ธุรกิจแห่งการเชื่อมต่อยังคงขับเคลื่อน BOSCH ให้เติบโตต่อเนื่อง ปัญญาประดิษฐ์ (AI) คือที่สุดของความเชี่ยวชาญด้าน IoT

795 จำนวนผู้เข้าชม  | 



          กลุ่มบริษัทบ๊อชยังคงเพิ่มยอดขายได้ในปี 2559 โดยจากตัวเลขเบื้องต้นพบว่า ปีที่แล้ว ยอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 เป็น 73.1 พันล้านยูโร และเมื่อปรับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว อัตราการเติบโตของยอดขายจะอยู่ที่ร้อยละ 5.4 อนึ่ง ยอดขายของกลุ่มได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน คิดเป็นประมาณ 1.3 พันล้านยูโร

 


          “แม้ว่าสถานการณ์จะไม่ค่อยเอื้ออำนวยนัก แต่เราก็ยังสามารถเพิ่มอัตราการเติบโตได้ตามที่คาดการณ์สำหรับปี 2559” ดร. โฟล์คมาร์ เดนเนอร์ ประธานกรรมการกลุ่มบริษัทบ๊อช กล่าว “บ๊อชกำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านรูปแบบของเทคโนโลยีขั้นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดเท่าที่เคยมีมาไม่ว่าจะในแวดวงอุตสาหกรรม ตลาดต่าง ๆ หรือด้านเทคโนโลยี บ๊อชกำลังสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โซลูชั่นแห่งการเชื่อมต่อเข้าไปเกี่ยวข้องกับทุกสิ่ง ไล่ไปจนถึงเทคโนโลยี IoT และเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยียานยนต์พลังงานไฟฟ้า (Electromobility) ซึ่งบ๊อชลงทุนไปแล้วหลายพันล้านยูโร และในปี 2559 บริษัทได้เพิ่มงบการวิจัยและพัฒนาเป็นประมาณ 6.6 พันล้านยูโร

 


          ดร. สเตฟาน อเซ็นเคอสช์เบาเออร์ ซีเอฟโอและรองประธานบริษัท อธิบายว่า “ผลงานที่เราทำได้สำเร็จในทุกวันนี้ จะเป็นแหล่งเงินทุนที่สำคัญเพื่อความสำเร็จในวันข้างหน้า” ในปี 2559 บ๊อชในฐานะผู้นำการผลิตและจัดจำหน่ายเทคโนโลยีและบริการชั้นนำของโลก มีรายได้จากการดำเนินงานก่อนหักดอกเบี้ยและภาษี (EBIT จากการดำเนินงาน) ราว 4.3 พันล้านยูโร บ๊อชมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้ผลิตเทคโนโลยี IoT ชั้นนำ และเล็งเห็นโอกาสทองในธุรกิจที่เกี่ยวกับผู้ช่วยดิจิทัลอัจฉริยะ “เทคโนโลยี IoT กลายเป็นเรื่องใกล้ตัวขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งได้ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI เข้ามา ยิ่งทำให้เราพัฒนาโซลูชั่นแห่งการเชื่อมต่อต่าง ๆ ให้เข้ากับความต้องการของแต่ละบุคคลได้” ซีอีโอของบ๊อช กล่าว ด้วยเหตุนี้ บ๊อชจึงลงทุนกว่า 300 ล้านยูโรในการสร้างศูนย์ปัญญาประดิษฐ์แห่งใหม่ ซึ่งจะเป็นบทสรุปให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี IoT   

 
ปัญญาประดิษฐ์ : ลงทุน 300 ล้านยูโรสำหรับศูนย์แห่งใหม่


          ในปีนี้ เราจะได้เห็นศูนย์ปัญญาประดิษฐ์แห่งใหม่ของบ๊อช (Bosch Center for Artificial Intelligence-BCAI) เริ่มดำเนินงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความเชี่ยวชาญทางด้านปัญญาประดิษฐ์ “ด้วยเทคโนโลยีเซ็นเซอร์ ทำให้บ๊อชสามารถสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ที่จับความรู้สึกได้ และตอนนี้บ๊อชก็ทำให้มันเรียนรู้และทำอะไรฉลาด ๆ ได้” ดร. เดนเนอร์ ผู้รับผิดชอบด้านการวิจัยและวิศวกรรมขั้นสูงในฐานะคณะกรรมการบริหารของบ๊อช กล่าว

