ฟอร์ด เรนเจอร์ แรพเตอร์ พิคอัพสายพันธุ์รถแข่ง

789 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เรื่อง : อัฐฒา นายเรือ

ภาพ : ฟอร์ด ประเทศไทย  

 


หลังจากที่เผยโฉม ฟอร์ด เรนเจอร์ แรพเตอร์ ยั่วใจผู้ใช้รถและสื่อมวลชนมานานพอสมควร ฟอร์ด ประเทศไทย ก็ได้จัดทริปให้เราได้ทดลองขับกระบะออฟโรดสมรรถนะสูงที่ได้รับดีเอ็นเอมาจาก ฟอร์ด เพอร์ฟอร์แมนซ์ (Ford Performance) กันอย่างเต็มอิ่ม โดยทริพนี้เราได้ลองขับกันตั้งแต่ใจกลางเมืองหลวงไปจนถึงปากช่องซึ่งมีเส้นทางที่ท้าทายการลุยในทุกรูปแบบโดยเฉพาะการขับขี่แบบออฟโรดความเร็วสูง เราใช้เวลาอยู่กับ ฟอร์ด เรนเจอร์ แรพเตอร์ ถึง 2 วันเต็ม รวมระยะทางทั้งสิ้นเกือบ 600 กิโลเมตร

เราออกเดินทางจากถนนสาธรใต้ขึ้นทางด่วนมุ่งสู่วงแหวนตอ. ไปเชื่อมต่อเข้ากับเส้นทาง รังสิต-องครักษ์ เข้าสู่ จ.ปราจีนบุรี เพื่อขับข้ามเขาใหญ่ไปลงยังฝั่งปากช่อง ก่อนจะแวะพักรับประทานอาหารกลางวันกันแถว ถ.ธนะรัชต์

ฟอร์ด เรนเจอร์ แรพเตอร์ หมายเลข 1 ของเราในช่วงเช้าจนถึงร้านอาหารกลางวันนั้น เราทั้ง 3 คนที่นั่งกันมาในรถก็มีโอกาสได้สัมผัสกับความเร้าใจของแรพเตอร์กันโดยถ้วนหน้า บนทางด่วนและทางหลวงที่พื้นถนนเรียบๆ วิ่งกันยาวๆ สามารถใช้ความเร็วสูงกันได้บ้างในบางจังหวะ สัมผัสแรกจากที่เป็นผู้โดยสารรู้สึกได้ว่า ระบบรองรับของพิคอัพรุ่นนี้ค่อนข้างแข็งกว่าเรนเจอร์ที่เราเคยลองขับกันที่เชียงราย แต่ไม่ถึงกับกระด้าง และถึงแม้ว่าเรนเจอร์ตัวทอพจะใช้เครื่องยนต์และระบบเกียร์ 10 จังหวะเช่นเดียวกับแรพเตอร์ก็ตาม ผมมีความรู้สึกว่าการตอบสนองอัตราเร่ง เรนเจอร์ทำอัตราเร่งได้ดีกว่า ส่วนหนึ่งเกิดจากน้ำหนักตัวรถแรพเตอร์มีมากกว่า เครื่องยนต์ 2.0 ลิตร พละกำลัง 213 แรงม้าและแรงบิด 500 นิวตันเมตร

การทำงานร่วมกันระหว่างเทอร์โบแรงดันสูงที่มีขนาดเล็กและเทอร์โบแรงดันต่ำที่มีขนาดใหญ่กว่าช่วยให้ลดอาการรอรอบของเทอร์โบลงได้มากทีเดียว ผมขับแล้วมีความรู้สึกว่า อัตราเร่งช่วงต้นและปลายขึ้นค่อนข้างช้าสักหน่อย ไหลลื่นดีในช่วงกลาง พละกำลังเป็นรองเครื่องยนต์ 3.2 ลิตร อย่างชัดเจน แต่ได้เปรียบในเรื่องเกียร์อัตโนมัติ 10 สปีดตัวใหม่ที่ติดตั้งในเรนเจอร์, แรพเตอร์, และเอเวอร์เรสต์ ให้การขับที่ต่อเนื่อง เกียร์ควบคุมด้วยกล่องอีซียูทำงานอย่างอย่างชาญฉลาด เลือกเกียร์ให้เหมาะกับการใช้งานอยู่ตลอดเวลา และจากการที่มีอัตราทดมากถึง 10 สปีด มีผลให้การใช้รอบเครื่องยนต์ที่ต่ำ ที่ความเร็ว 100 กม./ชม. ใช้อยู่แค่ 1,500 รอบ/นาที เท่านั้นเอง

การเลือกโหมดการขับขี่ ในโหมดปกติ จะมอบความนุ่มนวล ราบรื่น ประหยัดน้ำมัน โดยสามารถเลือกการขับขี่แบบแมนนวล ที่ผู้ขับสามารถเปลี่ยนเกียร์ขึ้นลงได้เองตามต้องการ เพิ่มความสนุกสนานในการขับขี่บนถนนทั้งทางเรียบและทางคดเคี้ยวขึ้นลงเขา หรือเลือกการขับขี่ในโหมดสปอร์ต ที่สามารถเปลี่ยนเกียร์ได้รวดเร็วฉับไวในขณะที่รอบเครื่องสูง พร้อมค้างรอบเครื่องที่สูงไว้เพื่อให้การตอบสนองคันเร่งทำได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ด้านหลังพวงมาลัยของแรพเตอร์ ติดตั้งแป้น Paddle Shift ที่ผลิตจากแม็กนีเซียมน้ำหนักเบา ทำให้เปลี่ยนเกียร์ได้สะดวกรวดเร็ว เพิ่มเติมความเร้าใจในการขับขี่ได้เป็นอย่างดี  

