เพราะหัวใจมีแค่ดวงเดียว ปกป้องหัวใจตั้งแต่ก่อนเสี่ยง

1077 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เนื่องในวันหัวใจโลก (World Heart Day) ที่ตรงกับวันที่ 29 กันยายนของทุกปี การป้องกัน (Prevention) ปัจจัยเสี่ยงแต่แรกเริ่ม เป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยป้องกันคนวัยเจนใหม่ ให้ห่างไกลจากโรคหัวใจกันมากขึ้น รพ.หัวใจกรุงเทพ เปิดตัวคลินิกป้องกันโรคหัวใจและลดไขมัน (Preventive Heart and Lipid Clinic) เพื่อการดูแลหัวใจแบบองค์รวม เพราะหัวใจของเรามีเพียงแค่ดวงเดียว 

 

นพ.ประดับ สุขุม ผู้อำนวยการอาวุโส รพ.หัวใจกรุงเทพ กล่าวถึง คนไทยป่วยและเสียชีวิตจากโรคหัวใจ และหลอดเลือดเพิ่มมากขึ้นเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของปัจจัยเสี่ยงได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ที่เพิ่มมากขึ้น ทางโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ ได้ตระหนักเห็นถึงความสำคัญของโรคหัวใจ จึงจัดแคมเปญ  “ดูแลหัวใจคุณ... ด้วยหัวใจเรา” MY HEART, YOUR HEART   ในเดือนรณรงค์วันหัวใจโลก พร้อมเปิดคลินิกป้องกันโรคหัวใจและลดไขมัน (Preventive Heart and Lipid Clinic) ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงและป้องกันก่อนที่จะเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันในอนาคตโดยลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันให้น้อยที่สุด รวมไปถึงการให้ข้อมูลความรู้แบบองค์รวมแก่ผู้ป่วย ครอบครัว ในการดูแลและป้องกันก่อนที่จะเกิดโรคหัวใจ แล้วยังช่วยพัฒนาคุณภาพการบริการและการวินิจฉัยให้ได้มาตรฐานวิชาชีพระดับนานาชาติและเพื่อเก็บข้อมูลวิจัยสร้างองค์ความรู้ใหม่ในการป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจในอนาคต

 

โดยจัดให้มีโปรแกรมการตรวจหัวใจ 2 แบบ คือ

1.       Primary screening program เริ่มต้นด้วยการประเมินความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจในผู้ที่ยังไม่มีอาการ และหาแนวทางป้องกันเพื่อลดโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ


2.       Secondary preventive program ในผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจแล้ว จะได้รับการประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนในอนาคต พร้อมได้รับการรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจเพื่อชะลอการดำเนินของโรคให้ช้าที่สุดและป้องกันภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจและหลอดเลือดให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด

 

จุดเด่นของคลินิกนี้ คือ

1.       One-stop service for heart check-up and preventive program ให้การค้นหาโรคหัวใจตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม และให้การป้องกันโรคตั้งแต่ระยะเริ่มต้นของการเกิดตะกรันที่เกาะผนังหลอดเลือดหัวใจหรือเส้นเลือดตามร่างกาย

2.       Personalized Medicine เป็นจุดเริ่มต้นของการดูแลสุขภาพหัวใจยุคใหม่ ที่ทุกคนจะมีแนวทางปฏิบัติเป็นของตัวเอง การเลือกยาที่ตรงกับพันธุกรรมของตนเอง การเลือกชนิดอาหารที่เหมาะสมกับตนเอง รวมไปถึง โปรแกรมการออกกำลังกายฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจที่แตกต่างตามสาเหตุและความเสี่ยงของตนเอง

 3.       Registry and monitoring ข้อมูลสุขภาพ ผลการตรวจเลือด พยาธิสภาพหลอดเลือดของผู้ป่วย จะถูกเก็บเข้าเป็นระบบในฐานข้อมูลคลินิกป้องกันโรคหัวใจและลดไขมัน พร้อมทั้งมีการเตือนถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและเฝ้าติดตามรอยโรคเป็นระยะ ๆ

 
การป้องกันโรคหัวใจในปัจจุบันควรเริ่มการเริ่มป้องกันตั้งแต่แรกเกิดจนถึงเติบโตเป็นผู้ใหญ่ มีการดูแลอาหาร การรับประทาน และการตรวจร่างกายแต่เนิ่นๆ ว่ามีพันธุกรรมที่เกี่ยวข้อง หรือประวัติครอบครัวที่มีปัจจัยเสี่ยงหรือไม่ โดยปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้หลอดเลือดเสื่อมสภาพ เกิดได้จาก 2 ปัจจัย ได้แก่ 1. ปัจจัยเสี่ยงทางร่างกายที่สามารถป้องกันได้ คือโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และการสูบบุหรี่ 2.พันธุกรรม ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันหรือแก้ไขไม่ได้ แต่การป้องกันโรคดีและสำคัญกว่าการรักษาโรค

 

ดังนั้นเราควรตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลป้องกันหัวใจให้ห่างไกลโรคกับพฤติกรรม 8 อย่าง ที่สามารถทำได้ทุกเพศทุกวัยเพื่อป้องกันโรคหัวใจไปตลอดชีวิต ได้แก่ เลี่ยงอาหารอันตรายต่อหลอดเลือดหัวใจ ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันทรานส์ เพราะไขมันทรานส์เป็นการเติมไฮโดรเจนเข้าไปในน้ำมันพืชให้คงสภาพกึ่งแข็งกึ่งเหลว ถูกนำไปเป็นส่วนประกอบของอาหาร เช่น เบเกอรี่ โดนัท คุกกี้ ครีมเทียม เนยเทียม และอาหารประเภทจังส์ฟู้ด ซึ่งจะเข้าไปเพิ่มระดับของไขมันไม่ดี (LDL) ในร่างกาย ส่งผลเสียต่อหลอดเลือดหัวใจ ก่อให้เกิดโรคหัวใจตามมาหากบริโภคในปริมาณมากและต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน

สิ่งที่ควรระวังในปัจจุบันคือ โรคหัวใจและหลอดเลือดมักพบในคนรุ่นใหม่ อายุน้อยมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยไลฟ์สไตล์ของเด็กยุคปัจจุบันนอนน้อยทำให้ร่างกายซ่อมแซมช้า การทำกิจกรรมน้อยลง เล่นมือถือเป็นส่วนใหญ่ ทำให้การเคลื่อนไหวน้อยลง ออกกำลังกายช่วยหัวใจแข็งแรงในระยะยาว การออกกำลังกายแบบ Fat-burn เป็นการออกกำลังกายในช่วงอัตราการเต้นของหัวใจเหมาะสม และมีสัดส่วนการเผาผลาญไขมันมากที่สุด ที่ 70% ของอัตราการเต้นหัวใจสูงสุดในแต่ละช่วงอายุ โดยมีสูตร 0.7 x (220 - อายุ) จะเท่ากับอัตราเต้นของหัวใจที่เหมาะสม

 

การออกกำลังกายในระดับปานกลางใช้ระยะเวลาประมาณครั้งละ 30 นาทีต่อวัน 5 วันต่อสัปดาห์ ช่วยรักษาอัตราการเต้นของหัวใจที่เหมาะสม หรือการเดินออกกำลังกายตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกที่ว่า เดินให้ได้ 10,000 ก้าวต่อวัน จะช่วยบริหารหัวใจและหลอดเลือดให้แข็งแรง โดยเลือกรูปแบบของการออกกำลังกายที่ชอบในแบบที่ใช่ เป็นอีกวิธีหนึ่งในการสร้างความจูงใจในการออกกำลังกาย จัดการความเครียดให้อยู่หมัด  ควรมีช่วงเวลาการพักผ่อนเพื่อให้ร่างกายจัดการกับความเครียด หลายคนเลือกการออกกำลังกาย หรือการทำสมาธิก็เป็นวิธีที่ง่าย และเห็นผลได้  ถึงแม้จะรับประทานอาหารที่มีไขมันดี แต่ถ้าพักผ่อนน้อยแถมมีความเครียดสูงก็ไม่ใช่เรื่องดีต่อร่างกาย นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ถ้าอยากให้หัวใจแข็งแรง ควรนอนให้ได้ 6-8 ชั่วโมงต่อวัน และจะต้องนอนหลับลึก (Deep sleep) เพื่อให้สมองและหัวใจได้พักผ่อนเต็มที่ ไม่ใช่จำนวนชั่วโมงเพียงอย่างเดียว ที่สำคัญคุณภาพการนอนต้องดีด้วย หากเรานอนกรนหรือตื่นมาแล้วไม่สดชื่นควรตรวจเช็กสุขภาพการนอนกับแพทย์ โดยเฉพาะอาชีพที่เข้างานเป็นกะหรือเป็นช่วงที่นอนน้อยติดต่อกันหลายวัน ควรต้องมีช่วงพักผ่อนให้ยาวขึ้นเป็นการชดเชย  ระวังเบาหวาน ไขมัน ปัจจัยเร่งหลอดเลือดให้เสื่อมไว  เพราะโรคเหล่านี้เป็นตัวการเร่งให้หลอดเลือดมีความเสื่อมเร็วยิ่งขึ้น พร้อมทั้งเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย


โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีการรับประทานยาควบคุมอาการ ขณะเดียวกันกลุ่มที่มีอาการของหัวใจและหลอดเลือดแต่มีการรับประทานยาสม่ำเสมอ ก็ช่วยให้สามารถคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในระดับเกือบปกติได้ โดยระดับน้ำตาลควรอยู่ที่ประมาณ 70-100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร เพราะหากค่าสูงกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร มีความเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวาน ควบคุมระดับความดันเลือดให้เป็นปกติที่ความดันตัวบน 120 ความดันตัวล่างที่ 80 ในคนที่ตรวจพบตะกรันคราบหินปูน ณ จุดใดจุดหนึ่งของร่างกาย เช่น หลอดเลือดคอ หลอดเลือดหัวใจ และหลอดเลือดแดงใหญ่ ควรควบคุมระดับไขมันในร่างกาย ทั้งนี้ ออกกำลังกายเป็นประจำ งดการสูบบุหรี่ และรักษาระดับของ HDL ไขมันดีให้มากกว่า 60 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร บุหรี่ตัวการใหญ่หลอดเลือดหัวใจไม่แข็งแรง

 

เนื่องจากสารนิโคตินและก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ในควันบุหรี่และสารอื่นๆ ในบุหรี่ มีผลทำให้หลอดเลือดแข็งตัว ผนังเส้นเลือดหนา เกิดคราบหินปูนเกาะบริเวณหลอดเลือด เส้นเลือดเกิดความอ่อนแอเสื่อมสภาพก่อนวัยอันควร เลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ หัวใจเกิดการทำงานผิดปกติ ขาดออกซิเจนและหัวใจวายเฉียบพลันได้ วิตามินธรรมชาติบำรุงหัวใจ  โดยเฉพาะอาหารบำรุงหัวใจ ได้แก่ อาหารที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 มีมากในปลาทะเล ปลาน้ำจืด เช่น ปลาทู ปลาช่อน ปลาแซลมอล  จะช่วยลดการเกิดโรคหัวใจทั้งยังเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับหลอดเลือด กระตุ้นการไหลเวียนเลือด ลดระดับคอเลสเตอรอลได้


สิ่งสำคัญคือสร้าง Social relationship ลดความเครียดเพิ่มอายุขัย การสร้างสัมพันธ์ที่ดีทางสังคม การออกไปรวมกลุ่ม ทำกิจกรรมร่วมกันเล็กๆ จะช่วยนำมาซึ่งหัวใจที่แข็งแรง เช่น การทำกิจกรรมจิตอาสา การตั้งกลุ่มเพื่อร่วมกันพัฒนาชุมชน การเข้าชมรมหมู่บ้าน หรือแม้แต่การรวมกลุ่มออกกำลังกายตามสวนสาธารณะ จิบน้ำชาในสภากาแฟ ได้พูดคุยสังสรรค์แลกเปลี่ยน แบ่งปันเรื่องราวระหว่างกัน ก็จะช่วยให้เกิดความสุขใจ ยิ่งในยุคปัจจุบันที่ Social Media เข้ามามีอิทธิพลกับการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ การพูดคุยสื่อสารกันผ่านแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ยังไม่อาจช่วยให้รู้สึกดีได้เท่ากับการเห็นหน้าพูดคุยกัน บางครั้งการใช้โซเชียลมากเกินไป กลับยิ่งทำให้เกิดความเครียดจากการเปรียบเทียบชีวิตตนเองกับชีวิตผู้อื่น เพิ่มขึ้นอีกด้วย

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้