ศิลปะการชงชา “ญี่ปุ่น”

13285 จำนวนผู้เข้าชม  | 

          ล่าสุด “มาดามลอย” ได้ไปญี่ปุ่นอีกรอบกับค่ายรถโตโยต้า และหนึ่งในกิจกรรมการเยือนญี่ปุ่นครั้งนี้คือเรียนรู้วิธีการชงชา และการผสมชาแบบญี่ปุ่น Tea Ceremony & Tea Blend Experience  ซึ่งหาดูได้ยากและโอกาสที่จะเข้าไปชมก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ กัน

          ครั้งนี้เลยอยากมาเล่าประสบการณ์ที่ได้รับมาแบ่งปัน เพราะกรรมวิธีมันค่อนข้างเยอะมาก กว่าจะได้ดื่มชาสักถ้วยหนึ่ง ที่สำคัญเขามองว่าวิธีการชงชามันคือ ศิลปะขั้นสูงที่ทรงคุณค่า

         ปัจจุบัน การดื่มชาเรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่น ตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งเข้านอนเลยก็ว่าได้ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของญี่ปุ่น ที่รับเข้ามาจากจีน แล้วดัดแปลงให้เข้ากับรสนิยมของตน จนกลายเป็นวัฒนธรรมของตนเองในที่สุด ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่มีความโดดเด่นและเป็นที่สนใจของคนทั่วโลก

          ชาญี่ปุ่นมีความพิเศษกว่าชาติอื่น ๆ เนื่องจากความพิถีพิถันและเข้มงวดตั้งแต่การคัดเลือกใบชา จนไปถึงขั้นตอนในการชงซึ่งเป็นพิธีสำหรับชนชั้นสูง จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของความสวยงามที่เรียบง่าย ซึ่งสื่อถึงสุนทรียศาสตร์ของชาวญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี โดยในกิจกรรมนี้ได้แบ่งออกเป็น 2 กิจกรรมย่อย ได้แก่ วิธีการคัดเลือกและผสมชา และพิธีการชงชา

 

ห้องที่จะทำการสาธิตวิธีชงชาให้เราได้ชมกัน

 

โต๊ะสำหรับชงชา

 

อุปกรณ์สำหรับชงชา

 

          ขั้นตอนแรก อาจารย์ก็บรรยายถึงวีธีการคัดเลือกชาและผสมชา ชาที่นิยมนำมาบริโภคมีทั้งหมด 3 แบบ ได้แก่ ’เซนฉะ’ (Sencha) เป็นชาที่มีรสชาติอ่อนที่สุดและแพร่หลายอย่างมาก เนื่องจากวิธีการปลูกและดูแลที่ง่าย ‘คาบุเซนฉะ’ (Kabusencha) เป็นชาที่จะมีรสชาติเข้มข้นขึ้นมาอีกนิด และวิธีการเก็บเกี่ยวและดูแลรักษายากกว่า เซนฉะ (Sencha) โดยจะต้องเอาตาข่ายมาคลุมใบชาทิ้งไว้ประมาณ 2 อาทิตย์ถึงจะสามารถเด็ดใบชาได้เพื่อรักษาคุณภาพจากแมลงและสภาพอากาศ สุดท้ายคือ ‘เกียวคุโระ’ (Gyokuro) เป็นใบชาคุณภาพที่ดีที่สุด และเป็นใบชาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของชาวญี่ปุ่น รสชาติจะเข้มที่สุดและมีการเก็บรักษาที่ใช้เวลานานที่สุด โดยใช้ตาข่ายคลุมใบชาไว้เป็นเวลาประมาณ 1 เดือนถึงจะสามารถเด็ดใบชาได้ ทั้งนี้ วิธีการชงชาในแต่ละแบบก็จะแตกต่างกันไปตามลักษณะของแต่ละใบชา ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิของน้ำ ปริมาณของน้ำ หรือจะเป็นระยะเวลาในการชง

 

อาจารย์กำลังสาธิต วิธีการชงชาให้ชม


ถ่ายภาพคู่กับอาจารย์

 

          ไฮไลท์สำคัญของกิจกรรมนี้คือ การได้ลองดื่มชาที่ผสมชาชนิดต่าง ๆ เพื่อให้ได้รสชาติที่แปลกใหม่และอร่อยมากยิ่งขึ้น และยังประสานคุณประโยชน์ที่แตกต่างกันของชาแต่ละชนิด เพื่อดีต่อสุขภาพที่ดียิ่งขึ้นของผู้ดื่ม

          ทางเจ้าหน้าที่ก็ทำการชงชาทั้ง 3 แบบให้ชิมก่อน หลังจากนั้นก็ผสมแบบแยกใบชา และแบบที่ผสมใบชา สลับไปมา ดื่มกันจนมึน 555 ทั้งนี้ เพื่อให้ทุกคนลองชิมว่าชอบรสชาติไหน และตอนหลังค่อยมาผสมเอง ตามรสชาติที่ตัวเองชอบ หลังจากนั้นพาเราไปอีกห้องหนึ่ง เพื่อชมพิธีการชงชาญี่ปุ่น

          พิธีการชงชานั้นในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “ซะโดะ” เป็นเอกลักษณ์ของประเทศญี่ปุ่นว่าด้วยการใช้เวลาอย่างสุนทรีย์ ประกอบด้วยการปรนนิบัติระหว่างการดื่มและการดื่มชา ชาที่นำมาใช้ชงนั้นจะต้องบดชาให้เป็นผงละเอียด เรียกว่า “มัทฉะ” นอกจากวัตถุดิบที่สำคัญนี้แล้ว ก็ยังมีอุปกรณ์อย่างอื่นอีกคือ ถ้วยชา ที่เกือบทุกบ้านจะเลือกใช้ถ้วยที่สวยงาม โชว์ศิลปะหรือความพิเศษเฉพาะตัว บางถ้วยมีคุณค่าเป็นมรดกตกทอดประจำตระกูลกันเลยทีเดียว

 

สังเกตถ้วยชา จะมีลวดลายที่สวยงาม

  

          พิธีการชงชาญี่ปุ่น มีลักษณะที่เป็นแบบแผนที่ได้พัฒนาภายใต้อิทธิพลของพุทธศาสนานิกายเซ็นซึ่งจุดประสงค์สามารถอธิบายหัวใจแท้จริงของพิธีชงชาได้ด้วยหลัก 5 ประการ คือ 1.ความเรียบง่าย  (Simplicity) 2.ความบริสุทธิ์ (Purity) 3.ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติอย่างลงตัว (Harmony)  4.ความสงบของจิตใจ (Tranquillity) 5.ความสง่างาม (Beauty)

          ขั้นตอนวิธีชงชาของญี่ปุ่นเริ่มจากเจ้าภาพตักชาเขียวป่น (Matcha) ลงในถ้วยชา (Chawan) จากนั้นตักน้ำร้อนจากหม้อต้มใส่ลงไป แล้วใช้ไม้สำหรับคนชา (Chasen) คนจนชาเป็นฟอง แล้วยกถ้วยชาส่งให้บรรดาแขก เมื่อแขกคนแรกรับถ้วยชาม ก็จะหันไปกล่าวขอโทษแขกคนถัดไปที่ตนเป็นผู้ดื่มชาก่อน แล้วหันไปคำนับเจ้าภาพเป็นการขอบคุณจากนั้นจึงยกถ้วยชาขึ้นดื่ม แสดงถึงความเคารพและให้เกียรติกันระหว่างกันซึ่งมีอิทธิพลต่อมารยาทของชาวญี่ปุ่นในลักษณะที่เป็นพื้นฐานในปัจจุบัน

 

อุปกรณ์การชงชา ผงชา 3 แบบ กาน้ำร้อน ตะแกรงสำหรับกรอง

 

ใส่ผงลงก่อน

 

ใส่น้ำร้อนลงไป

 

กรองให้เหลือน้ำใส ๆ ไม่มีเศษอะไรทั้งสิ้น

 

เตรียมเทให้ดื่ม

 

พร้อมเสิร์ฟ

 

สีของน้ำชา

 

          โดยปกติการดื่มชาจะต้องทานคู่กับขนมหวาน เรียกว่า ‘วากาชิ’ โดยจะเป็นขนมตามฤดูกาล เช่น ขนมโยกัน (Yokun) เป็นเจลลี่ถั่วแดงหวาน ขนมมันจู (Manju) คือซาลาเปาบ้านเรานั่นเอง ขนมซากุระโมชิ (Sakuramoshi) เป็นขนมที่ทำจากแป้งข้าวเหนียวไส้ถั่วแดงห่อด้วยใบซากุระหมักเกลือ แสดงถึงฤดูใบไม้ผลิ ขนมสึกิมิดังโกะ( Tsukimidan-go) เป็นขนมที่ทำจากแป้งข้าวเหนียว ใช้ในพิธีชมจันทร์ดั้งเดิม โดยจะต้องทานก่อนดื่มชา เนื่องจากขนมมีรสชาติค่อนข้างหวาน เมื่อดื่มชาที่มีรสชาติออกขมแล้ว จะให้รถสัมผัสที่ผสานกันอย่างลงตัวอันเป็นเอกลักษณ์

