ตะลึง…คนไทย 1 ใน 11 คนป่วยเป็นเบาหวาน “แพทย์” ชี้ควรปรับไลฟ์สไตล์ ป้องกันเจ็บป่วยฉุกเฉิน

742 จำนวนผู้เข้าชม  | 

          ในวันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันเบาหวานโลก จากข้อมูลของสมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ รายงานว่าในปี พ.ศ. 2558 ผู้ป่วยโรคเบาหวานทั่วโลกมีจำนวน 415 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นเป็น 642 ล้านคนในปี พ.ศ. 2583 มีผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวานจำนวน 5.3 ล้านคน นอกจากนี้ยังพบว่า ประชากรวัยผู้ใหญ่ 1 ใน 11 คน ป่วยเป็นโรคเบาหวาน โดยในแต่ละวันจะมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวาน 200 คน หรือ 8 รายต่อชั่วโมง และมีเพียง 10% ของผู้ป่วยเบาหวานที่มีชีวิตอยู่โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ

          สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทยภายใต้โครงการป้องกันและส่งเสริมคนไทยไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉิน สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดเวที ระดมทีมแพทย์ บุคลากร ผู้เชี่ยวชาญด้านงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน จากทั่วประเทศกว่า 100 คน จัดอบรมภายใต้แนวคิด “มีสุขภาพดี…คุมได้ แก้ไขได้ทัน…สรรค์ความช่วยเหลือ” โดยมีหัวข้อที่น่าสนใจ ได้แก่ คำถามที่พบบ่อยจากผู้ป่วยโรคเบาหวาน และแนวทางปฏิบัติทำให้ไม่เกิดการเจ็บป่วยฉุกเฉินจากโรคเบาหวาน โดย รศ.พญ.ทิพาพร ธาระวานิช คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ พญ.ฐิตินันท์ อนุสรณ์วงศ์ชัย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่อไร้ท่อและโรคเบาหวาน โรงพยาบาลเลิดสิน


 

          โรคเบาหวาน เป็นภาวะเรื้อรังของการมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งเกิดจากความบกพร่องของการสร้างหรือการทำงานของอินซูลิน โรคเบาหวานมักจะเกี่ยวพันกับโรคแทรกซ้อนที่ร้ายแรงหลายโรคและอาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร ในทางการแพทย์สามารถแบ่งชนิดของโรคเบาหวานออก เป็น2 ชนิด ได้แก่

          เบาหวานชนิดที่ 1 พบประมาณ 5-10% ของโรคเบาหวานทุกประเภท ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ ภูมิคุ้มกันบกพร่อง พันธุกรรม และสภาพแวดล้อมของผู้ป่วย

          เบาหวานชนิดที่ 2 พบเป็นจำนวน 90-95% ของจำนวนโรคเบาหวานทุกชนิด ปัจจัยเสี่ยงของเบาหวานประเภทนี้ได้แก่ อายุที่มากขึ้น ความอ้วน บุคคลในครอบครัวมีประวัติเป็นเบาหวาน ประวัติการเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ความต้านทานต่อกลูโคสต่ำ ร่างกายไม่เคลื่อนไหว เชื้อชาติ ความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ มีประวัติเคยเป็นโรคเกี่ยวกับหลอดเลือด

 

 

          รศ.พญ.ทิพาพร ธาระวานิช กล่าวว่า “สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินจนถึงขั้นเข้าโรงพยาบาลนั้น มักเกิดจากภาวะแทรกซ้อนของโรงเบาหวาน ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิดใหญ่ ๆ คือ 1.แทรกซ้อนแบบเฉียบพลัน คือ มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ-สูง อย่างรุนแรง โดยผู้มีน้ำตาลในเลือดต่ำจะมีน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 70 เมื่องดอาหารแล้วตรวจเลือด โดยจะมีอาการใจสั่น หน้ามืด จะเป็นลม อาจหมดสติ ซึม หรือชัก สำหรับภาวะน้ำตาลในเลือดสูงนั้นจะมีน้ำตาลในเลือดสูงกว่า 126 เมื่องดอาหารแล้วตรวจเลือด ผู้ป่วยบางรายอาจซึม หรือในบางราย ร่างกายไม่สามารถสลายน้ำตาลให้เป็นพลังงานได้ จึงต้องเอาไขมันมาสลายเป็นพลังงาน สุดท้ายจึงเกิดภาวะเลือดเป็นกรด โดยผู้ป่วยเบาหวานที่พบในห้องฉุกเฉินจะอยู่ในภาวะน้ำตาลต่ำรุนแรง 2.แทรกซ้อนแบบเรื้อรัง จะเป็นลักษณะของ โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต แขน-ขาไม่มีแรง โรคหัวใจ หรือ โรคจากการติดเชื้อ เช่น ติดเชื้อในกระแสเลือด หรือผู้ป่วยเบาหวานที่ขาเป็นแผล จนต้องตัดขา เป็นต้น

          หากมีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรง หอบ เหนื่อย หน้าและปากเบี้ยว พูดไม่ได้ แขน ขาอ่อนแรง ซึ่งเป็นอาการของโรคอัมพฤกษ์-อัมพาต หรือมีไข้สูง มีแผลที่เท้าติดเชื้อบวมแดงขอให้รีบมาโรงพยาบาลโดยทันที สำหรับแนวทางป้องกัน ผู้ป่วยต้องรู้จักอาการแต่ละชนิดก่อนว่าเกิดจากสาเหตุใด และต้องพึงระลึกเสมอว่า เบาหวานไม่ใช่โรคที่เกี่ยวกับน้ำตาลเพียงอย่างเดียวแต่เกี่ยวกับหลอดเลือด เพราะฉะนั้น ต้องรักษาความดัน ไขมัน พบแพทย์ให้สม่ำเสมอ ออกกำลังกาย งดสูบบุหรี่ และลดน้ำหนัก”

 

 

          ด้าน พญ.ฐิตินันทร์ อนุสรณ์วงศ์ชัย กล่าวว่า “ปัจจัยที่ควบคุมโอกาสการเกิดโรคเบาหวานได้คือ การลดน้ำหนัก การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ งดสูบบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น ส่วนปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้คือ เชื้อชาติ กรรมพันธุ์ อายุที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น นอกจากนี้โรคแทรกซ้อนอื่น ๆ อาทิ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เป็นโรคหัวใจ หรือมีถุงน้ำในรังไข่ก็เป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโลกเบาหวานได้เช่นกัน

 

 

          จากหลาย ๆ ผลการศึกษาจากต่างประเทศพบว่า การแก้ไขวิถีการดำเนินชีวิต โดยการออกกำลังกายแอโรบิค สัปดาห์ละ 150 นาทีเป็นอย่างน้อย ลดอาหารหวานและอาหารที่ให้พลังงานเยอะ ทานอาหารตรงเวลา ลดปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมได้เอง สามารถชะลอการเกิดโรคเบาหวานในอนาคตได้ถึง 28%  โดยไม่ต้องอาศัยยาให้เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ซึ่งถือว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุด” 

          เบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่คนส่วนใหญ่คิดว่าไม่เป็นอันตราย หากแต่ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมน้ำตาลให้อยู่ในระดับปกติได้ จะส่งผลให้ผู้ป่วยเจ็บป่วยฉุกเฉินด้วยโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ หรือทำให้ผุ้ป่วยเสียชีวิตได้เช่นกัน

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้