จีพีเอสกับการลดอุบัติเหตุบนท้องถนน : ประสบการณ์ของญี่ปุ่นในการสร้างถนนปลอดภัย

1472 จำนวนผู้เข้าชม  | 

          องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ประชากรไทยทุก 1 แสนคน จะมีคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนถึง 36.2 คน (ข้อมูล ณ ปี 2558) สูงสุดเป็นอันดับ 2 ของโลก หรือมีคนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์เฉลี่ยวันละ 30 คน (สวีเดนมีอัตราต่ำที่สุดในโลกที่เฉลี่ยวันละ 2.8 คน) และเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน จนกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลต้องทุ่มเทงบประมาณและเวลาเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

          ข้อเท็จจริงเหล่านี้ หลายคนอ่านแล้วอาจจะไม่ได้คิดอะไร หรือคิดแล้วก็ผ่านเลยไปเหมือนว่าเป็นเรื่องไกลตัว แล้วหันไปสนใจกับกิจกรรมตรงหน้า แต่อารมณ์และความรู้สึกของคนที่เคยประสบอุบัติเหตุด้วยตัวเองจนได้รับบาดเจ็บ พิการ หรือสูญเสียคนที่รักไปจากอุบัติเหตุนั้นกลับแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง อุบัติเหตุบนท้องถนนและการสูญเสียที่น่ากลัวที่ไม่คาดคิดสามารถเกิดขึ้นกับเรา และคนที่เรารักได้เสมอ

          ในประเทศไทยมีมาตรการป้องกันและลดอุบัติทั้งทางตรงและทางอ้อมมากมายที่รัฐบังคับใช้เป็นกฎหมาย ขณะที่ภาคเอกชนก็เพิ่มความเข้มงวดในการคัดเลือกผู้ขับขี่ยานพาหนะในสังกัด ไปจนถึงการติดตามและเก็บข้อมูลพฤติกรรมการขับขี่ของคนขับ เพื่อวัตถุประสงค์ในหลาย ๆ ด้าน เช่น ประหยัดต้นทุนเชื้อเพลิงเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง ป้องกันการสูญหายของสินค้า หรือยานพาหนะ รวมทั้งเพื่อช่วยลดโอกาสและความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งสร้างความสูญเสียทางธุรกิจ ชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลที่สาม แต่ดูเหมือนว่า เรายังต้องอยู่กับความจริงที่ว่า อุบัติเหตุบนท้องถนนยังอยู่ในระดับที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยงานวิจัยในปี 2552 พบว่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจากอุบัติเหตุบนท้องถนนสูงถึงกว่า 60,000 ล้านบาทต่อปี

          คนไทยยุคนี้คุ้นเคยกับประเทศญี่ปุ่นมากขึ้น ไม่เพียงแต่ใช้สินค้ามากมายที่เป็นสัญชาติญี่ปุ่น แต่ทุกวันนี้ญี่ปุ่นคือแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของคนไทย และสิ่งหนึ่งที่เราสัมผัสได้ถึงความเป็นวัฒนธรรมของชาวญีปุน คือคนญี่ปุ่นมีวินัยในทุก ๆ เรื่อง รวมถึงความมีวินัยบนท้องถนนทั้งการขับรถ การใช้ความเร็วตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด การจอดรถ และมารยาทในการขับขี่

การขับขี่ปลอดภัยเกิดขึ้นได้อย่างไร?

