ผู้แทน WHO ชื่นชมศูนย์การแพทย์เทศบาลบึงยี่โถ เน้นชุมชนเป็นศูนย์กลาง ปชช.มีส่วนร่วมดูแลสุขภาพ

803 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2561 ณ ศูนย์การแพทย์และฟื้นฟูบึงยี่โถ เทศบาลเมืองบึงยี่โถ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี นพ.แดเนียล เอ. เคอร์เทสช์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย (Dr.Daniel A. Kertesz, WHO Representative to Thailand) พร้อมด้วย ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดูงานศูนย์การแพทย์และฟื้นฟูบึงยี่โถ เทศบาลเมืองบึงยี่โถ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี โดยมีนายรังสรรค์ นันทกาวงศ์ นายกเทศมนตรีเมืองบึงยี่โถ ต้อนรับและนำเยี่ยมชมความสำเร็จในการดูแลประชาชนด้านสาธารณสุข ของเทศบาลเมืองบึงยี่โถ

นายรังสรรค์ นันทกาวงศ์ นายกเทศมนตรีเมืองบึงยี่โถ กล่าวว่า สถานีอนามัย ต.บึงยี่โถ ได้มีการถ่ายโอนมายังเทศบาลเมืองบึงยี่โถตั้งแต่ปี 2550 ก่อนที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะมีการปรับเปลี่ยนเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ซึ่งภายหลังการถ่ายโอน เทศบาลเมืองบึงยี่โถได้มีการพัฒนาสถานีอนามัยอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันได้ยกระดับเป็น “ศูนย์การแพทย์และฟื้นฟู บึงยี่โถ” แล้ว โดยมีการขยายก่อสร้างเพิ่มเติม 3 อาคาร มีแพทย์ ทันตแพทย์ นักกายภาพบำบัด และแพทย์แผนไทย ไว้คอยดูแลรักษาผู้ป่วย

นายรังสรรค์ กล่าวต่อว่า หลังการโอนย้ายในช่วง 10 ปี ได้เห็นการพัฒนาของสถานีอนามัยบึงยี่โถอย่างมาก เนื่องจากเทศบาลบึงยี่โถสามารถสนับสนุนงบประมาณได้อย่างเต็มที่ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดเทศบาล ซึ่งนอกจากได้ยกระดับสถานีอนามัยเป็นศูนย์การแพทย์ฯ แล้ว ยังเพิ่มบริการสาขาต่างๆ เพื่อรองรับดูแลผู้ป่วยให้ครอบคลุม ส่งผลให้ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลอำเภอ

นายรังสรรค์ กล่าวว่า การโอนย้ายสถานีอนามัย ทำให้ง่ายต่อท้องถิ่นในการพัฒนาสถานีอนามัยเพื่อดูแลสุขภาพของประชาชน เพราะนอกจากบริหารจัดการได้ง่ายกว่าแล้ว ยังมีความรู้สึกร่วมเป็นเจ้าของที่เป็นแรงจูงใจสำคัญในการสนับสนุนและพัฒนาสถานีอนามัย

นายกเทศมนตรีเมืองบึงยี่โถ กล่าวว่า ที่นี่สามารถดำเนินการจนประสบความสำเร็จในการสร้างจิตอาสาเข้ามาดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ ซึ่งมีมากถึง 3,678 คน จนทำให้ผู้ป่วยที่มีปัญหาติดบ้านติดเตียงสามารถกลับมาเดินได้ และช่วยเหลือตัวเองได้ถึง 8 ราย นอกจากนี้ยังได้สร้างศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพให้กับผู้สูงวัยพร้อมส่งเสริมให้ผู้สูงวัยได้รู้จักแต่เทคโนโลยี โดยการเข้าเรียนคอมพิวเตอร์ เพื่อสืบค้นในการหาข้อมูลด้านการรักษา

