628 จำนวนผู้เข้าชม |
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย นำกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ ผู้ปกครอง กว่า 100 คน จัดกิจกรรมสร้างการเรียนรู้ผ่านการชมภาพยนต์ เรื่อง “ของขวัญ” ผลงานการสร้างสรรค์ของ 4 ผู้กำกับแถวหน้า “ปรัชญา ปิ่นแก้ว, นนทรีย์ นิมิบุตร, ก้องเกียรติ โขมศิริ, ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล” ที่ร่วมใจถ่ายทอด 4 ภาพยนตร์สั้นอันได้รับแรงบันดาลใจจาก “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9” และมีเนื้อหาที่สร้างการเรียนรู้ให้เยาวชนโดยเฉพาะในเรื่องทักษะชีวิต อบายมุข และความหมายของชีวิต
เภสัชกรสงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวถึงที่มาของการจัดกิจกรรมครั้งนี้ว่า เยาวชนเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่ต้องสร้างภูมิคุ้มกันเท่าทันปัจจัยเสี่ยงรอบตัว ทั้งอบายมุข การพนัน เหล้า บุหรี่ ยาเสพติด ซึ่งสอดรับกับกิจกรรมสร้างการเรียนรู้ผ่านการชมภาพยนต์เรื่องของขวัญ ที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชน ผู้ปกครอง ให้ตระหนักถึงคุณค่าของการใช้ชีวิต รวมถึงแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากเยาวชนที่ผ่านพ้นเรื่องราววิกฤตในชีวิตมาปรับเพื่อป้องกันตนเองให้รอดพ้นจากปัญหา และที่สำคัญเรื่องราวของภาพยนต์ นั้นก่อให้เกิดแนวคิดในการใช้ชีวิตคิดบวกเปลี่ยนด้านลบเป็นพลังดีสู่การมีชีวิตอย่างมีคุณค่า
“ขณะเดียวกัน เนื่องในวันที่ 5 ธ.ค. ซึ่งเป็นวันพ่อของคนไทยทั้งชาติ ที่จะได้ร่วมกันรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช บรมนาถบพิตร ภาพยนต์เรื่องของขวัญ ถือเป็นผลงานเทิดพระเกียรติ ที่มีเนื้อหาสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนไทย ได้รับรู้ถึงพระกรณียกิจต่าง ๆ ของรัชกาลที่ 9 ที่เป็นเหมือนแนวทางส่องสว่างในหัวใจ ที่พระองค์ท่านได้มอบไว้ให้กับพวกเราและรุ่นลูกหลาน เป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดแรงบันดาลใจ ในการทำความดีและส่งต่อความดีให้กัน งานนี้ต้องขอบคุณ เครือเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) โรงภาพยนตร์เอสพลานาด ซีนีเพล็กซ์ รัชดาภิเษก ที่เอื้อเฟื้อให้เยาวชนได้เข้าชมภาพยนตร์และได้สนับสนุนการจัดกิจกรรมในครั้งนี้” เภสัชกรสงกรานต์ กล่าว
นายสุขวิชัย อิทธิสุคนธิ์ หรือ “น้องม้อบ” กล่าวถึงจุดเปลี่ยนในชีวิตของตนเองจากวังวนอบายมุขว่า ได้หันมาทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์เพื่อสังคม และซึมซับกับสิ่งที่ได้เรียนรู้ โดยเมื่อก่อนอยู่ในกลุ่มแกะดำ หรือกลุ่มเพื่อนที่เป็นกลุ่มนักเสี่ยง มีปัญหาทั้งยาเสพติด ปัญหาทางบ้าน จนก้าวข้ามสิ่งเหล่านี้มาได้ พาตัวเองออกมาจากวังวนของปัญหา มารวมตัวกับเพื่อนทำกิจกรรมดีๆสร้างสรรค์ เข้ากลุ่มคณะสิงห์โตเด็ก ซึ่งทุกคนชื่นชอบ และมีผู้ใหญ่ให้การสนับสนุน
