วช. จับมือ 4 องค์กรหลัก วิจัยฐานข้อมูลยา จัดการระบบคลังยา และเวชภัณฑ์ในโรงพยาบาล

1412 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา องค์การเภสัชกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล และสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) จัดแถลงผลงานวิจัย และพิธีลงนามความร่วมมือ เรื่อง “ฐานข้อมูลยาและระบบบริหารจัดการคลังยาและเวชภัณฑ์ในโรงพยาบาล” 



                นางนิตยา พุทธโกษา ผู้อำนวยการกองบริหารแผนและงบประมาณการวิจัย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐจะมีการกำหนดรหัสยาขึ้นใช้เองมากกว่า1 รหัส เพื่อตอบวัตถุประสงค์ของแต่ละหน่วยงาน โดยไม่มีฐานข้อมูลกลางสำหรับเก็บรวบรวมข้อมูลยาซึ่งแต่ละหน่วยงานที่ออกรหัสจะมีฐานข้อมูลของตัวเองและมีรายการข้อมูลหลากหลาย ไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจนในการแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงข้อมูล รวมถึงไม่มีข้อมูลโลจิสติกส์ด้านการใช้ยาที่จะนำมาใช้ในการวิเคราะห์และการบริหารจัดการด้านสุขภาพ เช่น มีการใช้ยาหรือเวชภัณฑ์ทั่วประเทศแต่ละรายการเป็นปริมาณเท่าใด สมเหตุสมผลหรือไม่ เป็นยาที่แพทย์ พยาบาล เภสัชกรจ่ายให้ผู้ป่วยหรือเป็นยาที่ผู้ป่วยเลือกใช้เองในสัดส่วนเท่าใด เนื่องจากแต่ละรหัสมีวัตถุประสงค์ต่างกัน และไม่มีใครยอมเปลี่ยนรหัสให้เป็นหนึ่งเดียวกัน

 

               ดังนั้น จึงได้มีการนำผลงานวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มาแก้ปัญหา ซึ่งมี 2 เรื่องคือ 1.การ Harmonized Code และการสร้างฐานข้อมูลกลาง โดยเป็นการผูกความสัมพันธ์ หรือ Code Mapping ของเลขทะเบียนตำรับยา รหัสยา 24 หลัก รหัส TMT เลข Barcode และ GPSC ของยาแต่ละรายการเข้าด้วยกัน เมื่อส่งข้อมูล เข้าไปที่ฐานข้อมูล NMPCD ฐานข้อมูลจะแสดงเลขทะเบียนตำรับยารหัส TMS GPSC และเลข GTIN หรือ Barcode ของยาชนิดเดียวกันให้ทันที เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการสืบค้นรหัสยา 2. การพัฒนาโปรแกรมบริหารจัดการคลังยาและเวชภัณฑ์ให้กับโรงพยาบาลโดยการพัฒนาโปรแกรม MMIS (Material Management Information System) เพื่อบริหารจัดการคลังยาและเวชภัณฑ์ โดยพร้อมใช้งานร่วมกับ NMPCD และเพิ่ม Features ที่ใช้งานเกี่ยวกับ Logistics เพื่อลดสินค้าคงคลังและเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ได้ พร้อมทั้งสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้



            นางนิตยา กล่าวต่ออีกว่า ผลการวิจัยทั้ง ๒ เรื่องนี้ จะเข้าไปช่วยในการบริหารจัดการคลังยาและเวชภัณฑ์ภายในโรงพยาบาล นอกจากนี้ยังสามารถมองเห็นระดับสินค้าคงคลังได้ถึงจุดใช้บริการของโรงพยาบาลได้ ทำให้โรงพยาบาลนั้นสามารถบริหารจัดการคลังได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งคาดว่า ภายใน 3 ปีจะบรรลุวัตถุประสงค์ที่จะตอบทั้งระบบได้ว่า ยาอยู่ที่ไหน พร้อมตรวจสอบย้อนหลังได้ และมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจในเชิงนโยบายแบบ Big Data ได้

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้