ด้าน นพ.แดเนียล เอ. เคอร์เทสช์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า การมาดูงานในวันนี้เพื่อสร้างความตระหนักรู้ด้านสุขภาพ เนื่องในวันอนามัยโลก 7 เมษายนที่จะถึงนี้ ซึ่งในปีนี้ได้มีการกำหนดหัวข้อ “Universal Health Coverage: Everyone, Everywhere” หรือหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อทุกคน ทุกหนทุกแห่ง เพื่อตระหนักสิทธิด้านสุขภาพ เพราะสุขภาพดีถ้วนหน้า เป็นวิสัยทัศน์ที่ช่วยสนับสนุนขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยในปีนี้เป็นปีครบรอบ 70 ปี ซึ่งมีการนำเสนอความสำเร็จของระบบหลักประกันสุขภาพในประเทศไทย ที่คนไทยเข้าถึงอย่างเท่าเทียม และไม่ล้มละลายจากการเจ็บป่วย

ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวต่อว่า การได้ศึกษาระบบดูแลผู้สูงอายุที่ศูนย์การแพทย์และฟื้นฟูบึงยี่โถสร้างแรงใจให้กับตนมาก เนื่องจากเป็นหัวข้อที่สอดคล้องกับหัวข้อของวันอนามัยโลก 7 เมษายน (World Health Day) ซึ่งในปีนี้ได้มีการกำหนดหัวข้อ “Universal Health Coverage: Everyone, Everywhere” หรือหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อทุกคน ทุกหนทุกแห่ง ซึ่งสิทธิสุขภาพดีถ้วนหน้า เปรียบเสมือนสิทธิมนุษยชนข้อหนึ่ง เนื่องจากที่ศูนย์การแพทย์บึงยี่โถแห่งนี้ประชาชนทุกคนได้เข้าถึงการรักษาที่ดีที่สุดเมื่อต้องการโดยไม่มีข้อจำกัดคำว่ายากจน ศูนย์การแพทย์บึงยี่โถได้แสดงให้เห็นว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นจริงได้ เพราะที่นี่มีทั้งการรักษา การป้องกันและการดูแลเพื่อไม่ให้เกิดโรค

“ผมทำงานในองค์การอนามัยโลกมากกว่า 20 ปีได้เดินทางไปยังประเทศต่างๆ หลายประเทศทั่วโลกมีความจริงใจที่จะพูดว่า ศูนย์การแพทย์บึงยี่โถแห่งนี้ คือตัวอย่างของศูนย์กลางของการรักษาสุขภาพ เป็นเรื่องที่เติมเต็มความต้องการเติมเต็มความฝัน ที่ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ของทุกคนให้เป็นจริง นั่นหมายถึงประเทศไทยได้ทำให้โลกได้เห็นและตระหนักว่า หลักประกันสุขภาพเพื่อทุกคนทุกหนทุกแห่งนั้นเป็นจริงได้ไม่ใช่ความฝัน และเรื่องนี้ควรจะเป็นเรื่องปกติซึ่งมนุษย์ทุกคนในโลกต้องการคือสิทธิที่จะเข้าถึงการรักษาที่เป็นสิทธิมนุษยชน อย่างหนึ่ง ซึ่งองค์การอนามัยโลกจะนำบทเรียนที่นี่ไปรณรงค์สานต่อให้ประเทศสมาชิกได เข้าใจและปฏิบัติตาม”

นพ.แดเนียล เอ. เคอร์เทสช์ กล่าวว่า ตัวอย่างการทำงานด้านสาธารณสุขของเทศบาลเมืองบึงยี่โถที่รับถายโอนสถานีอนามัยมาจากกระทรวงสาธารณสุขนั้นน่าสนใจมากในรูปแบบการกระจายอำนาจเช่นนี้ ทั้งยังมีการทำงานเป็นเลิศ เน้นให้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพของตน มีบริการทั้งการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค การรักษาพยาบาลและการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ ทั้งยังให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นความท้าทายใหม่ของสังคมไทยและทั่วโลกที่กำลังเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้