รู้ให้ลึก เรื่อง ถุงลมนิรภัย (Airbags)

16197 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ภาพและภาพยนตร์ : PORSCHE AG, DAIMLER AG และ VOLVO CAR

เรียบเรียง : Pitak Boon

 

 

 

ปัจจุบันถุงลมนิรภัย หรือ Airbags จัดเป็นอุปกรณ์มาตรฐานในรถยนต์ทุกรุ่น เริ่มต้นกันที่ 1 ลูก บริเวณพวงมาลัยสำหรับคนขับ ไล่เรียงไปจนถึงระดับ 6-11 ลูก รอบห้องโดยสารสำหรับผู้โดยสารทุกตำแหน่ง วัตถุประสงค์หลักในการใช้ถุงลมนิรภัยก็เพื่อป้องกันผู้โดยสารปะทะ หรือกระแทกเข้ากับของแข็งภายในห้องโดยสาร รวมถึงเศษกระจกต่างๆ ที่จะแตกกระจายออกมาขณะรถเกิดอุบัติเหตุ



ข้อควรระวังของถุงลมนิรภัย จะมีมากกว่าอุปกรณ์ความปลอดภัยในส่วนอื่นๆ เพราะ ขณะถุงลมนิรภัยทำงานจะมีการระเบิดของแก๊ส (ไนโตรเจน) เข้ามาเกี่ยวข้อง ความรุนแรงขณะพองตัวของถุงลมจึงสูงเป็นพิเศษ ตำแหน่งที่ถุงลมจะปะทะกับผู้โดยสารจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะถ้าเกิดการปะทะกับอวัยวะร่างกายในส่วนที่ไม่เหมาะสม ถุงลมนิรภัยก็จะก่อให้เกิดอันตรายขึ้นกับผู้โดยสารได้เช่นกัน และ ตำแหน่งที่บังคับให้ผู้โดยสารปะทะกับถุงลมนิรภัย คือ ตำแหน่งที่ผู้โดยสารคาดเข็มขัดนิรภัยอยู่เท่านั้น

 

นอกจากถุงลมนิรภัยที่ถูกซ่อนไว้ภายในพวงมาลัยแล้ว ยังมีถุงลมนิรภัยสำหรับผู้โดยสารตอนหน้า, ถุงลมนิรภัยด้านข้าง (Side Airbags), ม่านนิรภัย (Curtain Airbags) และล่าสุด กับถุงลมนิรภัยในส่วนของหัวเข่า (Knee Airbags) เมื่อเกิดอุบัติเหตุถุงลมนิรภัยจะไม่ทำงานทุกลูก เพราะการพองตัวของถุงลมนิรภัยแต่ละลูก จะหมายถึงค่าใช้จ่ายที่เจ้าของรถ (หรือบริษัทประกันภัย) ต้องรับภาระไปเต็มๆ ขณะนำรถเข้าซ่อม

 

การทำงานของถุงลมนิรภัยจะอยู่ในความควบคุมของสมองกล ที่รับสัญญาณมาจากเซ็นเซอร์หลายๆ จุด อาทิ เซ็นเซอร์บริเวณเบาะนั่งที่เป็นตัวตรวจสอบว่า ในเบาะนั่งแต่ละตำแหน่งมีผู้โดยสารอยู่หรือไม่, เซ็นเซอร์ตำแหน่งที่รถเกิดการชน ฯลฯ จากนั้นสมองกลจะประมวลผล แล้วสั่งการให้ถุงลมนิรภัยในตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งทำงาน เช่น กรณีรถเกิดการชนจากด้านข้าง ถุงลมนิรภัยคู่หน้าจะไม่ทำงาน (หากการยุบตัวของโครงสร้างด้านหน้ารถ เข้ามาไม่ถึงเซ็นเซอร์ที่ติดตั้งไว้ด้านหลังกันชนหน้า) แต่ถุงลมนิรภัยด้านข้าง และม่านนิรภัย เฉพาะฝั่งที่เกิดการปะทะจะทำงาน เพื่อลดการกระแทก รวมทั้งอันตรายจากคมของเศษกระจกจากบานประตู

 

ปัจจุบัน ถุงลมนิรภัยคู่หน้าได้รับการพัฒนาให้ทำงานได้แบบ 2 สเต็ป ตามระดับความรุนแรงในการชน เช่น ถุงลมจะจุดระเบิดออกมาก่อน 30% เพื่อลดความรุนแรงในการปะทะ ระหว่างถุงลมกับใบหน้าและหน้าอกของผู้โดยสาร ก่อนที่จะเพิ่มการพองตัวมาจนเต็ม 100% ภายในเสี้ยววินาที เพื่อป้องกันผู้โดยสารไปกระแทกเข้ากับของแข็งอื่นๆ รอบห้องโดยสาร

 

สำหรับเรื่อง ความเชื่อมโยงของถุงลมนิรภัยกับเข็มขัดนิรภัย ในรถรุ่นเก่าๆ คุณจะคาดหรือไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ถุงลมนิรภัยก็ทำงาน ส่วนรถรุ่นใหม่ๆ หากไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ถุงลมนิรภัยจะไม่ทำงาน เพราะ ในสถานการณ์ที่ถุงลมระเบิดออกมา แล้วผู้โดยสารไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่ยึดติดอยู่กับเบาะนั่ง ความรุนแรงและความเร็วในการพองตัวของถุงลมนิรภัยอาจก่ออันตรายได้ถึงขั้นเสียชีวิต


แล้วเราจะรู้ได้ไง ว่าถุงลมนิรภัยในรถเรา มันเป็นแบบไหน...ในคู่มือประจำรถมีคำแนะนำไว้หมดครับ

 
ภาพและภาพยนตร์ : PORSCHE AG, DAIMLER AG และ VOLVO CAR

เรียบเรียง : Pitak Boon

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้