          “ภายใน 10 ปีนับจากนี้ แทบจะไม่มีผลิตภัณฑ์ของบ๊อชชิ้นไหนที่ไม่เป็นปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ซึ่งอาจจะเป็นอุปกรณ์ที่มีความฉลาดในตัวของมันเอง หรือมี AI เป็นส่วนสำคัญในขั้นการพัฒนาหรือการผลิต” ดร. เดนเนอร์ กล่าว สำหรับศูนย์ BCAI จะเริ่มว่าจ้างทีมผู้เชี่ยวชาญราว 100 ตำแหน่งในอินเดีย (เบงกาลูรู) สหรัฐอเมริกา (พาโล อัลโต) และเยอรมนี (เรนนิงเก็น) บ๊อชจะลงทุนขยายศูนย์ฯ แห่งนี้รวม 300 ล้านยูโร และจะเพิ่มจำนวนพนักงานให้มากกว่าปัจจุบันอีกหลายเท่า ภายในปี 2564


ผู้ช่วยดิจิทัลอัจฉริยะ : ตลาดที่มีค่าหลายพันล้านยูโร


          สำหรับบ๊อชแล้ว การพัฒนาเทคโนโลยี IoT ให้ตอบสนองความต้องการของแต่ละคนนับเป็นอีกระดับโซลูชั่นการเชื่อมต่อ “บ๊อชจะใช้ AI เปลี่ยนสิ่งต่าง ๆ ให้กลายเป็นผู้ช่วยอัจฉริยะ สุดท้ายแล้ว ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จะกลายเป็นคู่หู เพื่อนที่รู้ใจ และผู้ช่วยส่วนตัวของเรา” ซีอีโอของบ๊อชกล่าว บริษัทวิจัยตลาด Tractica ประมาณการว่าจำนวนคนที่ใช้ผู้ช่วยดิจิทัลจะเพิ่มขึ้นในอัตรามากกว่าร้อยละ 350 ภายในปี 2564

          “ผู้ช่วยดิจิทัล (digital assistants) คือ อินเทอร์เฟซสำหรับลูกค้า และด้วยผลิตภัณฑ์ที่เชื่อมต่อกันได้ บ๊อชก็จะสามารถรักษาความสัมพันธ์โดยตรงกับลูกค้าไว้ได้ ยิ่งเรารู้ใจลูกค้าแต่ละคนได้มากขึ้นเพียงใด เราก็ยิ่งสามารถจัดบริการที่เหมาะกับแต่ละคนให้ได้ดีขึ้นเท่านั้น” ดร. เดนเนอร์ กล่าวต่อ หนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่บ๊อชภูมิใจนำเสนอในการแสดงนวัตกรรม CES ที่ลาสเวกัสคือ หุ่นยนต์ประจำบ้าน Kuri ซึ่งในเรื่องการพัฒนาหุ่นยนต์นั้น บ๊อชเน้นไปที่การตอบสนองความต้องการของแต่ละคน ซึ่งก็คือ การทำให้หุ่นยนต์สามารถโต้ตอบกับมนุษย์ได้


          นอกจากนี้ บริษัทยังได้แนะนำ Mykie หรือผู้ช่วยที่ได้รับการออกแบบให้เหมาะกับความต้องการต่าง ๆ ในห้องครัวอัจฉริยะ ตัวอย่างเช่น Mykie รู้ว่ามีอะไรเก็บไว้ในตู้เย็นบ้าง และสามารถเขียนรายการซื้อของได้เองโดยอัตโนมัติ และยังช่วยในการทำครัวได้ ในงาน CES บ๊อชยังได้นำรถยนต์ต้นแบบออกมาโชว์ชิมลาง โดยแสดงให้เห็นว่าผู้ช่วยส่วนตัวสำหรับ ‘ยานยนต์’ นั้นจะเป็นอย่างไร จากการศึกษาร่วมกันระหว่างบ๊อชและพร็อกนอส (Procnos) ชี้ให้เห็นว่ายานยนต์ที่สามารถเชื่อมต่อกับสิ่งต่าง ๆ จะช่วยทำให้คนมีเวลาพักและใช้เวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเกือบ 100 ชั่วโมงต่อปี


อนาคตของโซลูชั่นแห่งการขับเคลื่อน : วิชั่นซีโร่ (Vision Zero)”


          ปลอดกังวล ปลอดอุบัติภัย และปลอดการปล่อยมลพิษ : นี่คือวิสัยทัศน์ของบ๊อชที่มีต่อการจราจรแห่งอนาคต “อุบัติเหตุเป็นศูนย์ การปล่อยสารมลพิษเป็นศูนย์ และความเครียดเป็นศูนย์ คือเป้าหมายหลักของเราสำหรับโซลูชั่นการขับเคลื่อนแห่งอนาคต” ดร. เดนเนอร์ ซีอีโอของบ๊อช กล่าว ในทางเทคโนโลยีแล้ว สิ่งเหล่านี้หมายถึง การขับขี่อัตโนมัติ (automation) ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า (electrification) และการเชื่อมต่อ (connectivity)

          ดร. เดนเนอร์ กล่าวต่อว่า “เราจะมุ่งมั่นในการคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นแก่แวดวงโซลูชั่นแห่งการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง บ๊อชจะยังเป็นผู้นำในฐานะผู้ผลิตระดับโลกด้านโซลูชั่นแห่งการขับเคลื่อน รวมทั้งเทคโนโลยียานยนต์พลังงานไฟฟ้า” ขณะนี้ บ๊อชกำลังวิจัยเชิงลึก โดยหวังว่าจะเกิดการค้นพบครั้งใหม่เกี่ยวกับเทคโนโลยีแบตเตอรี ที่จะทำให้การขับขี่ด้วยพลังงานไฟฟ้ามีราคาที่ทุกคนเอื้อมถึง บริษัทได้จัดตั้งศูนย์วิจัยด้านแบตเตอรี ที่ฟอยเออร์บาค ในเมืองสตุ๊ตการ์ต เพื่อรวมงานพัฒนาด้านเซลล์แบตเตอรี และแบตเตอรีแพ็ค เข้ามาไว้ที่นี่ ปัจจุบันมีทีมงานกว่า 300 คนที่ทำงานร่วมกับนักวิจัยแบตเตอรี เพื่อเทคโนโลยีเซลล์
แบตเตอรีในอนาคต ให้พร้อมรองรับการผลิตในเชิงอุตสาหกรรม

 
ผลประกอบการทางธุรกิจปี 2559 แยกตามประเภทธุรกิจ

          ผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนส่งผลต่อยอดขายแตกต่างกันไปตามรูปแบบการดำเนินธุรกิจ “หลังจากการปรับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว ยอดขายของทุกภาคธุรกิจต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ยกเว้นเทคโนโลยีอุตสาหกรรม บางภาคธุรกิจมียอดขายสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ” ดร. อเซ็นเคอสช์เบาเออร์ กล่าว

          ในปี 2559 ภาคธุรกิจโซลูชั่นแห่งการขับเคลื่อนเติบโตในอัตราร้อยละ 5.5 ซึ่งแข็งแกร่งกว่าธุรกิจการผลิตยานยนต์ทั่วโลก หลังจากที่ได้ปรับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว อัตราการเติบโตที่แท้จริงจะอยู่ที่ร้อยละ 7 ทั้งนี้ จากตัวเลขเบื้องต้น ยอดขายมีมูลค่าราว 44 พันล้านยูโรในปี 2559 บ๊อชได้สร้างสถิติใหม่ในธุรกิจระบบฉีดเชื้อเพลิงแก๊สโซลีน โดยสามารถขายหัวฉีดแรงดันสูงชนิดต่าง ๆ กว่า 250 ล้านเครื่อง บริษัทประสบความสำเร็จอย่างสูงกับระบบช่วยเหลือการขับขี่ และระบบอินโฟเทนเม้นต์

          ในปี 2559 ภาคธุรกิจสินค้าเพื่อผู้บริโภค มียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 เป็น 17.7 พันล้านยูโร โดยเมื่อปรับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว การเติบโตที่แท้จริงเท่ากับร้อยละ 6.2 โดยทั้งกลุ่มเครื่องมือไฟฟ้าและในส่วนของบริษัทบีเอสเอช เฮาส์เกเรท จีเอ็มบีเอช จำกัด (BSH Hausgeräte GmbH) ถือเป็นธุรกิจที่เป็นตัวแทนสะท้อนภาพของธุรกิจแห่งการเชื่อมต่อในปี 2559 ได้เป็นอย่างดี