          ย้อนหลังไปในยุคทศวรรษ 1950 หรือราว 57 ปีก่อน เศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มฟื้นตัวหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคมากขึ้นทำให้มีการผลิตและการขนส่งสินค้าและบริการมากขึ้นตามสัดส่วน ปริมาณยานพาหนะเพื่อการพาณิชย์ รถโดยสาร และรถยนต์ส่วนตัวเพิ่มมากขึ้น สิ่งที่ตามมา คือปริมาณและอัตราการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนเพิ่มสูงขึ้นมาก ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากจนเกิดความวิตกกังวลไปทั่วจนรัฐบาลญี่ปุ่นต้องลงมาแก้ปัญหาอย่างจริงจัง

          สิ่งที่ภาครัฐทำในเวลานั้น คือการออกระเบียบให้ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางถนน ผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะ และแท็กซี่ กำหนดมาตรการในการป้องกันและลดอุบัติเหตุอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม ด้วยการนำระบบรวบรวมและเก็บข้อมูลการขับขี่อย่างง่าย ๆ ที่เรียกว่า ‘ทาโคกราฟ’ (Tachograph) ซึ่งผู้คิดค้นและผลิต คือบริษัทยาซากิ คอร์ปอเรชั่น

          การเก็บข้อมูลในระบบอนาล็อกยุคนั้น ทำงานโดยเก็บตัวเลขพฤติกรรมการขับขี่ลงในกระดาษที่บรรจุไว้ในเครื่องตรวจจับที่ติดตั้งไว้ในรถแต่ละคัน โดยผู้ประกอบการหรือบริษัทแต่ละแห่งจะรับผิดชอบการเก็บรวบรวมและ “ถอดรหัส” ข้อมูลด้วยตัวเองโดยไม่มีการควบคุมดูแลใด ๆ ทั้งสิ้นจากราชการทั้งในระดับรัฐบาลกลาง จังหวัด หรือเมือง พูดง่าย ๆ ว่า เป็น “ระเบียบ” ที่ต้องปฏิบัติตาม และภาคเอกชนดูแลรับผิดชอบนำไปปฏิบัติให้เกิดผลตามที่ตกลงกัน โดยหามาตรการต่างๆเองตามความเหมาะสม โดยที่ภาครัฐไม่ต้องส่งเจ้าหน้าที่มาบังคับใช้ ไม่ต้องมาไล่จี้ว่าทำหรือไม่

          ทุกบริษัทมีพนักงานระดับผู้จัดการรับผิดชอบในการรวบรวม และอ่านข้อมูลพฤติกรรมการขับขี่ของคนขับแต่ละคน และทำรายงานประเมินเป็นประจำทุกวัน หากมีการละเมิด เช่น ขับรถเร็ว ใช้ความเร็วไม่เหมาะสม จะมีมาตรการลงโทษต่อไป ทั้งหมดนี้โดยบริษัทดำเนินการเองโดยสมัครใจด้วย “สำนึก” ว่า บริษัทมีความรับผิดชอบในการป้องกันและลดอุบัติเหตุ เพื่อไม่ให้มีคนเจ็บและตาย

          มาตรการนี้ที่ทำด้วยความสำนึกรักบ้านเกิดและความห่วงใยของภาคเอกชนต่อความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนด้วยกันส่งผลให้จำนวนอุบัติเหตุลดลงอย่างมาก (เท่าไร?)

          ในช่วงปี 2542 ซึ่งเป็นยุคดิจิตอลที่โทรศัพท์มือถือและระบบออนไลน์มีการนำมาใช้อย่างแพร่หลาย แต่ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งอุปกรณ์สื่อสารจำนวนมากในรถบรรทุก รถโดยสาร และรถแท็กซี่ บวกกับอัตราค่าบริการที่โครงข่ายรายเดือนที่สูง ทำให้เทคโนโลยีการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์พฤติกรรมการขับขี่ในประเทศญี่ปุ่นพัฒนาไปอย่างช้าๆ และบริษัทยาซากิได้ตอบสนองความต้องการของตลาดโดยการพัฒนาระบบดิจิตอล ทาโคกราฟ เป็น “การ์ดความจำ” ที่ไม่เชื่อมต่อกับระบบใดๆ แทนกระดาษ เพื่อเก็บข้อมูลการขับขี่ อัตราการเร่ง การใช้ความเร็ว การแซงและเปลี่ยนเลน อัตราการสิ้นเปลืองน้ำมัน ฯลฯ มาแปรเป็น “คุณภาพ” ของการขับขี่ และให้คะแนนผู้ขับขี่แต่ละราย ผู้บริหารของบริษัททุกแห่งถือเป็นหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบและดูแลเรื่องมาตรฐาน คุณภาพการขับขี่ และควบคุมยานพาหนะอย่างจริงจังและตรงไปตรงมา

          ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา ค่าบริการโครงข่ายลดลง และระบบแทรฟฟิค จีพีเอส เริ่มมีการใช้งานอย่างแพร่หลายในประเทศญี่ปุ่น ระบบเก็บข้อมูลออนไลน์เชื่อมโยงกับอินเตอร์เน็ตจึงมีติดตั้งในรถบรรทุก รถโดยสาร และรถแท็กซี่เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน ตัวเลขที่เปิดเผยโดยบริษัทยาซากิ ระบุว่า ปัจจุบันญี่ปุ่นมีรถที่ติดทาโคกราฟประมาณ 1.4 ล้านคัน ส่วนรถที่ติดตั้งดิจิตอล ทาโคกราฟ ซึ่งเป็นรุ่นที่ทันสมัยกว่ามีประมาณ 470.000 คัน โดยแบรนด์ของระบบดิจิตอล ทาโคกราฟที่ได้รับความนิยมสูงในญี่ปุ่น คือ ยาซากิ มีส่วนแบ่งตลาด 49%

          ในปี 2559 ตัวเลขผู้เสียชีวิตบนท้องถนนในประเทศญี่ปุ่นไม่ถึง 4 พันคน ต่ำที่สุดในรอบ 67 ปี

ต้นแบบญี่ปุ่นสู่ไทย โมเดล “บริษัทที่เป็นที่ต้องการของสังคม”

          ไทย ยาซากิ เน็ตเวิร์ค เซอร์วิส ในเครือของยาซากิ คอร์ปอเรชั่น (ก่อตั้งในปี 2472) มีประสบการณ์ด้านการขับขี่ปลอดภัยและประหยัด ในประเทศญี่ปุ่นมากกว่า 50 ปี ผสมผสานกับความตั้งใจที่จะสร้างจิตสำนึกของการ “ขับขี่ปลอดภัย” ให้แพร่หลายในประเทศไทย จึงให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยของเด็ก ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีค่าของประเทศ ด้วยการพัฒนาฟังก์ชั่นใหม่ภายใต้แนวคิด Keep The Children Safe ใส่ลงไปในระบบจีพีเอส “อิ๊คคิวซัง” (iQsan) และเริ่มใช้งานจริงในไทยตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2559 โดยประเทศไทยเป็นตลาดแรกของกลุ่มยาซากิ ก่อนที่จะทำตลาดในมาเลเซียและอินโดนีเซียต่อไป

 


          จีพีเอสอิ๊คคิวซังเป็นระบบติดตามสำหรับรถบรรทุกและรถโดยสารโดยเฉพาะ การเก็บข้อมูลต่างๆ เช่น ความเร็ว รอบเครื่อง องศาคันเร่ง อัตราการฉีดน้ำมัน ตำแหน่งของรถ จะทำให้รู้สถานะของรถและคนขับ สามารถวิเคราะห์ลักษณะการขับขี่ได้แบบเรียลไทม์ ในขณะที่ฟังก์ชั่นใหม่ภายใต้แนวคิด Keep The Children Safe คือการนำเอาตำแหน่งของโรงเรียนประถมและอนุบาล ในเขตกรุงเทพฯ ชั้นในกว่า 392 แห่ง มาบันทึกในระบบ เมื่อรถวิ่งผ่านบริเวณดังกล่าวในช่วงเวลาที่กำหนด ระบบจะทำการแจ้งเตือนเป็นภาษาไทยเพื่อให้คนขับเพิ่มความระมัดระวังการขับขี่มากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุแก่เด็กนักเรียนและผู้ใช้รถใช้ถนนในบริเวณดังกล่าวได้

