เชลล์ หนุนเด็กไทยออกแบบและผลิตนวัตกรรมยานยนต์ประหยัดพลังงาน ทะยานไกลสู่เวทีสากล ในการแข่งขันเชลล์ อีโค-มาราธอน เอเชีย 2018 ที่สิงคโปร์

420 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เชลล์ เผยโฉม 13 ทีมเยาวชนที่ผ่านการคัดเลือกระดับประเทศ เพื่อไปแข่งขัน “เชลล์ อีโค-มาราธอน เอเชีย 2018” ณ ประเทศสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 8 – 11 มีนาคม 2561 โดยจะแข่งขันกับทีมนักศึกษาจากทั่วทั้งเอเชียกว่า 151 ทีม จาก 19 ประเทศ

ภายในงานได้รับเกียรติจาก ดร. ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนายอัษฎา หะรินสุต ประธานกรรมการ และกรรมการบริหารธุรกิจการตลาดค้าปลีก ภูมิภาคตะวันออก บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ร่วมเปิดงาน และแสดงความยินดีกับทีมตัวแทนจากประเทศไทย

การแข่งขัน “เชลล์ อีโค-มาราธอน” เฟ้นหารถที่วิ่งได้ไกลที่สุดด้วยเชื้อเพลิง 1 ลิตร จัดการแข่งขันขึ้นในภูมิภาคเอเชีย อเมริกา และยุโรป ซึ่งผู้เข้าแข่งขันสามารถเลือกพลังงานการขับเคลื่อนตามความถนัด ไม่ว่าจะเป็นเครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal combustion) ได้แก่ เอทานอล 100 และ ดีเซล หรือเครื่องยนต์ระบบไฟฟ้า ได้แก่ ไฮโดรเจน และ แบตเตอรี่ไฟฟ้า โดยการแข่งขันแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทรถต้นแบบแห่งอนาคต (Prototype) และ ประเภทรูปแบบใกล้เคียงกับรถยนต์ในปัจจุบัน (Urban) ซึ่งผู้ที่สามารถทำสถิติใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด 3 ลำดับแรกในการแข่งขันประเภทเออร์เบินจะได้รับสิทธิ์ในการเข้าร่วมการแข่งขันระดับโลก Drivers’ World Championship 2018 ณ กรุงลอนดอน

ดร. ศิริ จิระพงษ์พันธ์ กล่าวว่า “สิ่งที่กระทรวงฯ มุ่งหวังจากการแข่งขันนี้ ไม่ได้มองหานวัตกรรมเพียงอย่างเดียว แต่เราต้องการสร้างบุคลากรอันมีค่าของประเทศ ในด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม เทคโนโลยีต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวทางการใช้พลังงานให้เกิดประโยชน์และประหยัดที่สุด ซึ่งในปัจจุบันรถทั่วไปสามารถวิ่งได้ประมาณ 15 กิโลเมตรต่อลิตร สำหรับรถพลังงานไฟฟ้าไฮบริดอาจจะวิ่งได้ไกลถึง 25 กิโลเมตรต่อลิตร แต่จากการแข่งขันเชลล์ อีโค-มาราธอน จะเห็นได้ว่าเยาวชนไทยสามารถสร้างยานยนต์ที่วิ่งได้ระยะทางกว่า 2,000 กิโลเมตรต่อลิตร สะท้อนให้ความเป็นไปได้ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด”

“เชลล์พร้อมสนับสนุนประเทศไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0 ในทุกๆ มิติ ซึ่งการแข่งขันเชลล์ อีโค-มาราธอน สามารถตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0 ได้ใน 3 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ 1. การพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมให้เกิดขึ้นจากการวิจัย เปลี่ยนประเทศไทยจากประเทศผู้ประกอบชิ้นส่วน เป็นประเทศที่วิจัยและคิดเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น 2. การพัฒนาบุคลากร เยาวชนชาวไทย ให้มีจิตสำนึกในการประหยัดพลังงานและมีจิตอาสาที่พร้อมจะช่วยเหลือคนอื่น 3. การร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อผลักดันให้สองสิ่งแรกเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม” นายอัษฎากล่าวและเสริมว่า “หลายปีที่ผ่านมาเด็กไทยเก่งมากในการแข่งขันประเภทรถต้นแบบ แต่สำหรับรถเออร์เบินประเทศอื่นจะทำได้ดีกว่าเรา เพราะได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรเป็นจำนวนมาก เชลล์ ตั้งใจว่าในอนาคตประเทศไทยจะส่งทีมเข้าแข่งขันได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการสร้างบุคลากรที่มีศักยภาพ ป้อนให้แก่อุตสาหกรรมยานยนต์และบริษัทไอทีในประเทศ”

