วช.นำสื่อชมผลงานประดิษฐ์คิดค้น ลูกหมุนระบายอากาศผลิตกระแสไฟฟ้า

1410 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) นำสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมชมผลงานประดิษฐ์คิดค้น “ลูกหมุนระบายอากาศผลิตกระแสไฟฟ้าและมอเตอร์” (New Energy Ventilator) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพสิ่งประดิษฐ์ลูกหมุนระบายอากาศให้สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าร่วมกับเซลล์แสงอาทิตย์ในการประจุกระแสไฟฟ้าในแบตเตอรี่ได้มากขึ้น ณ สถานีประมงคลองวาฬ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง จ.ประจวบคีรีขันธ์

การติดตั้งที่อาคารเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

ผศ.ดร.เอกกมล บุญยะผลานันท์ อาจารย์ประจำภาควิชาครุศาสตร์ไฟฟ้า คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยและคณะร่วมแถลงรายละเอียดถึงผลงานประดิษฐ์คิดค้นชิ้นนี้ว่า “ลูกหมุนระบายอากาศผลิตไฟฟ้า และมอเตอร์” ซึ่งได้รับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ : รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดี ในสาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย ประจำปี ๒๕๕๖ จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งตนและคณะมีความตั้งใจที่จะนำความรู้และประสบการณ์ทางด้านพลังงานสะอาดและพลังงานทดแทน เผยแพร่สู่ชุมชนและนำไปต่อยอดความรู้ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดการเข้าใจ และนำไปสู่การประยุกต์ใช้พลังงานทดแทนในรูปแบบต่าง ๆ อย่างเหมาะสม และคณะผู้ประดิษฐ์ฯ ได้ทูลเกล้าถวาย “ลูกหมุนระบายอากาศผลิตไฟฟ้าและมอเตอร์” เพื่อใช้ใน “โครงการทะเลตัวอย่างแบบผสมผสาน ตามพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ตำบลบางแก้ว อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี และพบว่าการดำเนินการในพื้นที่นี้ดังกล่าวมีความเหมาะสม สามารถพัฒนาการใช้พลังงานทดแทนในรูปแบบต่าง ๆ ได้                  

(จากซ้าย) ผศ.ดร.เอกกมล บุญยะผลานันท์ หัวหน้าโครงการวิจัย, นายธเนศ พุ่มทอง ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ และนายระพี บุญบุตร บริษัทเอกชนผู้ร่วมผลิตผลงานวิจัย

ผศ.ดร.เอกกมลกล่าวต่อว่า แนวคิดในการที่จะพัฒนาลูกหมุนระบายอากาศผลิตไฟฟ้าและมอเตอร์ ให้สามารถใช้งานร่วมกับเซลล์แสงอาทิตย์ในการประจุกระแสไฟฟ้าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้สามารถประจุกระแสไฟฟ้าเก็บไว้ในแบตเตอรี่ได้มากขึ้น และให้เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับทั้งด้านการระบายความร้อนและการผลิตกระแสไฟฟ้า  ซึ่ง วช. ได้สนับสนุนการวิจัยภายใต้โครงการวิจัยตอบสนองนโยบาย/เป้าหมายรัฐบาลและตามระเบียบวาระแห่งชาติ ในกลุ่มเรื่องการพัฒนาสินค้านวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ ประจำปี ๒๕๕๙ ผลจากการวิจัยดังกล่าวพบว่า ลูกหมุนระบายอากาศสามารถได้รับมาตรฐาน AS470:2000 จากประเทศออสเตรเลีย โดยนำไปทดสอบประสิทธิภาพการผลิตกระแสไฟฟ้าจากภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ นอกจากนี้ชุดควบคุมการประจุกระแสจาก NEV และ Solar cell ยังสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ดีขึ้น คณะนักวิจัยฯ ได้นำสิ่งประดิษฐ์ที่พัฒนาแล้วไปติดตั้งที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และศูนย์วิจัยข้าว จังหวัดอุบลราชธานี  ซึ่งลูกหมุนระบายอากาศนี้สามารถลดความร้อนภายในอาคารที่ติดตั้งได้ นอกจากนี้ยังสามารถลดพลังงานไฟฟ้าที่ใช้สำหรับแสงสว่างในเวลากลางคืน ทำให้ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้าของหน่วยงานทั้งสอง

การติดตั้งลูกหมุนระบายอากาศผลิตไฟฟ้าร่วมกับเซลล์แสงอาทิตย์

ด้านนายระพี บุญบุตร จากห้างหุ้นส่วนจำกัดอาทิตย์เวนติเลเตอร์ ผู้ผลิตจากภาคเอกชนกล่าวเสริมว่า ประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นของลูกหมุนระบายอากาศผลิตกระแสไฟฟ้าหรือ New Energy Ventilator(NEV) คือผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลมโดยนำพลังงานลมจากลูกหมุนมาเก็บไว้ในตัวเก็บพลังงานคือแบตเตอรี่ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ต่าง ๆ มากมายเช่นให้แสงสว่างโดยต่อเข้ากับหลอดไฟแบบต่าง ๆ  สามารถชาร์จไฟ โทรศัพท์มือถือและอื่น ๆ ได้และยังนำพลังงานไฟฟ้าที่เก็บไว้ส่งคืนลูกหมุนให้เกิดการหมุนในกรณีไม่มีลมได้ นอกจากนั้นสิ่งสำคัญเป็นพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้แล้วไม่มีวันหมด เป็นพลังงานทดแทนและพลังงานฉุกเฉินเมื่อเกิดอุทกภัย วาตภัยหรือในพื้นที่ทุรกันดารที่ไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึงได้อีกด้วยและเมื่อคำนวนถึงจุดคุ้มทุนพบว่า NEV มีระยะเวลาคุ้มทุนในระยะเวลาประมาณ 5.3ปี

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้