697 จำนวนผู้เข้าชม |
หลายคนคงคุ้นเคยกับถั่วเหลือง เพราะมีคนหลายสิบล้านคนบริโภคถั่วเหลืองอยู่ทุกวัน แต่สิ่งที่อาจทำให้คุณประหลาดใจ คือ แท้จริงแล้ว พวกเรานั่งอยู่บนเบาะรถยนต์ที่ผลิตจากถั่วเหลืองรีไซเคิลมาโดยตลอด
ปีนี้นับเป็นปีที่ 10 ตั้งแต่ที่ฟอร์ดเริ่มใช้โฟมที่ผลิตจากถั่วเหลืองเป็นครั้งแรกในรถฟอร์ด มัสแตง รุ่นปี 2008 และตั้งแต่ปีพ.ศ. 2554 เป็นต้นมา โฟมจากถั่วเหลืองก็ได้กลายมาเป็นวัสดุหลักที่ใช้ในการผลิตเบาะรองนั่ง เบาะรองหลัง และเบาะรองคอ ในรถฟอร์ดทุกคันที่ผลิตในอเมริกาเหนือ
ปัจจุบัน จากรถมากกว่า 18.5 ล้านคัน และถั่วเหลืองร่วม 5 แสนล้านเมล็ดที่ใช้ในการผลิต เราได้ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศไปมากกว่า 228 ล้านปอนด์ ซึ่งถือเป็นจำนวนเท่ากับก๊าซที่ต้นไม้จำนวน 4 ล้านต้น จะช่วยดูดซึมออกจากชั้นบรรยากาศต่อปี ตามข้อมูลจากมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา
เราได้รับแรงบันดาลใจในการใช้โฟมจากถั่วเหลืองเป็นวัสดุทางเลือกที่มีพืชเป็นองค์ประกอบหลัก เพื่อทดแทนผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากปิโตรเลียมทั่วไปในปีพ.ศ. 2550 ซึ่งถือเป็นประโยชน์ในแง่ของความยั่งยืน โดยไม่ทำให้คุณภาพหรือความทนทานของรถยนต์ลดลงแต่อย่างใด
เฮนรี่ ฟอร์ด ผู้ก่อตั้งบริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี เป็นผู้ริเริ่มแนวคิดในการนำวัสดุชีวภาพมาใช้ตั้งแต่ในช่วงปีพ.ศ. 2483 ซึ่งการนำแนวคิดนี้มาสู่ตลาดเป็นครั้งแรก นับเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างแท้จริง เพราะโฟมที่ผลิตขึ้นมาในช่วงแรกนั้นมีสภาพแย่มาก และไม่ได้มาตรฐานของที่นั่งในรถยนต์เลยแม้แต่น้อย โฟมที่ได้จากการทดลองครั้งแรก ๆ ก็ไม่ทนทานพอที่จะนำมาใช้เป็นเบาะที่นั่งตามมาตรฐานที่ว่าตัวเบาะต้องคงสภาพเดิมเป็นระยะเวลา 15 ปีขึ้นไป ซึ่งยังไม่รวมถึงการแยกชั้นของถั่วเหลืองและปิโตรเลียม และโฟมจากถั่วเหลืองก็มีกลิ่นไม่ดีเท่าไหร่นัก ฟอร์ดจึงต้องพยายามค้นคว้าหาวิธีปรับปรุงสูตร ปรับแก้ส่วนผสมทางเคมี และกำจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์ออกไป
เมื่อสิบปีที่แล้ว โลกของเราแตกต่างจากยุคปัจจุบันมาก ยังไม่ค่อยมีใครเห็นว่าการรักษาสิ่งแวดล้อมจะทำกำไรให้บริษัทได้ ดังนั้น การโน้มน้าวใจผู้ผลิตให้เห็นว่าโฟมจากถั่วเหลืองเป็นวัสดุแห่งอนาคตก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน
ในช่วงแรก เราได้รับทุนสนับสนุนเพื่อทำการทดลองระยะเริ่มต้นจากคณะกรรมการถั่วเหลืองของสหรัฐอเมริกา และยังได้ บิล ฟอร์ด ซีอีโอของฟอร์ดในช่วงนั้น มาแบ่งปันวิสัยทัศน์และให้การสนับสนุนอันสำคัญยิ่งด้วยการเป็นผู้นำที่ทำให้เรามั่นใจว่าโครงการนี้จะดำเนินไปตามวัตถุประสงค์ตามที่เราตั้งใจไว้