          ยอดขายของกลุ่มเทคโนโลยีพลังงานและอาคารในปี 2559 เติบโตร้อยละ 0.8 (หรือร้อยละ 3.2 หลังปรับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว) คิดเป็นมูลค่ารวม 5.2 พันล้านยูโร ส่วนธุรกิจเทคโนโลยีระบบความร้อน ระบบรักษาความปลอดภัย และโซลูชั่นการบริการ ต่างมียอดขายที่ดีขึ้นกว่าเดิมมาก เมื่อมีโซลูชั่นแห่งการเชื่อมต่อเข้ามาประกอบ อาทิ ระบบทำความร้อนอัจฉริยะ เทคโนโลยีด้านวิดีโอ รวมถึงการบริการต่าง ๆ อาทิ บริการฉุกเฉิน eCall และการบริการผู้ช่วยส่วนตัว


          สำหรับธุรกิจเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรม มียอดขายลดลงร้อยละ 5.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมียอดขายรวม 6.3 พันล้านยูโร และเมื่อปรับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว ยอดขายจะลดลงร้อยละ 4.5 ปัจจัยที่ส่งผลมากที่สุดคือ พัฒนาการในตลาดต่างๆ เช่น จีน รัสเซีย และบราซิล ที่ยังคงมีความท้าทายต่อธุรกิจเทคโนโลยีระบบขับเคลื่อนและควบคุม ส่วนด้านธุรกิจเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์ ปี 2559 ยังคงถือว่าใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า

 
ผลประกอบการทางธุรกิจปี 2559 แยกตามภูมิภาค

          ตัวเลขเบื้องต้นสำหรับผลประกอบการในทวีปยุโรป แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางธุรกิจในเชิงบวกสำหรับกลุ่มบริษัทบ๊อชในปี 2559 ในภูมิภาคนี้ บ๊อชในฐานะผู้ผลิตเทคโนโลยีและการบริการต่าง ๆ สามารถเพิ่มยอดขายได้ถึงร้อยละ 3.4 (หรือร้อยละ 4.8 หลังปรับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน) คิดเป็นยอดขายรวม 38.6 พันล้านยูโร

          ในทวีปอเมริกาเหนือที่มียอดขาย 12.4 พันล้านยูโร ถือว่าเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า คิดเป็นอัตราที่ลดลงเล็กน้อยเพียงร้อยละ 2 หรือร้อยละ 1.8 หลังปรับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน

          ในทวีปอเมริกาใต้ กลุ่มบริษัทบ๊อชมียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 หลังปรับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน หากไม่ปรับผลกระทบ ยอดขายลดลงร้อยละ 5.7 เป็น 1.3 พันล้านยูโร สำหรับเอเชียแปซิฟิกรวมถึงแอฟริกา บ๊อชมียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 หลังปรับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งพบว่าตัวเลขก่อนปรับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนมีอัตราการเติบโตของยอดขายเท่ากับร้อยละ 8.1 หรือคิดเป็น 20.8 พันล้านยูโร


บุคลากรในเอเชียแปซิฟิก ยุโรปกลาง ยุโรปตะวันออก และเยอรมนี

          ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559 กลุ่มบริษัทบ๊อชทั่วโลกมีพนักงานรวม 390,000 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นประมาณ 15,000 คนในปี 2559 โดยมีการรับพนักงานใหม่ในเอเชียแปซิฟิก ยุโรปกลางและตะวันออกเป็นส่วนใหญ่ ส่วนในเยอรมนี มีพนักงานเพิ่มขึ้น 2,100 คน


ประมาณการปี 2560-อัตราเติบโตปานกลาง โดยมีความผันผวนมากขึ้น

          สำหรับปี 2560 บ๊อชได้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะมีอัตราการเติบโตปานกลางที่ร้อยละ 2.3 ผู้ผลิตเทคโนโลยีและบริการต่าง ๆ อย่างบ๊อช ได้เล็งเห็นถึงความเสี่ยงต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจ โดยมีปัจจัยเด่นทางการเมืองในสหรัฐฯ และยุโรป ปี 2560 นี้ บ๊อชจึงยังคงมุ่งรักษาอัตราการเติบโตทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และมุ่งขยายตัวให้ได้เร็วกว่ากิจการอื่นในแต่ละตลาด บ๊อชต้องการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันและอัตราการทำกำไรของทุกภาคธุรกิจได้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไปในอนาคต

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้