“ยุงลาย” พาหะโรคร้าย ช่วงปลายฝนต้นหนาว

3055 จำนวนผู้เข้าชม  | 

          “ยุงลาย” ตัวนำโรคและพาหะโรคไวรัสต่าง ๆ คือ โรคไข้เลือดออก, โรคเด็งกี่, โรคไข้ปวดข้อยุงลาย, โรคชิคุนกุนยา และโรคติดเชื้อซิกา
          โดยอาการแต่ละโรคก็จะคล้ายกันมากคือ มีไข้เฉียบพลัน มักเป็นไข้ไม่สูงมากมักประมาณ 38.5 องศาเซลเซียส ไข้เลือดออกและโรคปวดข้อยุงลายมักเป็นไข้สูงมากกว่า 38.5 องศาเซลเซียส ปวดศีรษะแต่ไม่มาก ปวดข้อแต่ไม่มาก แต่โรคปวดข้อยุงลายจะปวดข้อมากจนมีผลต่อการเคลื่อนไหว อ่อนเพลียไม่มาก แต่ไข้เลือดออกจะอ่อนเพลียมาก มีผื่นแดงขึ้นตามผิวหนังได้ทั่วร่างกาย ขณะที่โรคติดเชื้อซิกาจะมีอาการเยื่อตาอักเสบร่วมด้วย (อาการสำคัญคือ ตาแดง) แต่ไข้เลือดออกและโรคปวดข้อยุงลายที่มักจะไม่มีอาการนี้
          ผู้ป่วยจึงควรพบแพทย์ หรือไปโรงพยาบาลเมื่ออาการต่าง ๆ ดังกล่าวรุนแรง เช่น ไข้สูงและไข้ไม่ลงใน 2-3 วัน ปวดศีรษะมาก อ่อนเพลียมาก หรือมีจุดเลือดออกตามลำตัว แขนขา หรือเมื่อสงสัยเป็นไข้เลือดออก หรือเป็นไข้ปวดข้อยุงลาย โดยเฉพาะสุภาพสตรีที่อยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์ เพราะเชื้อไวรัสซิกาเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิด “ภาวะศีรษะเล็ก” ในเด็ก

          ดร.ทวีศักดิ์ ตีระวัฒนพงศ์ ที่ปรึกษาวิชาการด้านโมเลกุลลาร์ บริษัท N Health ในเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ (BDMS) กล่าวถึง “ภาวะศีรษะเล็ก” (Microcephaly) ในเด็กว่า เป็นผลมาจากการพัฒนาการของสมองที่ผิดปกติ โดยเด็กจะมีขนาดของศีรษะเล็กกว่าเด็กปกติในช่วงอายุเดียวกันอย่างมีนัยสำคัญ สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งระหว่างที่อยู่ในครรภ์และหลังคลอด และเกิดได้จากหลายสาเหตุ อาทิ ความผิดปกติของยีน หรือโครโมโซม ภาวะสมองขาดออกซิเจนระหว่างที่อยู่ในครรภ์ ภาวะขาดสารอาหารอย่างรุนแรงระหว่างที่อยู่ในครรภ์ การติดเชื้อบางชนิดระหว่างตั้งครรภ์ เช่น เชื้อท็อกโซพลาสมา (Toxoplasma) เชื้อไซโตเมกาโลไวรัส (Cytomegalovirus) เชื้อไวรัสรูเบลลา (Rubella virus) เชื้อไวรัสวาริเซลลาซอสเตอร์ (Varicella-Zoster virus) และเชื้อไวรัสซิกา
          ลักษณะและอาการของเด็กที่เป็นโรคนี้มีผลต่อการพัฒนาการของเด็ก เช่น เด็กมีพัฒนาการช้าในด้านของพูดและการเคลื่อนไหว ปัญญาอ่อน มีเชาว์ปัญญาต่ำกว่าเด็กปกติ หูหนวก และมีปัญหาเรื่องการมองเห็น ซึ่งหากเด็กมีภาวะศีรษะเล็กนี้แล้ว ครอบครัวควรวางแผนในการรักษาและดูแลร่วมกับทีมแพทย์เฉพาะทาง เพื่อให้มีกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาในด้านต่างๆ ให้เด็ก เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กเกิดภาวะศีรษะเล็ก ควรหลีกเลี่ยงทุกอย่างที่เป็นสาเหตุ หากสาเหตุคือพันธุกรรมให้ปรึกษาแพทย์และผู้เชี่ยวชาญทางด้าน genetics สำหรับการตั้งครรภ์ครั้งต่อไป
          หาก “ว่าที่คุณแม่” กำลังสงสัยว่าติดเชื้อไวรัสดังกล่าวหรือไม่ สามารถมาตรวจได้ด้วยการเจาะเลือด หรือตรวจจากปัสสาวะ โดยขณะนี้ห้องแล็บไบโอโมเลกุลลาร์ของ N Health ให้บริการตรวจหาไวรัสไข้เลือดออก ไวรัสชิคุนกุนยา และไวรัสซิกาที่มียุงเป็นพาหะนำโรคได้จากการเจาะเลือดครั้งเดียว ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อแพทย์ในการวินิจฉัยโรคติดเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดอาการคล้ายกัน
         

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้