ในปีพ.ศ. 2551 เมื่อราคาน้ำมันพุ่งสูง คนจึงเล็งเห็นคุณค่าของโฟมจากถั่วเหลืองมากขึ้น และตระหนักว่าการใช้ผลิตภัณฑ์ทดแทนโพลีออลไม่เพียงแต่ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังดีต่อธุรกิจอีกด้วย และเพราะฟอร์ดเตรียมตัวล่วงหน้ามาแล้ว เราจึงมีความพร้อมอยู่เสมอ
เรามีความตื่นเต้นที่จะแบ่งปันศักยภาพ และส่งเสริมการใช้โฟมจากถั่วเหลืองอย่างยั่งยืนในทุกที่ที่เป็นไปได้ เราจึงร่วมมือกับวงการอุตสาหกรรมอื่น ๆ อย่างไม่หยุดยั้ง ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรรม เฟอร์นิเจอร์ และข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้าน เพื่อช่วยปรับสูตรผลิตโฟมจากถั่วเหลืองให้เหมาะสมกับความต้องการที่แตกต่างกัน
จากความสำเร็จในการผลิตโฟมจากถั่วเหลือง เราจึงเริ่มผลิตชิ้นส่วนรถยนต์จากวัสดุทดแทน ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ วัสดุทดแทนบางประเภทยังทำให้ชิ้นส่วนรถนั้น ๆ มีน้ำหนักเบาลง ช่วยให้รถหลาย ๆ รุ่นของเราประหยัดน้ำมันได้มากยิ่งขึ้น
ปัจจุบันนี้ ฟอร์ดนำเสนอวัสดุทางเลือก 8 ชนิด ได้แก่ ถั่วเหลือง ข้าวสาลี ข้าว ละหุ่ง ปอแก้ว เส้นใยพืช ปอกระเจา และมะพร้าว ในการผลิตรถยนต์ของฟอร์ด และยังคงทำการทดลองพืชชนิดอื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็น ฟางข้าวสาลี เปลือกมะเขือเทศ ไม้ไผ่ เส้นใยอากาเว่ ดอกแดนดิไลอ้อน หรือแม้กระทั่งสาหร่าย
ในขณะเดียวกัน ฟอร์ดยังคงเสาะหานวัตกรรมเพื่อนำถ่านหินมาใช้ประโยชน์ และฟอร์ดคือบริษัทแรกในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อผลิตโฟมและพลาสติก
ทศวรรษต่อมา เรายังคงทำงานร่วมกับคณะกรรมการถั่วเหลืองของสหรัฐฯ เพื่อพัฒนาวัสดุที่มีถั่วเหลืองเป็นองค์ประกอบหลักมาใช้ในการผลิตชิ้นส่วนที่เป็นยาง เช่น ปะเก็น ขอบยาง และใบปัดน้ำฝน โดยฟอร์ดมุ่งเน้นในเรื่องของการสร้างความยั่งยืนในการเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมด้านการจัดการความมั่นคงด้านทรัพยากรน้ำ การพัฒนาต่อยอดจากความสำเร็จเดิม เพื่อใช้ประโยชน์จากของเสียที่เกิดขึ้นจากการผลิตให้ได้ทั้งหมด และการลงทุนในโครงการนำรถเก่ามาแลกรถใหม่เพื่อลดมลภาวะในอากาศ
การนำถั่วเหลืองมาใช้ นับเป็นก้าวแรกของการใช้งานวัสดุที่มีความยั่งยืน ฟอร์ดมีความตั้งใจที่จะคงความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมด้านการใช้วัสดุที่มีความยั่งยืน ซึ่งเราต้องใช้วัตถุดิบธรรมชาติจำนวนมหาศาลเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมไปถึงการใช้ประโยชน์จากพืชและซากพืชที่มีอยู่ในพื้นที่ที่เราประกอบชิ้นส่วนรถยนต์ หรือสิ่งอื่น ๆ ที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ และร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน