ASTON MARTIN DBS Superleggera พร้อมแล้วสำหรับเวอร์ชั่นแรง

890 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ภาพ : ASTON MARTIN

เรียบเรียง : Pitak Boon

 

จาก DB11 ซึ่งเผยโฉมเมื่อราว 2 ปีที่ผ่านมา ASTON MARTIN ได้ต่อยอดไปเป็นเวอร์ชั่นแรง ใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘DBS Superleggera’ เป็นรถสปอร์ตคูเป้ 2 ประตู 2+2 ที่นั่ง สไตล์ Super GT มาพร้อมความดุดันในทุกรายละเอียด เริ่มต้นตั้งแต่การขยายขนาดกระจังหน้า เพิ่มพื้นที่รับลมไปให้เครื่องยนต์ V12 bi-turbo ปรับปรุงระบบแอร์โร่ไดนามิคเพิ่มเติม โดยเฉพาะดิฟฟิวเซอร์ชิ้นใหม่ ในรูปแบบ Double-diffuser ออกแบบโดยใช้ know-how จาก F1 โดยตรง ประสิทธิภาพทางอากาศพลศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น ถูกเคลมออกมาด้วยตัวเลข 180 กิโลกรัม ซึ่งเป็น Down Force ที่เกิดขึ้นบนตัวถัง ขณะ DBS ใช้ความเร็วสูงสุด

DBS ใช้โครงสร้างแบบโมโนค็อกที่ขึ้นรูปจากอะลูมีเนียม ด้วยกรรมวิธี HFQ (Hot Form Quenched) การันตีความแข็งแกร่งไม่เป็นรองวัสดุดั้งเดิมอย่างเหล็กกล้า ทว่าเบากว่ากันมากมาย โครงสร้างบานประตูขนาดใหญ่ใช้ ‘แม็กนีเซียมหล่อ’ มุ่งเน้นการลดน้ำหนัก ฝากระโปรงถูกออกแบบกับรับกระจังหน้า ที่ยังคงเป็นซิกเนเจอร์ของ ASTON MARTIN ดีไซน์ในรูปแบบ Clamshell หรือใช้ฝากระโปรงบานใหญ่ครอบคลุมไปถึงซุ้มล้อหน้า

ฝากระโปรงชิ้นใหญ่ รวมทั้งพื้นผิวส่วนหลังคา และบานประตู ผลิตจาก Aluminium Pressing ขณะที่ชุดปีกหน้า, ปีกหลัง, กันชนรอบคัน และชุดดิฟฟิวเซอร์ท้ายรถเป็น Composite Material ทั้งคันมาพร้อมมิติความกว้าง ความยาว ความสูง ที่ 2,146, 4,712 และ 1,280 มิลลิเมตร ตามลำดับ DBS มีน้ำหนักตัว 1,693  กิโลกรัม เบากว่า DB11 ถึง 77 กิโลกรัม

เรื่องอรรถรสในการขับขี่ ASTON MARTIN เป็นหนึ่งในผู้นำ เพราะส่งรถลงสนามแข่งตั้งแต่ยุคเริ่มต้น การพัฒนารถแต่ละโมเดล วิศวกรจึงให้ความสำคัญกับการกระจายน้ำหนักไม่เป็นรองเรื่องอื่นๆ เริ่มต้นจากการลดขนาดเครื่องยนต์ลง แม้จะมีเป็นบล็อก V12 ขนาดความจุใหญ่โต แต่ขนาดของเครื่องยนต์คงความกะทัดรัด พร้อมใช้ตำแหน่งการวาง ถอยร่นเข้ามาชิดติดกับผนังห้องเครื่องมากยิ่งขึ้น เข้าสูตร Front Mid-mounted Engine และ Rear-wheel Drive กระปุกเกียร์จะถูกสับเปลี่ยนตำแหน่งมาติดกับเพลาหลัง

เครื่องยนต์กับกระปุกเกียร์ถูกเชื่อมต่อกันด้วยเพลากลางคาร์บอนไฟเบอร์ ซึ่งครอบทับได้ด้วย Torque Tube อะลูมีเนียม การกระจายน้ำหนักของ DBS จึงออกมาตามที่วิศวกรจิตนการ หน้า:หลัง ใกล้สมดุลในระดับ 51:49 ให้การบังคับควบคุมเฉียบคมไม่แตกต่างกับซูเปอร์คาร์วางเครื่องยนต์กลางลำ

เครื่องยนต์ V12 บล็อกใหม่ใน DB11 ถูกจับมาโมเพิ่มเติมเพื่อใช้งานกับ DBS ขนาดความจุ 5,204 ซีซี อัพพลังต่อด้วย bi-turbo ยังคงเป็นอะลูมีนัมอัลลอยทั้งเสื้อสูบและฝาสูบ มาพร้อม Dual Variable Camshaft Timing หรือ ระบบวาล์วแปรผันทั้งฝั่งไอดี และไอเสีย นับรวมได้ 48 วาล์ว ใช้อัตราส่วนกำลังอัด 9.3:1  สร้างกำลังออกมา 715 bhp ที่ 6,500 รอบ/นาที (แรงกว่า DB11 ถึง 115 bhp) แรงบิดสูงสุดในรูปแบบ Flat-torque พุ่งแตะ 900 Nm ที่ 1,800-5,000 รอบ/นาที (DB11 มีแรงบิดสูงสุด 700 Nm) ปิดท้ายด้วยเกียร์อัตโนมัติ 8 สปีด จาก ZF

ในส่วนของสมรรถนะ DBS ทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ด้วยเวลา 3.4 วินาที (DB11 ทำได้ 3.9 วินาที) ถึง 160 กม./ชม. ด้วยเวลา 6.4 วินาที ความเร็วสูงสุดขยับขึ้นไปเฉียดๆ 340 กม./ชม. (DB11 มีท็อปสปีดอยู่ที่ 322 กม./ชม.) อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย 8.14 กิโลเมตร/ลิตร และค่า CO2 ระดับ 285 กรัม/กิโลเมตร เท่านั้น

 

 

 

 

 

 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้