นักวิจัยชี้การจ้างงานหลังวัยเกษียณ ช่วยรักษาแรงงานคุณภาพในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย

1390 จำนวนผู้เข้าชม  | 

นักวิจัย สกว. เห็นด้วยกับการจ้างงานผู้สูงอายุในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย โดยชี้ผลจากงานวิจัยนี้ทางสถานประกอบการสามารถนำไปใช้ประกอบการกำหนดนโยบายการจ้างงานผู้สูงอายุ ในขณะที่ภาครัฐนำผลการวิจัยไปกำหนดนโยบายและปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรรัตน์ แสดงหาญ คณะการจัดการและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยบูรพา และเป็นผู้ได้รับรางวัล 2018 TRF-OHEC-Scopus Young Researcher Award สาขา Humanities & Social Science จาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเผยว่า จากการศึกษาประสบการณ์และแนวทางการดำเนินงานเกี่ยวการการจ้างงานผู้สูงอายุในต่างประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี พบว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่ยังมีสุขภาพแข็งแรงและสามารถทำงานได้ต่อเนื่อง แต่กฎหมายและสังคมกำหนดให้ต้องเกษียณอายุ ผู้สูงอายุเหล่านี้จึงต้องออกจากระบบการทำงานหลัก หากแต่ยังต้องการหรือมีความจำเป็นที่ต้องทำงานเพื่อหารายได้ให้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ ทั้งนี้ถ้าผู้สูงอายุออกจากกำลังแรงงานโดยไม่มีรายได้จากการทำงานก็จะก่อให้เกิดปัญหาตามมาหลายประการ และยังมีผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในเชิงเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ปัญหาการจ้างงาน การทดแทนแรงงาน การถ่ายทอดประสบการณ์ หรือการจัดการความรู้ระหว่างรุ่น เป็นต้น ดังนั้นการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในประเทศไทยจึงอาจไม่ใช่การยุติการทำงานของพนักงานผู้สูงอายุ หากแต่เป็นโอกาสในการที่จะพัฒนาหารูปแบบการทำงานที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุเพื่อเป็นแรงผลักดันในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป

นักวิจัยโครงการ “การจ้างงานผู้สูงอายุในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย” ภายใต้การสนับสนุนของ สกว. ระบุถึงการจ้างงานผู้สูงอายุในประเทศไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นข้อจำกัดให้ผู้สูงอายุทำงานในภาคการผลิตที่เป็นอุตสาหกรรมหนักเช่นนี้ ผลการวิจัยพบว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งฝ่ายสถานประกอบการ พนักงานผู้สูงอายุ ตัวแทนภาครัฐและนักวิชาการต่างเห็นด้วยกับการจ้างงานผู้สูงอายุ ด้วยเหตุผลหลักในการเป็นผู้มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์สูง ทั้งนี้ การจ้างงานควรเป็นไปภายใต้ความสมัครใจของทั้งฝ่ายสถานประกอบการและพนักงานผู้สูงอายุ โดยกำหนดรูปแบบการจ้างงานตามที่ทั้งสองฝ่ายตกลงร่วมกันเป็นรายกรณีไป    

สำหรับรูปแบบการจ้างงานผู้สูงอายุในอุตสาหกรรมยานยนต์ ประกอบด้วย (1) แนวทางการจ้างงานผู้สูงอายุ ได้แก่ ลักษณะงาน ประเภทงาน คุณสมบัติ การสรรหาและคัดเลือก ระยะเวลาทำงาน สัญญาการจ้างงาน ค่าตอบแทน สวัสดิการ (2) การเตรียมความพร้อมเพื่อการจ้างงานผู้สูงอายุ ได้แก่ การสำรวจและทำฐานข้อมูล กำหนดหน่วยงาน/คณะกรรมการ โครงการนำร่อง โดยผู้สูงอายุจะต้องวางแผนอนาคตและพัฒนาตัวเอง ขณะที่สถานประกอบการต้องปรับทัศนคติ และวางแผนการจ้างงานผู้สูงอายุส่วนภาครัฐต้องกำหนด/ปรับปรุงกฎหมาย และส่งเสริมสนับสนุนการจ้างงานผู้สูงอายุ (3) ปัจจัยที่มีผลต่อการจ้างงาน คือ ผู้สูงอายุ สถานประกอบการ และภาครัฐ

         นักวิจัยได้เสนอวิธีการจัดการทรัพยากรมนุษย์ที่ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของบริบททางสังคม โดยพบว่ามีความเป็นไปได้ในการจ้างงานพนักงานหลังวัยเกษียณในอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งจะมีรูปแบบที่ต่างไปจากการจ้างวัยแรงงานอยู่บ้าง เช่น ต้องกำหนดลักษณะงานและประเภทงานให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุ การกำหนดระยะเวลาการทำงานให้ยืดหยุ่น รวมถึงการทำสัญญาการจ้างงานระยะสั้น ๆ เป็นต้น แต่การจ้างงานผู้สูงอายุจะช่วยให้สถานประกอบการมีการขับเคลื่อนไปสู่ความสำเร็จจากพลังของผู้สูงอายุที่มีศักยภาพ และยังเป็นการสนับสนุนให้ผู้สูงอายุได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างแท้จริง

“ผลจากงานวิจัยนี้ทางสถานประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์สามารถนำไปใช้ประกอบการกำหนดนโยบายการจ้างงานผู้สูงอายุ ในขณะที่ภาครัฐสามารถนำผลการวิจัยไปใช้ประกอบการกำหนดนโยบายและปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประโยชน์ทางเศรษฐกิจจะช่วยให้ผู้สูงอายุมีโอกาสทำงานต่อหลังวัยเกษียณ ทำให้มีรายได้ ลดการพึ่งพิงวัยแรงงาน รวมถึงช่วยบรรเทาภาวะการขาดแคลนแรงงาน ขณะที่สถานประกอบยังคงรักษาแรงงานคุณภาพให้เป็นทุนมนุษย์ขององค์การต่อไป ขณะที่ทางสังคมนั้น การมีงานทำจะช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้ผู้สูงอายุให้มีกิจกรรมทางสังคมอย่างต่อเนื่อง” นักวิจัย สกว.ระบุ

 

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้