“สิ่งสำคัญที่สุดคือ ตัวเราเอง ถ้าเราไม่หนักแน่นในสิ่งที่เจอ จะทำให้เราหลุด และไปสู่สิ่งที่เป็นอันตราย ผมคิดว่าทุกคนต้องมีภูมิคุ้มกันของตัวเอง และรู้ว่าเราต้องเลือกทำอะไร ผมมาจากครอบครัวที่อยู่ในวังวนปัญหายาเสพติด ทั้งในวงจรการขายและเสพยา หลายคนบอกว่า ครอบครัวอาจเป็นสิ่งกำหนดให้เราโตมาแบบไหน แต่สำหรับผม ผมคิดต่างกัน ผมคิดว่า ครอบครัวไม่สามารถบังคับ หรือ กำหนดเราได้ แต่มันอยู่ที่เราเลือกที่จะปฎิบัติ เลือกที่จะให้ตัวเองมีชีวิตรอดและอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณภาพด้วยตัวเราเอง ทั้งนี้ขอให้เชื่อมั่นในตัวเอง เพราะทุกคนรู้ว่า อะไรดีหรือไม่ดี ชีวิตไม่ได้สวยหรูอย่างที่คิด และทุกสิ่งที่ได้มาก็เป็นแค่ชั่วขณะ มันก็หมดไป ถ้ากลับตัวไม่ได้อาจพบจุดจบได้” นายสุขวิชัย กล่าว
นายณัฎฐ์วัฒน์ วรรณสอน หรือ “น้องนิว” อดีตเยาวชนที่อยู่ในวงการพนันจนต้องโทษคดี กล่าวว่า สิ่งที่จูงใจทำให้เข้าไปข้องแวะกับการพนันฟุตบอลคือ สภาพแวดล้อม ชุมชน เพื่อน และรุ่นพี่ เพราะเห็นและอยากลองตามประสาวัยรุ่น โดยเริ่มไต่ระดับจากการวางเดิมพันมูลค่าหลักร้อยจนแตะหลักแสนจนสุดท้ายนำมาสู่การใช้ความรุนแรง จากผลของพนันบอลในการทวงเงินค่าพนันและคู่อริเสียชีวิต จนทำให้ถูกจับดำเนินคดี สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ได้รับบทเรียน และขณะนี้ก็ไม่ขอเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องนั้นอีกต่อไป วันนี้ตนเองได้กลับมาเรียนหนังสือใช้ชีวิตตามปกติแล้ว
ขณะนายบุญชัย กัลยาศิริ ผู้กำกับอิสระ สะท้อนมุมมองเรื่องสื่อที่กำลังกลายเป็นปัญหาสำคัญในสังคมไทยว่า ในฐานะคนทำสื่อ ผลิตสื่อเองก็ต้องยอมรับว่า ยังเคยผิดพลาด ไม่เท่าทัน เพราะข้อมูลทุกวันนี้ไหลบ่าทุกช่องทาง หากตั้งรับไม่ทันทุกคนก็มีสิทธิ์ที่จะตกอยู่ในอันตรายได้เหมือนกันหมด ไม่เฉพาะแต่เด็กเยาวชน หรือแม้กระทั่งผู้ใหญ่เองด้วยซ้ำที่กลายเป็นเหยื่อมากกว่า จะเห็นจากคลิปต่าง ๆ ที่ถูกแชร์กันมา โดยไม่ตรวจสอบไตร่ตรองข้อมูลว่าจริงเท็จแค่ไหน ดังนั้นการรู้เท่าทันสื่อเป็นสิ่งสำคัญ ขนาดเราเป็นคนผลิตสื่อ รู้หลักการทำ บางทียังไม่รู้เหมือนกันว่าอันไหนปลอม หรือจริง แต่เพราะเราลงมือทำ เช่น ทำหนังสั้น เราดูคลิป วีดีโอ เรารู้ว่าจริงหรือไม่จริง แต่เด็กเยาวชน มันค่อนข้างแยกยาก ต้องมีสติ ต้องดูเจตนาคนส่ง โฆษณา หรือของจริง คนไทยแชร์ไม่คิดแต่ก่อนคือ จม.ลูกโซ่ ตอนนี้คือแชร์คลิป คือไม่เช็คข้อมูลข้อเท็จจริง แล้วส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่ไม่ใช่เด็กที่เป็นมือแชร์คลิป
“ผู้รับสารต้องมีสติ และดูเจตนาคนส่งสาร ต้องดูเนื้อหาน้ำหนัก อย่าเอามาเป็นเรื่องสำคัญในชีวิต ต้องศึกษาหาข้อมูล ให้เวลาช่วย อย่าฟันธงปักใจเชื่อเลยทีเดียว แต่ต้องเผื่อใจหาความจริง แน่นอนว่ากับเด็กเยาวชนค่อนข้างยาก ถ้าไม่มีภูมิคุ้มกันมันอันตราย เพราะข้อมูลมันท่วมล้นไหลมาทุกช่องทาง ผู้ปกครองจึงไม่ควรปล่อย แต่ต้องดูแล รวมทั้งรัฐเอง ก็ต้องมีการจัดเรท เว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม หรือคลิปเนื้อหาที่อันตราย ก็ควรต้องมีการแบน ยุคนี้ข้อมูลไหลควบคุมยาก สติจะช่วยควบคุมการใช้สื่อ ต้องมองว่าความจริง คือสิ่งที่เกิดขึ้นต่อหน้าเรา สัมผัสได้ ไม่ใช่ผ่านสื่อ กล้อง เพราะมันล้วนผ่านการปรุงแต่ง ฉะนั้นเมื่อแต่ละวันทุกคนต้องเจอกับข้อมูลที่ไหลเข้ามาทุกทิศทาง การมีสติแยกแยะจึงสำคัญที่สุด” ผู้กำกับหนัง กล่าว