1068 จำนวนผู้เข้าชม |
จากย่านพาณิชยกรรมอันเป็นศูนย์กลางการค้าแห่งใหญ่ที่เคยมีความเจริญทางเศรษฐกิจของจังหวัดพิจิตรในอดีต เพราะอยู่ห่างจากตัวเมืองแค่เพียง 6 กม. และตั้งอยู่ในจุดตัดทางการคมนาคมทั้งทางบกที่มีรถไฟเข้าถึง และทางน้ำติดกับแม่น้ำน่านที่เป็นเส้นทางคมนาคมหลักในสมัยก่อน แต่ด้วยความเปลี่ยนแปลงทางการคมนาคมและระบบซื้อขายแบบสมัยใหม่ ทำให้เศรษฐกิจซบเซาไปตามกาลเวลา แต่ด้วยเสน่ห์ทางสถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของบ้านเรือนไม้เก่าแก่ลักษณะเหมือนห้องแถว 2 ชั้นที่ทอดตัวยาวไปตลอดทั้งซอย และวิถีชีวิตที่ยังคงความสงบเรียบง่ายของผู้คน ปัจจุบัน “ชุมชนตลาดเก่าวังกรด” จึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงชุมชนที่โดดเด่นด้วยมนต์เสน่ห์ทางวัฒนธรรมและความเรียบง่าย ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่อยู่ในขณะนี้ เพื่อให้ทุกคนได้ทำความรู้จักกับย่านเก่าแก่แห่งนี้ได้ดียิ่งขึ้น จังหวัดพิจิตร นำโดย วีระศักดิ์วิจิตรแสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร จึงจัดทริปพาสื่อมวลชนนั่งรถไฟเที่ยววังกรด พาลัดเลาะท่องชุมชนโบราณ พร้อมเล่าความหลังที่เต็มไปด้วยเรื่องราวชวนฟังมากมายตลอดการเดินทางครั้งนี้
พื้นที่บริเวณชุมชนวังกรดเดิมมีชื่อว่า “ชุมชนบ้านท่าอีเต่า” ขึ้นกับตำบลในเมืองหรือตำบลท่าหลวงในปัจจุบัน ก่อนจะกลายมาเป็น “ชุมชนวังกลม” ตามชื่อของห้วงน้ำที่หมุนเป็นวงกลมใกล้บริเวณวัดวงกลม เมื่อมีการสร้างสถานีรถไฟวังกลม ในปีพ.ศ.2540 แต่ชื่อสถานีกลับเป็นชื่อเดียวกันกับสถานีรถไฟในภาคอีสาน จึงมีการเปลี่ยนชื่อเป็นสถานีรถไฟวังกรด และเปลี่ยนชื่อชุมชนตามชื่อสถานีรถไฟเป็นชุมชนวังกรดนับแต่นั้นเป็นต้นมา
ก่อนตลาดชุมชนวังกรดจะเกิดขึ้นนั้น สันนิษฐานว่าบ้านเรือนของชาวบ้านในชุมชนอาจเป็นแบบกระจายตัวอยู่บนพื้นที่คล้ายกับหมู่บ้านชาวนาในลุ่มน้ำภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพค้าขายและทำเกษตรกรรม เมื่อ “หลวงประเทืองคดี” คหบดีผู้ใช้ชีวิตอยู่ที่วังกลมในอดีต ได้ริเริ่มและสนับสนุนให้คนในชุมชนสร้างตลาดขึ้น ลักษณะของที่อยู่อาศัยจึงเปลี่ยนเป็นแบบเรือนแถวไม้ แรกเริ่มเดิมทีนั้นตลาดของที่นี่เป็นเรือนไม้เรียงต่อกันตามแนวตะวันออกไปจนถึงตะวันตก จากสถานีรถไฟลงไปยังแม่แม่น้ำน่าน ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า “ซอยกลาง” หลังจากนั้นมีการสร้างต่อเติมตามพื้นที่ว่าง ทำให้บริเวณนี้ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2เต็มไปด้วยเรือนแถวไม้ ส่วนตลาดแผงลอยเป็นแบบแผงลอยไม้สี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาทรงปั้นหยา แต่เมื่อถึงยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ความที่ชุมชนตลาดวังกรดเป็นพื้นที่สำคัญมีสถานีรถไฟและถนนผ่าน ทำให้ถูกโจมตีบ่อยครั้ง จึงต้องมีการสร้างหลุมหลบภัยไว้ในตลาด เมื่อสงครามเสร็จสิ้นการรถไฟไทยได้รื้อบ้านและตลาดแผงลอยบริเวณหน้าสถานีออกทั้งหมด และสร้างเรือนแถวไม้สองชั้น ซึ่งชาวบ้านเรียกบริเวณนี้ว่า “แถวเหนือ-แถวใต้” มาจนถึงปัจจุบัน
