869 จำนวนผู้เข้าชม |
“เครื่องมือเครื่องจักรของเราหลายชิ้น ตั้งแต่ชิ้นเล็ก ๆ อย่างใบมีดของรถตัดอ้อย ไปจนถึงหม้อไอน้ำแรงดันสูง 105 บาร์ กำลังผลิต 250 ตันต่อชั่วโมง เราสามารถพัฒนาขึ้นได้ด้วยคนของเราเอง ซึ่งนอกจากจะช่วยประหยัดต้นทุน ไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศแล้ว หากเครื่องมือเครื่องจักรเหล่านี้มีปัญหา เราก็สามารถซ่อมแซมหรือสร้างขึ้นมาใหม่ได้เอง ไม่ต้องรอช่างหรืออุปกรณ์จากต่างประเทศที่อาจต้องใช้เวลานาน และทำให้งานหยุดชะงัก” นายประพันธ์ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS เล่าให้ฟังถึงแนวทางการสร้างสรรค์นวัตกรรม ที่ยักษ์ใหญ่ในวงการอุตสาหกรรมน้ำตาล เอทานอล โรงงานผลิตเยื่อกระดาษฟอกขาวจากชานอ้อย โรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงงานปุ๋ยชีวภาพ อย่างกลุ่ม KTIS ยึดถือปฏิบัติตลอดมา
คุณประพันธ์ บอกว่า กลุ่ม KTIS ได้ส่งเสริม สนับสนุน ให้พนักงานพัฒนา คิดค้นนวัตกรรมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานับสิบปีแล้ว และได้จัดงาน “KTIS Group Innovation and Kaizen Challenge 2017” ขึ้นเป็นปีที่ 8 มีจำนวนผลงานนวัตกรรมที่ส่งเข้าชิงรางวัลถึง 29 ผลงาน ผ่านการคัดเลือก 26 ผลงาน และได้เข้ารอบสุดท้ายเพื่อนำเสนอผลงานต่อหน้าคณะกรรมการจำนวน 16 ผลงาน ส่วนผลงาน ไคเซ็น ที่ส่งเข้าประกวด 149 ผลงาน ผ่านการคัดเลือก 65 ผลงาน และได้รับรางวัล 20 ผลงาน
หลังการนำเสนอผลงาน พนักงานในกลุ่ม KTIS ต่างก็ร่วมลุ้นว่าผลงานใดจะเข้าตากรรมการและคว้ารางวัลในปีนี้ไป ซึ่งผลปรากฏว่าผลงานนวัตกรรมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภท “นวัตกรรมด้านเครื่องจักร กระบวนการ และผลิตภัณฑ์” ได้แก่ ผลงานชื่อ "Auto Pass" โดยทีมงานแผนกลูกหีบของบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นการคิดค้นวิธีการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการหีบอ้อย ใช้จำนวนคนน้อยลง หีบได้เร็วขึ้น อีกทั้งยังลดความเสียหายต่อเครื่องจักร ซึ่งผลจากการสร้างสรรค์นวัตกรรมนี้ ช่วยให้สามารถลดชั่วโมงเสียเวลาการผลิตได้กว่า 20% สร้างรายได้เพิ่มหลายสิบล้านบาท
รางวัลชนะเลิศประเภท “นวัตกรรมด้านระบบบริหารจัดการ” ได้แก่ ผลงานชื่อ "ล้างเพิ่มเติมทรัพย์" โดยทีมงานบริษัท เอ็นไวรอนเม็นท์พัลพ์ แอนด์ เปเปอร์ จำกัด หรือ EPPCO ผู้ผลิตและจำหน่ายเยื่อกระดาษฟอกขาวจากชานอ้อยแห่งเดียวในประเทศไทย ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในกลุ่ม KTIS ที่ได้สร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อลดการสูญเสียในกระบวนการผลิตโซดาไฟ ซึ่งสามารถลดการสูญเสียคิดเป็นจำนวนเงินปีละ 15.2 ล้านบาท โดยที่ใช้เงินลงทุนในการผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับโครงการนี้เพียง 650,000 บาท
นอกจากนี้ ยังมีผลงานนวัตกรรมของกลุ่ม KTIS ในปีที่ผ่านมาได้รับการจดทะเบียนอนุสิทธิบัตร 2 ผลงาน ได้แก่ “การเปลี่ยนหมอนเชรดเดอร์” ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการหีบสกัดน้ำอ้อย และ “Mech Fuse” อุปกรณ์ที่ช่วยลดความเสียหายของรถตัดอ้อย
หมอนเชรดเดอร์
Mech Fuse
จากผลงานนวัตกรรมและไคเซ็นทั้งหมดล้วนเกิดจากความมุ่งมั่นตั้งใจของพนักงานกลุ่ม KTIS ในทุกระดับที่ต้องการให้การทำงานในทุกๆ ส่วนงานมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น มีความปลอดภัยมากขึ้น มีความสุขในการทำงานมากขึ้น ในขณะที่ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดต่ำลง
เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของผู้ประกอบการที่ไม่หยุดนิ่งในการวิจัยและพัฒนา อีกทั้งยังมีโครงการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของพนักงานอย่างเป็นรูปธรรม ช่วยลดการพึ่งพาเทคโนโลยีและบุคลากรต่างชาติ เพื่อการยืนหยัดบนขาของตัวเองได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน