5 อาชีพรุ่งในตลาดแรงงานไทย

6427 จำนวนผู้เข้าชม  | 


          เว็บไซต์สมัครงาน “จ๊อบไทยดอทคอม” (JobThai.com) เผยสถานการณ์แรงงานไทยมีผู้งานทำ 37 ล้านคน แต่ตลาดทั้งประเทศยังต้องการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มการขาย การบริการ และการซ่อมบำรุง ย้ำ “งานผลิต-ควบคุมคุณภาพ, บริการ, โยธา-สถาปนิก, การตลาด, วิศวกรรม” ตลาดยังต้องการสูง ส่วน “งานด้านภูมิศาสตร์, สื่อสิ่งพิมพ์, อัญมณี-เครื่องประดับ, งานนักเขียน-บรรณาธิการ” ไม่สดใสนัก
          นางสาวแสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์ ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าผู้บริหารด้านปฏิบัติการเว็บไซต์ “จ๊อบไทยดอทคอม” (JobThai.com) เปิดเผยถึงสถานการณ์แรงงานไทยจากข้อมูล สำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่สำรวจเมื่อเดือนธันวาคม 2559 ว่า ประเทศไทยมีจำนวนผู้มีงานทำประมาณ 37 ล้านคน กระจายการทำงานอยู่หลากหลายสาขาอาชีพ โดยสาขาอาชีพที่มีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น ได้แก่ กลุ่มการขาย การบริการ และการซ่อมบำรุง มีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นจำนวนกว่า 1.7 แสนคน
          จากข้อมูลข้างต้นสอดคล้องกับฐานข้อมูลของเว็บไซต์ “จ๊อบไทยดอทคอม” ที่มีผู้ลงทะเบียนใช้งานกว่า 1.2 ล้านคน รวมถึงบริษัทและองค์กรชั้นนำอีกมากมาย พบว่า ความต้องการแรงงานส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยมีจำนวนงานอยู่ที่ 60,548 อัตรา รองลงมาคือภาคตะวันออก จำนวน 9,400 อัตรา ภาคกลาง จำนวน 3,177 อัตรา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 2,280 อัตรา ภาคเหนือ จำนวน 1,036 อัตรา และภาคใต้ จำนวน 986 อัตรา เพิ่มขึ้น 1.6% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2559

          ส่วนสาขาอาชีพที่มีความต้องการแรงงานมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ งานขาย จำนวน 18,313 อัตรา งานช่างเทคนิคสายต่าง ๆ และซ่อมบำรุง จำนวน 8,090 อัตรา งานวิศวกรรม จำนวน 6,564 อัตรา งานผลิต-ควบคุมคุณภาพ จำนวน 5,996 อัตรา และงานบริการ จำนวน 5,571 อัตรา



          “จ๊อบไทยดอทคอม” ยังวิเคราะห์ทิศทางการเติบโตของสาขาอาชีพในช่วงระหว่างปี 2557-2560 พบว่าอาชีพที่มีแนวโน้มการเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ งานผลิต-งานควบคุมคุณภาพ คิดเป็น 33% งานด้านบริการ คิดเป็น 17% งานโยธา-สถาปนิก คิดเป็น 14% งานการตลาด คิดเป็น 6% และงานวิศวกรรม คิดเป็น 3% ส่วนกลุ่มงานที่มีแนวโน้มการเติบโตลดลง ได้แก่ กลุ่มงานด้านภูมิศาสตร์ ลดลง 68% งานสื่อสิ่งพิมพ์ ลดลง 57% งานอัญมณี-เครื่องประดับ ลดลง 45% และงานนักเขียน-บรรณาธิการ ลดลง 32%


          “การที่กลุ่มงานผลิตและบริการมีอัตราความต้องการแรงงานเฉลี่ยเติบโตเพิ่มขึ้น เนื่องจากภาคการผลิตได้รับปัจจัยสนับสนุนมาจากการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวมีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริการขยายตัวดีตามไปด้วย ส่วนกลุ่มงานสื่อสิ่งพิมพ์ที่มีอัตราการเติบโตลดลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะคนเริ่มถูกแทนที่ด้วยวิวัฒนาการของเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ต รวมถึงการใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีต่าง ๆ ในการบริโภคข่าวสารในชีวิตประจำวันมากขึ้นนั่นเอง” นางสาวแสงเดือน กล่าว

          สำหรับสถานการณ์ผู้ว่างงานของไทยประจำเดือนธันวาคม 2559 มีจำนวนกว่า 3 แสนคน อาจเป็นตัวเลขที่ดูค่อนข้างน่าตกใจ แต่ภาวะการว่างงานจะเป็นไปตามกลไกของระบบเศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งเมื่อตลาดความต้องการแรงงานในประเทศไทยเปลี่ยนไป ตำแหน่งงานที่เป็นที่ต้องการของตลาดย่อมเปลี่ยนตามไปด้วย

          “ไม่อยากให้คนที่กำลังมองหางานรู้สึกวิตกกังวลจนเกินไป เพราะบางตำแหน่งงานมีแนวโน้มเติบโตและเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้น เช่น กลุ่มงานขายที่มีจำนวนความต้องการแรงงานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ฉะนั้น หากแรงงานไทยมีการพัฒนาด้านทักษะที่เกี่ยวข้องกับสาขาอาชีพที่กล่าวมา รวมถึงติดตามความต้องการของตลาดแรงงานอยู่ตลอดเวลาก็จะช่วยเสริมโอกาสในการได้งานที่มากขึ้นเช่นกัน” นางสาวแสงเดือน กล่าวในที่สุด

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้