"ครูผู้สร้างนักกายภาพ" ดร.วรชาติ เฉิดชมจันทร์ กับรางวัล “นักกายภาพบำบัดดีเด่น” ประจำปี 2561

840 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ดร.วรชาติ เฉิดชมจันทร์ คณบดีคณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำในเรื่องของการนำกระบวนการจัดการเรียนการสอนแบบจิตปัญญาศึกษา ขับเคลื่อนการศึกษาเพื่อความเป็นมนุษย์ร่วมกับเครือข่ายการศึกษาอื่นๆ มากมาย รวมถึงพัฒนาหลักสูตรและรูปแบบการเรียนการสอนของคณะฯ โดยการผลักดันให้อาจารย์ในคณะพัฒนาตนเองด้านวิชาการและกระบวนการเรียนรู้ ด้วยความเชื่อว่าการพัฒนา “ครู” เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนานักศึกษา

ล่าสุด ดร.วรชาติ ได้รับรางวัล “นักกายภาพบำบัดดีเด่น” ประจำปี พ.ศ. 2561 จากสมาคมกายภาพบำบัดแห่งประเทศไทย โดยรับมอบรางวัลจาก ฯพณฯ สนธิรัตน์ สนธิจรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในงานประชุมวิชาการกายภาพบำบัดแห่งชาติ ครั้งที่ 9 ซึ่งนับเป็นรางวัลที่สร้างความภูมิใจให้แก่ตนเอง มหาวิทยาลัยรังสิต รวมถึงองค์กรต่างๆ ที่มีส่วนในการขับเคลื่อนงานทางด้านกายภาพบำบัดทั้งในวงการการศึกษาและสาธารณสุข

ดร.วรชาติ กล่าวว่า “งานส่วนใหญ่เป็นงานที่ทำในฐานะที่เป็นคณบดีคณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยรังสิต ที่ออกไปแสดงบทบาทในฐานะที่เป็นนักกายภาพบำบัด รู้สึกดีใจและภูมิใจ รางวัลนี้เป็นรางวัลระดับประเทศ  ซึ่งมาจากการเสนอชื่อและคะแนนโหวตที่ได้รับการยอมรับระดับหนึ่ง ในภารกิจที่เราทำในฐานะที่เป็นคณบดีคณะกายภาพบำบัดฯ ก็รู้สึกภูมิใจ ขอบคุณท่านอธิการบดี ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ที่ให้โอกาสได้มาทำงานตรงนี้ ขอบคุณผู้บริหารทุกคนที่มีส่วนในการให้ข้อเสนอแนะ ผลักดัน ให้ข้อคิดเห็น รวมถึงอาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนักศึกษาในคณะ หลายๆ ส่วนที่ช่วยสนับสนุนให้เราได้ทำงานในสิ่งที่คิดว่ามีประโยชน์ต่อประเทศต่อมหาวิทยาลัย ซึ่งเขาก็ช่วยให้เราได้ทำงานเต็มที่

ที่ต้องพูดถึงคือสององค์กรใหญ่ๆ ที่ขัดเกลาให้เรามีวิธีคิด มีวิธีการทำงานแบบนี้ คือ โครงการผู้นำแห่งอนาคต ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยการดูแลของคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชิญให้เราไปเข้าโครงการ เป็นเซโร่ ไปเรียนรู้ต่อในศาสตร์การเป็นผู้นำแห่งอนาคต ได้มีโอกาสเข้าคลาสในหลายๆ คลาส ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาทักษะการเป็นผู้นำของเราค่อนข้างมาก อีกโครงการหนึ่งที่สำคัญและมีอิมแพคกับเรามากๆ คือ เครือข่ายร่วมพัฒนาศักยภาพผู้นำการสร้างสุขภาวะแนวใหม่ (คศน.) ซึ่งมูลนิธินี้ทำงานภายใต้กระทรวงสาธารณสุข เป็นกลุ่มที่รวมคน โดยแต่ละปีจะคัดเลือกประมาณ 25 คนทั่วประเทศ ในการที่จะเข้ามาเป็นนักเรียนเซโร่ เพื่อพัฒนาให้เป็นผู้นำแนวใหม่ โดยเฉพาะในเรื่องของการนำในเรื่องสุขภาวะ ซึ่งเมื่อสองปีที่ผ่านมาผมได้รับเลือกให้เป็น คศน.รุ่น 5 ถ้าถามว่าความสำเร็จที่ผ่านมามาจากอะไรนั้นคือ มาจากกลไกสองสามอย่างนี้ รู้สึกดีใจและภูมิใจที่เป็นคณบดีคณะกายภาพบำบัดฯ ที่นี่ และทำงานหลากหลายที่เป็นการขับเคลื่อนประเทศค่อนข้างมากครับ” คณบดีคณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา กล่าวเสริม

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้