ความที่บรรพบุรุษดั้งเดิมของชาวบ้านวังกรดส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายจีน “ศาลเจ้าพ่อวังกลม” จึงเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของที่นี่ จึงเป็นอีกหนึ่งที่ที่ไม่ควรพลาดแวะมาขอพร และชื่นชมความงามของสถาปัตยกรรมจีนเมื่อมีโอกาสแวะมาเยือนชุมชนเก่าแห่งนี้ ซึ่งชาวบ้านจะจัดงานฉลองเจ้าพ่อวังกลม หรืองานงิ้ว เพื่อสืบสานประเพณีและเชื่อมสายสัมพันธ์ของลูกหลานย่านวังกรดเป็นประจำทุกปี
ภาพของร้านรวงภายในชุมตลาดเก่าวังกรดในวันวานที่มีทั้งร้านอาหารก๋วยเตี๋ยว ผัดไทย หอยทอด ขนมหัวผักกาด ขนมจีบรสชาติดั้งเดิม ร้านค้าขายของชำ ร้านยาสมุนไพรต่างๆ ยังคงเปิดบริการคอยท่าผู้มาเยือนเหมือนอย่างเคย เมื่อลัดเลาะเดินชมบรรยากาศและชิมอาหารอร่อยภายในชุมชนตลาดเก่าวังกรดไปเรื่อยๆ จนเดินข้ามผ่านหอนาฬิกา จะเจอตลาดดั้งเดิมอีกแห่งหนึ่งที่ชาวบ้นเรียกว่า “ตลาดเหนือ” นอกจากความน่ารักและเป็นกันเองของชาวบ้านพ่อค้าแม่ขายที่พร้อมจะส่งยิ้มให้กับผู้มาเยือนด้วยความยินดีจะเป็นเสน่ห์ที่น่าติดใจของที่นี่แล้ว ความงดงามแบบเรียบง่ายของสถาปัตยกรรมโบราณของร้านรวงเก่าแก่ อย่างร้านซ่อมเครื่องไฟฟ้าเล้าไถ่ชัว หรือโรงสีและบ้านเถ้าแก่จั่น บ้านไม้ 2 ชั้น ที่นอกจากจะประกอบกิจการโรงสีแล้ว ยังเป็นสถานที่ขายน้ำมันแห่งแรกของที่นี่อีกด้วย
หากมาถึงชุมชนเก่าวังกรด “บ้านหลวงประเทืองคดี” คือสถานที่สำคัญอีกหนึ่งแห่งที่ไม่ควรพลาด แม้บ้านของผู้ริเริ่มตลาดวังกรดจะร้างไร้ผู้คน แต่ความงดงามของสถาปัตยกรรม และความร่มรื่นด้วยเงาของร่มไม้ใหญ่ล้อมรอบอาคารยังคงอยู่ ซึ่งบ้านหลังนี้นับเป็นอาคารปูนที่สร้างขึ้นเป็นหลังแรกของชุมชน และได้รับการบูรณะเป็นพิพิธภัณฑ์ให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาศึกษาประวัติความเป็นมาในปัจจุบัน
แม้จะไม่ใช่เมืองหลวงแต่ในอดีตวังกรดเคยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดพิจิตร ที่นี่จึงมีโรงหนังขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “หลุมเก็บทรัพย์โรงหนังมิตรบันเทิง” ซึ่งเปิดกิจการตั้งแต่สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 บริการความบันเทิงฉายหนังด้วยฟิล์ม 16 มม. จนถึงแก่กาลอันสมควรที่ต้องปิดตัวลง แต่สถานที่แห่งนี้ยังคงมอบความทรงจำที่ดีมอบคุณค่าทางใจให้แก่คนที่นี่และผู้มาเยือนได้ไม่ต่างจากวันวาน เช่นเดียวกับชุมชนแห่งนี้ แม้เวลาจะผ่านไปแต่เสน่ห์ความงดงามของตึกรามบ้านช่อง บรรยากาศดั้งเดิม และอัธยาศัยไมตรีจะยังคงอยู่คู่กับ “ชาววังกรด” สร้างความประทับใจให้แก่ผู้มาเยือนอยู่เสมอ
ก่อนกลับ อีกหนึ่งความสวยงามที่พ่อเมืองพิจิตรอยากชวนให้ทุกคนอิ่มเอมใจกับนิทรรศการกลางแจ้งที่สามารถชมความงดงามได้ตลอด 24ชั่วโมง ซึ่งชาวจังหวัดพิจิตรร่วมกันนำภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 โดยฝีมือการวาดของศิลปินรุ่นใหม่กว่า 150 คน จำนวน 84 ภาพมาจัดแสดงไว้บนกำแพงที่ถูกเรียกว่า “กำแพงแห่งความภักดี” ที่บอกเล่าเรื่องราวหลากหลายแง่มุมให้ประชาชนได้เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจอันมากมายที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรอย่างหาที่สุดมิได้ จัดแสดงเรียงรายบนกำแพงยาวกว่า 150 เมตรตลอดแนวถนนด้านหลังศาลากลางจังหวัดพิจิตรหลังเก่า ภายในเขตเทศบาลเมืองพิจิตร นับเป็นกำแพงแห่งความภาคภูมิใจอีกหนึ่งแห่ง ที่ชาวพิจิตรอยากให้ทุกคนได้มาร่วมชมกัน