบการณ์กับเพื่อน ๆ ได้เรียนรู้ภาษาญี่ปุ่น วัฒนธรรมญี่ปุ่นและการได้ร่วมกิจกรรม เทศกาล tanabata กับทางมหาวิทยาลัย Kanagawa ด้วยค่ะ


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้