5985 จำนวนผู้เข้าชม |
อุตสาหกรรมยานยนต์โลก กำลังปรับตัวสู่โหมดไร้มลพิษ (Zero Emission Vehicles) เป็นการปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป เริ่มต้นตั้งแต่การลดขนาดเครื่องยนต์ (Engine Downsizing) ต่อเนื่องไปจนถึงการนำมอเตอร์ไฟฟ้ามาช่วยเครื่องยนต์ทำงานในรถไฮบริด, การพัฒนารถเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) และสุดท้ายคือรถไฟฟ้า (Electric Vehicles) ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าซึ่งเป็นพลังงานสะอาด โดยไม่ต้องพึ่งพาพลังงานรูปแบบอื่น ๆ ให้ยุ่งยาก
ปลายทางของการพัฒนายานยนต์ไร้มลพิษ ก็คือ EV หรือรถไฟฟ้า ผู้ผลิตรถยนต์มากประสบการณ์หลายค่ายจากเยอรมนี พัฒนารถเซลล์เชื้อเพลิงควบคู่ไปกับรถไฟฟ้า เหตุผลหลักคือ เมื่อแบตเต็มรถไฟฟ้ายังวิ่งได้ไม่ไกลพอ และการชาร์จแบตต่อรอบจะใช้เวลานาน (ขึ้นอยู่กับกระแสไฟ) ขณะที่รถเซลล์เชื้อเพลิง ซึ่งเป็นรถพลังงานสะอาดไม่แตกต่างกัน จะใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตพลังงานไฟฟ้า เพื่อมาขับเคลื่อนรถ โดยรถเซลล์เชื้อเพลิงแต่ละโมเดลออกแบบให้ติดตั้งถังไฮโดรเจนอย่างน้อย 2 ถัง การเติมไฮโดรเจนจนเต็มถัง ใช้เวลาเร็วกว่าการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงในยุคปัจจุบันอยู่พอสมควร
ทว่าผู้มาใหม่ในอุตสาหกรรมยานยนต์อย่าง Tesla ก้าวกระโดดไปเริ่มที่รถไฟฟ้าทันที ด้วยแนวคิด “รถเป็นเทคโนโลยี เกิดขึ้นจากขั้นตอน R&D ความเก๋าเป็นเพียงเหตุผลเล็ก ๆ เท่านั้น ที่ทำให้ได้รถดีหรือรถที่ไม่ดี” และ Tesla ได้พิสูจน์ทฤษฎีดังกล่าว ให้ชาวโลกได้ประจักษ์ ด้วยการผลิตรถไฟฟ้าหลากหลายรุ่น ที่สามารถใช้งานได้อย่างสะดวกสบาย มีระยะในการใช้งานต่อการชาร์จแบต 1 รอบ อยู่ที่ 300-500 กิโลเมตร ซึ่งเกินพอสำหรับการใช้งานในชีวิตประจำวัน กระทั่งล่าสุด เปิดตัวรถสปอร์ตในชื่อรุ่น Roadster มาพร้อมตัวเลขอัตราเร่งที่ทำให้ไฮเปอร์คาร์ต้องสะดุ้ง 0-96 กม./ชม. เร็วเพียง 1.9 วินาที ความเร็วสูงสุดกว่า 400 กม./ชม. แบตเต็มวิ่งใช้งานได้ไกลสุดถึง 1,000 กิโลเมตร
เมื่อรถไฟฟ้าจาก Tesla สมบูรณ์แบบ จนสามารถทดแทนรถยนต์ที่เราใช้งานอยู่ในยุคปัจจุบันได้ครบถ้วนเกือบทุกเซกเมนต์ (รวมทั้งรถบรรทุกไฟฟ้าในชื่อรุ่น Semi ที่เปิดตัวมาวันเดียวกับ Roadster) จึงมีคำถามตามมาว่า ผู้ผลิตค่ายใหญ่จากฝั่งเยอรมนีมาผิดทางหรือไม่!?! ที่มุ่งพัฒนารถเซลล์เชื้อเพลิงควบคู่ไปกับรถไฟฟ้า
คำตอบ อยู่ที่รูปแบบการใช้งานของแต่ละบุคคล และแต่ละภูมิภาค ยกตัวอย่างเช่น Mercedes-Benz GLC F-CELL ซึ่งเป็นรถเซลล์เชื้อเพลิงรุ่นว่าสุดของค่าย ถูกออกแบบให้เป็นรถลูกผสมระหว่าง Full Cell กับ Battery Technology รองรับทั้งเชื้อเพลิงไฮโดรเจน และการเสียบปลั๊กชาร์จไฟเช่นเดียวกับรถไฟฟ้า โดยการชาร์จไฟผ่าน wallbox หรือสถานีจ่ายไฟสาธารณะ ใช้เวลาชาร์จแบตเต็มราว 1 ชั่วโมงครึ่ง รถสามารถวิ่งแบบไม่ต้องพึ่งพาพลังงานจาก Fuel Cell ได้ไกล 49 กิโลเมตร ถังไฮโดรเจนความจุรวม 4.4 กิโลกรัมโฮโดรเจน ใช้เวลาในการเติมจนเต็มเพียง 3 นาที เท่านั้น ความเร็วในการเติมเชื้อเพลิงจึงกลายเป็นจุดแข็งที่จะไปสู้กับรถไฟฟ้าที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่เพียงอย่างเดียว และเมื่อใช้พลังงานจากทั้ง 2 ระบบร่วมกัน GLC F-CELL จะมีพิสัยในการเดินทางได้ราว 427 กิโลเมตร
นอกจาก GLC F-CELL สเป็คจากรถเซลล์เชื้อเพลิงรุ่นอื่น ๆ จาก Audi, BMW, Mercedes-Benz และ VW ในอนาคต ก็ถูกพัฒนามาในทิศทางเดียวกัน ปัจจุบันสถานีเติมก๊าซไฮโดรเจนก็ได้รับการขยายให้ครอบคลุมทั่วทั้งทวีปยุโรป โดยเหตุผลหลักที่เชื้อไฮโดรเจนได้ไปต่อ เพราะ เป็นเชื้อเพลิงที่สามารถผลิตได้จากทุกสิ่งทุกอย่างรอบ ๆ ตัวเรา ได้แก่ พลังงานชีวมวล, ก๊าซธรรมชาติ, การแยกออกมาจากน้ำบริสุทธิ์, พลังงานลม, พลังงานแสงอาทิตย์ ฯลฯ ไฮโดรเจนจึงเป็นเชื้อเพลิงสะอาด มีมากมายมหาศาล และไม่มีวันหมด
ดังนั้นทั้ง EV และ Fuel Cell ล้วนมีอนาคตทั้งคู่ เมื่อพิจารณาจากเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยจุดเปลี่ยนจะเกิดขึ้นทันที หากโลกสามารถพัฒนาแบตเตอรี่รูปแบบใหม่ ที่สามารถให้พลังงานกับรถ EV ได้ยาวนานยิ่งขึ้น ไม่ช้าก็เร็ว วันนั้นต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
ภาพ : Audi AG, Daimler AG, Honda USA, Tesla, Inc.
เรียบเรียง : Pitak Boon