790 จำนวนผู้เข้าชม |
คณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยรังสิต ส่งต่อความรู้ทางกายภาพบัดให้แก่ผู้อพยพชาวกระเหรี่ยงและพม่า ให้สามารถดูแลและฝึกกิจวัตรประจำวันให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองกลับมาช่วยเหลือตัวเองได้ ในศูนย์พักพิงผู้ลี้ภัยจากการสู้รบชาวกะเหรี่ยงและพม่า บ้านแม่ลามาหลวง และบ้านแม่ละอูน จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ดร.วรชาติ เฉิดชมจันทร์ คณบดีคณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า เริ่มต้นจากการที่เรารู้จักศูนย์พักพิงผู้ลี้ภัยจากการสู้รบมาจากสองทาง โดยมีศิษย์เก่า 3 คน เป็นนักกายภาพบำบัดที่จบจาก ม.รังสิต ไปทำงานในพื้นที่ ซึ่งผมเองได้มีโอกาสไปเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพชายแดนที่ศูนย์พักพิงผู้ลี้ภัยจากการสู้รบที่ อ.ท่าสองยาง และ อ.อุ้มผาง จ.ตาก จึงมีแนวคิดในการทำโครงการกายภาพบำบัดข้ามแดนร่วมกัน โดยได้ดำเนินการต่อเนื่องมา 3 ปีแล้ว ซึ่งที่ศูนย์พักพิงผู้ลี้ภัยจากการสู้รบ เป็นชาวพม่าที่ลี้ภัยจากการมีปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศพม่า คนกลุ่มนี้เวลาเจ็บป่วยไม่มีสวัสดิการในการดูแลสุขภาพตัวเอง สิ่งที่ทำได้คือมีองค์กรต่างประเทศที่เรียกว่า UNHCR สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ที่จัดตั้งขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติ เพื่อให้การดูแลผู้ลี้ภัยในเรื่องของสิทธิมนุษยชนของคนกลุ่มนี้ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ แต่ในนั้นมีคนที่เป็นคนป่วยก็จะมีอีกองค์กรที่ดูแลโดยเฉพาะคือ Humanity & Inclusion (HI) โดยให้การดูแลผู้ที่พิการจากการสู้รบส่วนหนึ่ง ซึ่งทาง HI เองก็ได้เห็นกิจกรรมของเรา โดยล่าสุดจึงได้มีการลงนามความร่วมมือร่วมกัน เป็นพันธกิจที่ดีที่ได้ทำร่วมกัน
“เรามองเรื่องของสิทธิมนุษยชนเป็นหลัก มีการเรียนการสอนที่เน้นในเรื่องของจิตปัญญา ดังนั้น อาจารย์ที่ไปทำงานตรงนี้เชื่อว่าเป็นกระบวนการส่วนหนึ่งที่จะพัฒนาด้านในของอาจารย์ด้วย ในขณะเดียวกันก็ได้ทำให้คนในนั้นดีขึ้น อาจารย์ก็จะได้เห็นว่าความรู้ที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัยเมื่อไปเจอพื้นที่จริงๆ แล้วสามารถใช้ได้หรือใช้ไม่ได้ ซึ่งจะเป็นกระบวนการหนึ่งในการตรวจสอบความรู้หรือทักษะของอาจารย์ส่วนหนึ่ง เราพยายามที่จะสร้างองค์ความรู้ สร้างคนต้นแบบและเครือข่ายในนั้น จึงจัดอบรมให้กับคนรุ่นใหม่ที่มีความใฝ่ฝันว่าอยากจะทำเรื่องแบบนี้ขึ้นมาเป็นอาสาสมัคร และฝึกให้ทำงานแทนเราในขณะที่เราไม่อยู่ หลังจากนั้นก็จะเกิดการต่อยอดไปเรื่อยๆ ซึ่งนี่คือรูปแบบที่เราอยากให้เป็น ทั้งนี้ รายได้ที่นำเข้ามาต้องขอบคุณอาจารย์ทุกคนที่ทำงานด้วยใจ ไม่ว่าจะเป็นรายได้จากการทำสติกเกอร์ไลน์ จำหน่ายเสื้อ และกระเป๋า ให้คนภายนอกได้มีส่วนร่วม สำหรับนำมาซื้ออุปกรณ์ต่างๆ มาใช้ในกิจกรรม” คณบดีคณะกายภาพบำบัด กล่าวเสริม
