“มรดกพระร่วง เฟส 2” อัตลักษณ์เด่นสินค้าที่ระลึกประจำท้องถิ่น

1109 จำนวนผู้เข้าชม  | 


           พื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร ถือเป็นเมืองที่ได้รับการประกาศเป็น “เมืองมรดกโลก” มีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ทั้งยังมีศิลปวัฒนธรรมไทยที่สำคัญ ผนวกกับศักยภาพของงานช่างฝีมือผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น ทรงคุณค่า ภูมิปัญญา สะท้อนถึงศิลปวัฒนธรรมแห่งเมืองพระร่วง และยังมีช่องว่างทางการตลาดที่จะสามารถพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น และขยายตลาดสู่วงกว้างทั้งในและต่างประเทศ

          องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ “อพท.” จึงจัดทำโครงการพัฒนาสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร โดยร่วมมือกับดีไซเนอร์ระดับแนวหน้าและผู้ประกอบการท้องถิ่น พัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ภายใต้ชื่อแบรนด์ “มรดกพระร่วง” เมื่อเดือนกันยายน 2558 เพื่อใช้ขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์ตามยุทธศาสตร์รุกขยายตลาดสู่เมืองให้ครอบคลุมทั้งในประเทศและต่างประเทศมากยิ่งขึ้น โดยใช้ตราสัญลักษณ์ หรือ Brand Identity ด้วยเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ และ 3 ห่วงอินฟินิตี้ สื่อแทนคุณค่าที่ทั้งสามพื้นที่มีร่วมกันคือ ประวัติศาสตร์การก่อร่างสร้างเมืองของคนไทยที่มีสุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร เป็นแผ่นดินแห่งกษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงที่มีการสืบทอดศาสตร์และศิลป์กันมาอย่างยาวนานกว่า 700 ปี

          โครงการพัฒนาสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร จะชูแบรนด์ “มรดกพระร่วง” จึงถือเป็นดีไซน์ร่วมสมัยใหม่ที่สร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มแก่ตัวผลิตภัณฑ์นำร่องด้วย 4 กลุ่มผลิตภัณฑ์แรก ด้วยคอลเลกชั่นชุด “เสน่ห์ที่ซ่อนเร้น” ประกอบด้วย 1.เครื่องสังคโลก 2.เครื่องทอง-เครื่องเงิน 3.ผาซิ่นตีนจก และ 4.งานพุทธศิลป์ โดยในปีแรกที่เริ่มดำเนินการได้รับความสนใจจากกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ พร้อมยอดสั่งซื้อสินค้าประมาณ 6.84 แสนบาท



          ในปี 2560 อพท. จึงต่อยอดโครงการด้วยการเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการเป็น 18 ราย พร้อมความหลากหลายของสินค้าเพิ่มขึ้นอีก 2 กลุ่มผลิตภัณฑ์ด้วยคอลเลกชั่นชุด “อุดมสุข” คือ 1.ประเภทผลิตภัณฑ์เด่นผลิตจำนวนจำกัด 2.ประเภทสินค้าที่ระลึกทำมือ (แฮนด์เมด) รวมเป็น 40 รูปแบบ เช่น พุทธศิลป์เชิงธูปและเชิงเทียน, กระดุมและต่างหูดินเผา, เครื่องประดับจากผ้าทอ, กระดิ่งอักษร จานรองแก้วและถาดใส่ของจากฝุ่นผงไม้สัก, ภาชนะของใช้ตกแต่งบ้าน

          นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ รองผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) ให้คำนิยามถึงแบรนด์ “มรดกพระร่วง” อย่างน่าสนใจว่า เป็น “มรดกกินได้” นั่นคือ “ชุมชน” ในพื้นที่ต้องได้รับประโยชน์จากการเป็น “เมืองมรดกโลก” ด้วยการมีรายได้เสริมที่จับต้องได้ โดย อพท. เชื่อมโยงช่องทางการตลาด สนับสนุนให้มีการจัดตั้งจุดจำหน่ายสินค้าแบรนด์ “มรดกพระร่วง” ในราคาที่จับต้องได้ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวและประสบการณ์ที่ดีสู่กลุ่มนักท่องเที่ยว



          การจำหน่ายสินค้าที่ระลึกแบรนด์ “มรดกพระร่วง” ยึดหลักกิจการเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise ลดการพึ่งพิงจากหน่วยงานภาครัฐและมิได้มุ่งหวังกำไรสูงสุด แต่เป็นการเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน โดยรายได้หลังหักต้นทุนคืนไปให้ผู้ผลิตแล้วจะมีส่วนต่าง 25% โดยผู้จำหน่ายจะได้รับ 20% และอีก 5% จะเป็นเงินกองกลางสำหรับใช้ในกิจกรรมประชาสัมพันธ์สินค้าและการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ร่วมกัน

          “ในปี 2560 อพท. ยังเริ่มตั้งจุดจำหน่ายสินค้าเป็น 4+1 แห่ง ประกอบด้วย 3 แห่งใน อ.ศรีสัชนาลัย ได้แก่ บ้านทองสมสมัย ร้านต่อเงินต่อทอง และร้านสุนทรีผ้าไทย และ 1 แห่งที่ศูนย์บริการข้อมูลในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร รวมถึงการจัดร้านสัญจรในช่วงเทศกาลต่างๆ ของ อ.เมืองสุโขทัย โดยตั้งเป้ายอดขายรวม 2 ล้านบาทและเพิ่มเป็น 4 ล้านบาทในปี 2561 พร้อมคาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวจังหวัดสุโขทัยมากกว่า 1.5 ล้านคนต่อปี และมากกว่า 1 ล้านคนต่อปีในจังหวัดกำแพงเพชร” นายทวีพงษ์ กล่าว

          ในฐานะผู้ผลักดันและขับเคลื่อนแบรนด์ “มรดกพระร่วง” อพท. จึงตั้งเป้าหมายสร้างการรับรู้ทั้งแบรนด์สินค้าและแบรนด์แหล่งท่องเที่ยว (Destination Brand) ให้ตรงใจกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ อันจะนำมาซึ่งการต่อยอดแนวความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้ผลิตสินค้าที่มีอัตลักษณ์ รวมถึงเอกลักษณ์และความหลากหลาย ตลอดจนมีการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้