779 จำนวนผู้เข้าชม |
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ร่วมกับสภาสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (สสวทท.) จัดกิจกรรมเสวนา "คุยกัน...ฉันวิทย์" เพื่อสร้างความรู้ความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในหัวข้อ "วิกฤตสิ่งแวดล้อมไทย มหันตภัยใกล้ตัว" ณ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. อาคารจามจุรีสแควร์ โดยมี นายสถาพร ด่านขุนทด ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ช่องข่าว 3 มิติ ดำเนินรายการ โดยผู้บริหารสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยชี้มนุษย์เป็นสาเหตุสำคัญทำโลกเปลี่ยนแปลง ส่งผลกระทบต่อมิติความมั่นคงทั้งด้านสิ่งแวดล้อม อาหารและเศรษฐกิจ ด้านนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยบูรพา มอง "มหาสมุทร-ทะเล" คือ ทางรอดสำหรับมนุษย์โลกในอนาคต หลังจากพึ่งพามหาสมุทรมหาศาลอยู่แล้วในปัจจุบัน ดังนั้นต้องเร่งแก้ปัญหาและร่วมกันดูแลรักษามหาสมุทรโลกไว้
ศาสตราจารย์ ดร.เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า เดิมการเปลี่ยนแปลงบนโลกมีสาเหตุมาจากธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ แต่การเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันมีทิศทางที่แย่ลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกิดจากปัจจัยขับเคลื่อนที่มาจากมนุษย์เป็นสำคัญโดยเฉพาะ การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรโลกและการพัฒนาบนฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดการขยายตัวของกิจกรรมต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว นำมาซึ่งแรงกดดันต่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เช่น มลพิษทางอากาศเพิ่มขึ้น คุณภาพของน้ำแย่ลง รวมถึงความเสื่อมโทรมของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง
ทั้งนี้ สถานภาพของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมลงทั้งปริมาณและคุณภาพนั้นจะส่งผลกระทบต่อมิติความมั่นคงโดยรวม ทั้ง 1) ด้านสิ่งแวดล้อม ผลจากมีการใช้ทรัพยากรเกินขีดความสามารถในการรองรับ 2) ด้านอาหาร บทบาทของระบบนิเวศในทะเลที่เป็นแหล่งผลิตอาหารสำคัญของมนุษย์ลดลงไป เช่น แนวปะการัง หญ้าทะเล และป่าชายเลน และ 3)ด้านเศรษฐกิจ มูลค่าที่ได้จากการใช้ประโยชน์บนฐานทรัพยากรลดลง นอกจากนี้ยังมีผลกระทบด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น สุขภาพ บุคคล ชุมชนและการเมืองอีกด้วย
สำหรับการแก้ไขปัญหาในอนาคตนั้น การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำจะต้องมีแนวการพัฒนาอย่างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยอาจจะนำหลักการพัฒนาเศรษฐกิจสีน้ำเงินมาประยุกต์ใช้กับการพัฒนาประเทศ ซึ่งหมายถึงการพัฒนาที่ทำให้ของเสียเป็นศูนย์ (zero waste) โดยการใช้นวัตกรรมเข้ามาในขบวนการผลิต เพื่อให้เกิดการพัฒนาบนฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนต่อไป
การอยู่รอดในโลกอนาคตจึงเป็นสิ่งท้าทาย ซึ่ง ดร.วศิน ยุวนะเตมีย์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี ได้เสนอแนะว่า "มหาสมุทร...เป็นแหล่งทรัพยากรแหล่งสุดท้ายของโลก" เป็นแหล่งทรัพยากรที่น่าจะใช้ได้ไม่มีวันหมด ปัจจุบัน 60% ของประชากรมนุษย์ อาศัยอยู่ในเขต 100 กิโลเมตรจากชายฝั่งทะเลอยู่แล้วและปัจจัยในการดำรงชีวิตที่สำคัญ ๆ มาจากทะเลและมหาสมุทร อาทิ 50-70% ของปริมาณก๊าซออกซิเจนในโลกมาจากมหาสมุทร การเป็นแหล่งน้ำที่ใช้ได้ไม่มีวันหมด ไม่จำกัดฤดูกาล เป็นแหล่งอาหาร แหล่งโปรตีนที่สำคัญ
อย่างไรก็ดีประชากรทั่วโลกจำเป็นต้องช่วยกันดูแลรักษาทะเลและมหาสมุทรเพิ่มขึ้น เพราะกิจกรรมของมนุษย์ทุกวันนี้ทำร้ายทะเลและทรัพยากรในทะเลอย่างหนัก ซึ่งมีข้อมูลมากมายที่ประชากรต้องตระหนักและร่วมกันแก้ปัญหา เช่น กว่า 40 % ของมหาสมุทร กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากกิจกรรมของมนุษย์ ทั้งจากการประมง การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่ง ของเสียจากการเดินเรือ มีขยะพลาสติกกว่า 5 ล้านล้านชิ้น น้ำหนักกว่า 250,000 ตันปนเปื้อนอยู่ในทะเล มีถุงพลาสติกที่มนุษย์ผลิตและนำมาใช้กลายเป็นสิ่งที่ต้องใช้เงินทุนมหาศาลในการจัดการ
นอกจากนี้ ยังพบว่า มีพื้นที่เพียง 3.4% ของทะเลและมหาสมุทรที่มีการดูแลปกป้อง และมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม 90% ของปลาทะเลที่มีขนาดใหญ่ กำลังสูญหายไปจากการทำการประมงเกินขนาด หรือเราจับปลาออกจากทะเลมากเกินกว่าที่ธรรมชาติจะผลิตคืนได้ทัน ยกตัวอย่าง ฉลามถูกฆ่ากว่า 100 ล้านตัวต่อปี เพราะมนุษย์ต้องการบริโภคครีบของมัน เป็นต้น ปัญหาเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทั่วโลกจะต้องร่วมมือกันแก้ไขอย่างจริงจัง