McLaren 570S Spider 570 แรงม้า ในเวอร์ชั่นเปิดหลังคา

1641 จำนวนผู้เข้าชม  | 

          แม้ McLaren 570S Spider จะใช้พื้นฐานร่วมกับ McLaren 570S Coupe รวมทั้ง McLaren 650S ซึ่งป็นเวอร์ชั่นต่อยอดจาก MP4-12C (Pure McLaren รุ่นแรก) แต่ McLaren การันตีว่า ซูเปอร์คาร์เปิดหลังคาโมเดลล่าสุดจากค่ายตน จะมีความสดใหม่ถึง 30% เพราะใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตขึ้นมาสำหรับ 570S Spider (และ 570S Coupe) โดยเฉพาะ รถสมรรถนะสูงทุกรุ่นข้างต้น ล้วนเป็นซูเปอร์คาร์สัญชาติอังกฤษแท้ ๆ ที่แรงสมบูรณ์แบบมาจากโรงงาน



          570S Spider หรือ 570S เวอร์ชั่นเปิดหลังคา ใช้โครงสร้างหลังคาแบบ ‘ฮาร์ดท็อป’ เช่นเดียวกับ 650S และ 675LT Spiders การเปิดหรือปิดหลังคาแข็ง ใช้ระบบกลไกที่ควบคุมด้วยไฟฟ้า ผู้ขับกดปุ่มแล้วรอเพียง 15 วินาที ชุดหลังคาก็สามารถกางหรือเก็บได้ตามความต้องการ นับเป็นทางเลือกเพิ่มเติม สำหรับลูกค้า McLaren ที่นิยมรับสายลม และแสงแดด



          เวอร์ชั่นแรงอย่าง McLaren 650S ใช้เครื่องยนต์ที่โมดิฟลายต่อจาก MP4-12C เป็นเครื่องยนต์รหัส ‘M838T’ ขณะที่ 570S Spider ถูกลดดีกรีความแรงลงมาเล็กน้อย เพื่อลดระดับการปล่อยมลพิษ และรองรับการใช้งานในชีวิตประจำวันได้ลงตัวยิ่งขึ้น ใช้เครื่องยนต์รหัส ‘M838TE’ เป็นขุมพลัง V8 ขนาด 3.8 ลิตร (3,799 ซีซี) ตัวเครื่องยนต์พัฒนาร่วมกับบริษัทพันธมิตรนาม Ricardo ใช้อะลูมินัมอัลลอยทั้งเสื้อสูบและฝาสูบ ระบบเพลาราวลิ้นแบบ DOHC 32 วาล์ว พร้อมระบบ Dual VVT (Variable Valve Timing) หรือวาล์วแปรผันทั้งฝั่งวาล์วไอดีและวาล์วไอเสีย น้ำหนักทั้งบล็อกอยู่ที่ 199 กิโลกรัม

          เครื่องยนต์ V8 อัพพลังด้วย Twin-turbo โดยเทอร์โบแต่ละตัว จะรับไอเสียจากท่อร่วมไอเสียแต่ละฝั่ง อากาศที่ผ่านการเพิ่มแรงดันจากเทอร์โบ จะถูกส่งไประบายความร้อนที่อินเตอร์คูลเลอร์แบบฝั่งใครฝั่งมัน ก่อนส่งอากาศอัดความหนาแน่นสูง ไปร่วมตัวกันที่ท่อร่วมไอดี รอผสมกับละอองน้ำมันเชื้อเพลิงตามจังหวะการจุดระเบิดต่อไป ขุมพลัง ‘M838TE’ ของ 570S Spider ผลิตแรงม้าได้ 570 PS ที่ 7,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 600 Nm ที่ 5,000-6,500 รอบ/นาที แรงม้าและแรงบิดทั้งหมดจะถูกส่งผ่านเกียร์ ‘คลัตช์คู่’ 7 สปีด เพื่อไปขับเคลื่อนล้อคู่หลัง

          จุดแข่งของ 570S Spider หนีไม่พ้นเรื่องฟีลลิ่งและแฮนด์ลิ่ง อันเป็นผลลัพธ์ที่บ่งชี้ถึงศักยภาพในการพัฒนาแชสซีได้เป็นอย่างดี โครงสร้างท่อนหลักเป็นส่วนของห้องโดยสาร มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า ‘Carbon Fibre MonoCell II’ ใช้คาร์บอนไฟเบอร์ชิ้นใหญ่ ที่ผลิตขึ้นจากกรรมวิธี RTM (Rasin Transfer Moulding) ทั้งชุดมีน้ำหนักเพียง 75 กิโลกรัม เบากว่าการใช้โครงสร้างอะลูมีเนียมราว 25%



          ท่อนกลางใช้ MonoCell ขณะที่โครงสร้างท่อนหน้าและท่อนหลังเป็นอะลูมิเนียม ซึ่งทำหน้าที่เป็นจุดยึดให้กับอุปกรณ์ต่างๆ อาทิ เครื่องยนต์ ระบบส่งกำลัง และช่วงล่างแบบปีกนกคู่ทั้ง 4 ล้อ โดยโครงสร้างของระบบกันสะเทือนยังคงเป็นอะลูมิเนียมเพื่อช่วยน้ำหนักใต้สปริง ช่วงล่างของ 570S Spider จัดเป็น Adaptive Suspension หรือกันสะเทือนที่ปรับการตอบสนองได้ตามรูปแบบการขับขี่



          นอกจากโครงสร้างคาร์บอนไฟเบอร์แล้ว ไฮไลท์ของซูเปอร์คาร์จาก McLaren ยังมีในส่วนของแอร์โร่ไดนามิค ซึ่งทีมวิศวกรให้ความสำคัญเป็นพิเศษ จาก Know-how ด้านอากาศพลศาสตร์ของรถ F1 ที่ McLaren เชี่ยวชาญ เมื่อเทียบกับ 570S Coupe โมเดลเปิดหลังคา 570S Spider จะใช้ปีกหลัง (Rear Spoiler) ยกสูงขึ้นอีก 12 มิลลิเมตร เพื่อช่วยเพิ่มแรงกดท้ายรถในความเร็วสูง



          570S Spider ทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ด้วยเวลา 3.2 วินาที ทะลุหลัก 200 กม./ชม. ใช้เวลา 9.6 วินาที ท็อปสปีดอยู่ที่ 328 กม./ชม. สมัยประจำการใน 570S Coupe เครื่องยนต์บล็อกนี้ปล่อย CO2 ในระดับ 258 กรัม/กิโลเมตร เมื่อมาอยู่ใน 570S Spider ลดลงมาที่ 249 กรัม/กิโลเมตร ปิดท้ายด้วยอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ย 9.35 กิโลเมตร/ลิตร

ภาพ : McLaren Automotive
เรียบเรียง : Pitak Boon

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้