 

ขนมให้ทานก่อนดื่มชา

 

          วิธีดื่มชา คือ ยกถ้วยชาขึ้นมา ด้วยมือขวาและวางลงบนฝ่ามือข้างซ้าย หมุนถ้วยชาเข้าหาตัว หลังจากดื่มเสร็จ แล้วใช้ปลายนิ้วเช็ดขอบถ้วยชา และใช้ไคชิ (กระดาษรองขนม) เช็ดนิ้ว แต่องค์ประกอบที่สำคัญของพิธีชงชาไม่ใช้แค่การชงและการดื่มชา สิ่งสำคัญอยู่ที่การชื่นชมคุณค่าและความงามของสิ่งต่าง ๆ เช่น ถ้วยชา เครื่องใช้ในพิธีชงชา ชื่นชมความงามของบรรยากาศรอบ ๆ ตัวและการสื่อประสานใจระหว่างเจ้าบ้านและแขกผู้มาเยือน จึงเป็นสาเหตุที่ให้ค่อย ๆ จิบชาอย่างช้า ๆ นั่นเอง

 

เราต้องดื่มหลายถ้วย เพราะมี 3แบบ และเอา 3 แบบมาผสมกันอีก

 

 

          เดิมพิธีการชงชาจะปฏิบัติกันในวงสังคมชนชั้นสูง มีอุปกรณ์ที่มากมายและขั้นตอนที่ซับซ้อนและจะเกิดขึ้นภายในห้องพิธีชงชาเท่านั้น แต่ในปัจจุบัน ถูกลดทอนขั้นตอนพิธีการและสถานที่ลง เพื่อความสะดวกของเวลาและความเหมาะสมกับที่อยู่อาศัยของชาวญี่ปุ่น ซึ่งมักจะปฏิบัติเฉพาะในงานวันเกิด หรือเทศกาลสำคัญ ๆ ของชาวญี่ปุ่นเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ความงามและหลักการยังคงเป็นศิลปะขั้นสูงที่ทรงคุณค่า ซึ่งถูกเก็บรักษาและถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดและวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่นที่มีมาแต่โบราณ แม้เวลาจะผ่านล่วงเลยมานานแล้ว วิถีชีวิตนี้ยังคงสืบสานมาอย่างต่อเนื่องและประยุคเข้ากับโลกปัจจุบันอย่างลงตัว

 

กล่องด้านบนไว้เก็บชา ซึ่งใช้มาตั้งแต่สมัยโบราณ

 

ขยันเรียนกันมาก

 

          หลังจากที่ได้ลองดื่มชาทั้งแบบแยกใบชา และแบบที่ผสมใบชาแล้ว อาจารย์จะให้ทุกคนได้เลือกผสมใบชาที่เป็นสูตรเฉพาะของตัวเอง และเป็นสูตรที่ถูกใจตัวเองมากที่สุด และสามารถเลือกปริมาณของใบชาแต่ละประเภทได้ตามใจชอบ และแน่นอน ‘มาดามลอย’ ก็เลือกใบชาที่ตัวเองชอบ และขนกลับบ้านไปเป็นของที่ระลึกจากทริปในครั้งนี้ด้วย

 

เขาให้เราตักชาที่ชอบ จะผสมอย่างไรก็ได้ใน 3 แบบนี้ และเก็บกลับบ้าน

 

กล่องใส่ใบชา หลังจากเราเลือกสรรตามสไตล์ความชอบ ก็ห่อกลับเมืองไทยได้เลย

 

          ถือว่าเป็นประสบการณ์ใหม่และดีดี ของ ‘มาดามลอย’ ที่ได้เข้าถึงวัฒนธรรมดั้งเดิมของญี่ปุ่น อีกแขนงหนึ่ง หลังมาญี่ปุ่นหลายครั้ง...รู้สึกฟินสุดสุด .....

เรื่อง-ภาพ : มาดามลอย  

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้