          ระบบจีพีเอสอิ๊กคิวซังอาจเทียบเคียงได้กับจีพีเอสบางรุ่นที่มีขายในตลาดบ้านเรา แต่ระบบของยาซากิเป็นระบบปิด และมีการเชื่อมต่อระหว่างเครื่องที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า และอนุญาตให้ยาซากิสามารถใช้ข้อมูลในอีซียูของเครื่อง เพื่อนำมาพิจารณาในการให้คำแนะนำกับลูกค้า และใช้ในการพัฒนาเพื่อปรับปรุงระบบให้ดีขึ้นในอนาคต สำหรับ Server ของผู้ใช้งานสามารถเก็บสถิติข้อมูลพฤติกรรมการขับรถได้ย้อนหลัง 1 ปี และยาซากิเก็บและค้นคืนข้อมูลย้อนหลังได้ 2 ปี ยังมีบริการให้คำปรึกษาและพัฒนาทักษะการขับขี่ (Driving Consulting Service) ระยะเวลา 1-2 วัน เพื่อให้การขับขี่ปลอดภัยลดอุบัติเหตุซึ่งเป็นภารกิจที่สำคัญที่ผู้ประกอบการควรมีต่อสังคม ลดค่าใช้จ่ายทางธุรกิจและลดต้นทุนในการสูญเสียโอกาสด้วย

          ขณะที่ภาครัฐออกก.ม.กำหนดให้รถโดยสารสาธารณะ รถลางจูง (รวมรถตู้โดยสารจดทะเบียนจำนวนกว่า 10,000 คัน) และรถบรรทุกขนาดใหญ่ (10 ล้อขึ้นไป) ที่จดทะเบียนใหม่ต้องดำเนินการติดตั้งจีพีเอสภายในรอบปีภาษี 2560 และ 2561 ตามลำดับ ส่วนรถบรรทุกส่วนบุคคลให้ดำเนิการให้แล้วเสร็จในรอบปีภาษี 2560 สำหรับตัวเลขของกรมการขนส่งทางบก ณ เดือนธันวาคม 2559 ระบุว่า มีรถบรรทุกถึงประมาณ 1,050,000 คัน รถโดยสารสาธารณะ 157,000 คัน รถแท็กซี่ 95,000 คัน ในปัจจุบันมีรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่ติดตั้งจีพีเอสแล้วประมาณ 130,000 คัน โดยในจำนวนนี้เป็นรถบรรทุกขนาดใหญ่ “Hino” ที่ใช้จีพีเอส อิ๊กคิวซัง 4,000 คัน เพิ่มเติมจากยอดเดิมที่ติดตั้งจีพีเอสแล้วอีกเกือบ 30,000 คัน

 


          ปัจจุบันมีจีพีเอสสำหรับรถโดยสารและรถบรรทุกมีจำหน่ายในประเทศ 60 รุ่น จากกว่า 30 บริษัท โดยเครื่องนำเข้าจากจีน หรือเครื่องประกอบไทยใช้ชิ้นส่วนจีนมีราคาที่ระดับ 10,000 บาท จีพีเอสคุณภาพแบรนด์ไทยราคาเฉลี่ยที่ 15,000 บาท จนถึงแบรนด์ต่างประเทศซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นของญี่ปุ่น มีราคาต่อเครื่อง 30,000-40,000 บาท

          ขณะที่กรมการขนส่งทางบกได้ตั้งเป้าหมายลดผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้ต่ำกว่า 10 คนต่อประชากร 100,000 คน ให้ได้ภายในปี 2563 หนทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไร?

          “การจะพึ่งข้อมูลตัวเลขจากจีพีเอสยังไม่พอที่จะลดอุบัติเหตุบนท้องถนน ยังไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพ” ผู้บริหารของไทย ยาซากิ กล่าวทิ้งท้าย

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้