ทีมวิทยาลัยการอาชีพอัมพวา 
นายเกียรติศักดิ์ รักษาสุรสาล นักศึกษาเทคนิคยานยนต์ ตัวแทนทีมวิทยาลัยการอาชีพอัมพวา กล่าวว่า “ปีนี้เป็นปีแรกที่วิทยาลัยของเราสามารถผ่านการคัดเลือกและเข้าไปแข่งขัน ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีที่สามารถเอาวิชาที่เรียนมาประยุกต์ใช้ได้ ทั้งในเรื่องของการออกแบบโครงสร้าง และการทำเครื่องยนต์ ซึ่งจะส่งผลให้มีทักษะในการทำงานจริง มีความรู้ ทำงานอย่างรอบคอบ และสามัคคีกัน”


 
ทีมวิทยาลัยเทคโนโลยีช่างฝีมือปัญจวิทยา
ในส่วนของทีมแชมป์ปี 2559 ปีนี้ส่งเข้าแข่งขันทั้งประเภทรถต้นแบบและรถเออร์เบิน โดยนายจุมพล สิทธิรส ครูวิชาชีพสาขางานยานยนต์ ผู้ดูแลโครงการกล่าวว่า “เราเคยเป็นแชมป์มาแล้วในประเภทรถต้นแบบ ดังนั้นเป้าหมายของเด็กๆ คือจะต้องทำทุกอย่างเพื่อรักษาแชมป์ไว้ให้ได้ เรียกว่าเป็นแชมป์มันง่าย แต่รักษาแชมป์มันยาก และปีนี้เพิ่มความท้าทายส่งรถเออร์เบินเข้าแข่งขันด้วย เป็นคันแรกของทีมเรา ความตั้งใจคือต้องการให้เด็กๆ ได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ ในฐานะครูที่ดูแลโครงการผมดีใจมากที่เห็นเด็กร่วมกันทำอย่างสุดฝีมือ”

ทีมมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
ทีมลูกเจ้าแม่คลองประปาเอทานอล จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ซึ่งเคยทำสถิติประหยัดน้ำมันสูงสุดที่ 2,903 กิโลเมตรต่อลิตรจากเชื้อเพลิงเอทานอลในปี 2555 ทั้งนี้นายกฤฏิ์ นวนแก้ว นักศึกษาตัวแทนทีม กล่าวว่า “การแข่งขันเชลล์ อีโค-มาราธอน เป็นกิจกรรมที่ดีมาก ทำให้เราได้มาคิดว่าทำอย่างไรจึงจะสามารถสร้างรถที่ประหยัดพลังงานมากที่สุดและยังเป็นการทดสอบความสามารถของเราอีกด้วย โดยในปีนี้ เราค่อนข้างมั่นใจว่าทำได้ดีมาก และน่าจะคว้าชัยชนะกลับไปได้ เพียงแค่จะสามารถทำลายสถิติที่เคยทำไว้ได้หรือเปล่า เท่านั้นเอง ซึ่งในปีนี้ทีมได้พัฒนาหัวฉีด และลูกสูบให้ประหยัดพลังงานมากขึ้น ซึ่ง 2 สิ่งนี้เป็นกุญแจสำคัญสู่ชัยชนะ”

 

รายชื่อ 13 ทีมไทยที่เข้าร่วมการแข่งขัน Shell Eco-marathon Asia 2018


1. วิทยาลัยการอาชีพอัมพวา ประเภทรถ Ptototype ประเภทเชื้อเพลิง Gasoline


2. มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ประเภทรถ Ptototype ประเภทเชื้อเพลิง Ethanol
3. มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ประเภทรถ Urban ประเภทเชื้อเพลิง Battery Electric
4. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ประเภทรถ Ptototype ประเภทเชื้อเพลิง Hydrogen
5. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ประเภทรถ Urban ประเภทเชื้อเพลิง Battery Electric
6. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ประเภทรถ Urban ประเภทเชื้อเพลิง Battery Electric
7. วิทยาลัยเทคโนโลยีช่างฝีมือปัญจวิทยา ประเภทรถ Ptototype ประเภทเชื้อเพลิง Ethanol
8. วิทยาลัยเทคโนโลยีช่างฝีมือปัญจวิทยา ประเภทรถ Urban ประเภทเชื้อเพลิง Diesel
9. มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร ประเภทรถ Ptototype ประเภทเชื้อเพลิง Battery Electric
10. มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร ประเภทรถ Ptototype ประเภทเชื้อเพลิง Ethanol
11. วิทยาลัยเทคโนโลยีรัตนโกสินทร์ ประเภทรถ Urban ประเภทเชื้อเพลิง Gasoline
12. วิทยาลัยสกลนคร ประเภทรถ Ptototype ประเภทเชื้อเพลิง Ethanol
13. วิทยาลัยสกลนคร ประเภทรถ Urban ประเภทเชื้อเพลิง Gasoline

ร่วมส่งกำลังใจให้กับ 13 ทีมตัวแทนประเทศไทยในการแข่งขัน “เชลล์ อีโค-มาราธอน เอเชีย 2018” ระหว่างวันที่ 8 – 11 มีนาคมนี้ ณ ศูนย์การแสดงนิทรรศการ Changi Exhibition Center ประเทศสิงคโปร์ หรือติดตามข้อมูลได้ที่ https://www.shell.com/energy-and-innovation/shell-ecomarathon/asia.html

 


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้