ด้าน อาจารย์อัญมณี ยิ่งยงยุทธ (อ.ฝ้าย) กล่าวว่า ทีมเราได้ลงไปในพื้นที่เพื่อฝึกอาสาสมัครให้สามารถตรวจรักษาโดยกายภาพบำบัดเบื้องต้นได้ สำหรับกลุ่มคนไข้ที่นั่นจะเป็นผู้ป่วยทางระบบประสาท ที่มีปัญหาในเรื่องของการเดิน การเคลื่อนไหว การใช้ชีวิตต่างๆ โดยเราจะไปสอนในเรื่องของการตรวจประเมิน การวิเคราะห์ เพื่อใช้เทคนิคการกายภาพในการรักษา ซึ่งจะสอนแต่ละเทคนิคที่ถูกเลือกมาแล้วว่าทำได้อย่างปลอดภัย ง่ายสำหรับเขา และสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้
อาจารย์อารีวรรณ อินทมานนท์ (อ.หวาน) กล่าวว่า กิจกรรมในครั้งนี้ มีอาสาสมัครที่เข้าร่วมการอบรมประมาณ 15 คน โดยใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ โดยหลังจากที่เรามีการฝึกอบรมให้แล้ว ทางอาสาสมัครก็จะนัดผู้ป่วยให้เราเดินทางไปที่บ้านเพื่อไปดูสภาพแวดล้อมจริงๆ ว่าอยู่กันอย่างไร สามารถใช้อุปกรณ์อะไรในบ้านเพื่อให้เขากลับมาใช้กิจวัตรประจำวันได้ด้วยตัวเอง ส่วนตัวรู้สึกดีทุกครั้งที่ได้ไปร่วมกิจกรรม เหมือนเราได้ไปเติมไฟให้กับตัวเองมีแรงกลับมาทำงานที่นี่มากขึ้น ได้เห็นคนไข้คนเดิมที่เราเจอเมื่อรอบที่แล้วเขามีความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี ช่วยให้คุณภาพชีวิตของเขาดีขึ้น
อาจารย์บดินทร์ คุ้มโนนชัย (อ.บอย) กล่าวว่า ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ที่ได้ร่วมโครงการ ผมรู้สึกตื่นเต้นและท้าทายเหมือนเดิม เราจะต้องมีการเตรียมการที่ค่อนข้างเยอะกว่าปกติ ต้องสรุปเนื้อหาที่เข้าใจง่าย สอนง่าย ทำได้ง่ายสำหรับอาสาสมัครที่อยู่ที่นั่น เข้าไปในแต่ละครั้งก็รู้สึกว่า เขาพร้อมยินดีต้อนรับพวกเราที่พร้อมจะเข้าไปให้ความรู้ พร้อมที่จะนำความรู้จากของเราไปใช้สำหรับบุคคลที่อาศัยอยู่ในแคมป์ของเขา เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ดีมากขึ้น
อาจารย์อาทิตา มั่นแย้ม (อ.ตั๊ก) กล่าวว่า เมื่อไปแล้วมีความรู้สึกว่าอยากกลับไปอีก รู้สึกเห็นคุณค่าในตัวเองเพิ่มมากขึ้น จากที่เราทำงานทุกวันที่นี่เราทำได้คนอื่นก็ทำได้ แต่เมื่อไปอยู่ที่นั่นถ้าไม่มีเราเขาไม่สามารถที่จะดีขึ้นได้ขนาดนี้ เราไม่ได้ไปแค่ออกกำลังกายให้คนไข้แล้วกลับมา แต่เราไปสอนเพื่อให้เขาสามารถดูแลตัวเองได้ เราจะทำอย่างไรเพื่อพัฒนาเขาอย่างเต็มความสามารถของเราค่ะ