แรพเตอร์ติดตั้งยางที่มีขนาดเท่ากันกับเรนเจอร์ตัวทอพ แต่เป็นยางชนิด All-terrain จาก BF Goodrich ขนาด 285/70 R17 ที่พัฒนาขึ้นมาเป็นพิเศษสำหรับเรนเจอร์ แรพเตอร์โดยเฉพาะ แก้มยางมีความทนทานสูง เหมาะในการลุยทุกสภาพพื้นผิวถนน และดอกยางมีขนาดใหญ่ ช่วยให้ผู้ขับขี่สามารถขับขี่ได้อย่างมั่นใจและปลอดภัยในทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นสภาพพื้นผิวที่เปียกลื่น กรวด โคลน ทราย และหิมะ

แต่เป็นธรรมดาของรถที่เซทช่วงล่างมาสำหรับวิ่งทางฝุ่นด้วยความเร็วสูง การนำมาวิ่งบนทางเรียบจะรู้สึกออกไปแนวแข็งๆ สะเทือนอยู่บ้าง แต่ก็ถือว่าเซทมาได้ขนาดนี้ก็เยี่ยมมากแล้ว เพราะปกติรถลุยๆ เมื่อมาวิ่งทางเรียบจะค่อนข้างแข็งกระด้างจนบางครั้งนั่งกันแทบไม่ได้เลย แต่พอเมื่อมาวิ่งทางฝุ่นจะนุ่ม ไปแบบเนียนๆ นั่งสบายไม่สะเทือนแบบหัวสั่นหัวคลอน บนเส้นทางเรียบๆ การวิ่งที่ความเร็วช่วง 140 กม./ชม. เรารู้สึกเหมือนวิ่งกันอยู่แค่ 100-110 กม./ชม. รถค่อนข้างนิ่งทีเดียว การเก็บเสียงดี ความเร็วช่วงกลางไหลลื่นดี มีเสียงเครื่องยนต์ที่เขาปล่อยเข้ามาในห้องโดยสารเพื่อเพิ่มความเร้าใจในการขับได้ดี ขณะวิ่งที่เจอถนนชำรุด คอสะพานชันๆ ตัวหนอนกั้นถนน เราวิ่งผ่านฉลุย การวิ่งเข้าโค้ง ขึ้นลงเนิน บนเขาใหญ่เป็นไปด้วยดี รถให้ความคล่องตัวพอสมควรแม้ว่าขนาดตัวจะค่อนข้างใหญ่ เราวิ่งมาถึงตีนเขาใหญ่ฝั่งธนะรัชต์โดยใช้เวลาไม่นานนัก แวะพักรับประทานอาหารกันสักครู่ก่อนพบศึกหนักในช่วงบ่าย

หลังจากนั้น เราได้เดินทางต่อไปยังสนาม 8 Speed เขาใหญ่ ที่ได้ถูกปรับเป็นสนามออฟโรด เพื่อให้เราได้ลองระบบ Terrain Management System (TMS) ในโหมดการขับขี่รูปแบบต่างๆ มาพร้อมโหมดการขับขี่ที่เร้าใจ นั่นคือโหมดบาฮา ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการแข่งขันแรลลี่กลางทะเลทรายบาฮาที่ประเทศเม็กซิโก โดยระบบจะปรับการตอบสนองของเครื่องยนต์ให้เหมาะกับการขับขี่ออฟโรดด้วยความเร็วสูง ระบบป้องกันล้อหมุนฟรีจะถูกตัดการทำงาน เพื่อไม่ให้แทรกแซงการทำงานของเครื่องยนต์ นอกจากนี้ ระบบเกียร์จะถูกปรับให้มีประสิทธิภาพการทำงานสูงสุด โดยระบบจะค้างรอบเครื่องไว้นานขึ้นและเปลี่ยนเกียร์ลงอย่างรวดเร็วกว่าเดิมซึ่งสามารถเลือกได้จากปุ่มบนพวงมาลัย ไม่ว่าจะเป็น โหมดหิน สำหรับพื้นผิวในเขตภูเขาลาดชัน ใช้ความเร็วต่ำ เน้นการควบคุมรถให้ขับเคลื่อนอย่างช้าๆ โหมดหญ้า/กรวด/หิมะ ที่ออกแบบมาให้ขับขี่บนทางออฟโรดที่มีพื้นผิวลื่นและเป็นหลุมบ่อ ซึ่งระบบจะทำการเปลี่ยนเกียร์อย่างนุ่มนวลพร้อมทั้งออกตัวด้วยเกียร์ที่สอง ช่วยเพิ่มความปลอดภัยและลดอัตราการลื่นไถลของล้อรถ โหมดโคลน/ทราย ที่สามารถปรับการตอบสนองของระบบควบคุมการลื่นไถลให้เหมาะสมกับพื้นผิวที่มีความลึกและเปลี่ยนสภาพได้อย่างพื้นทรายและโคลน ด้วยการใช้เกียร์ต่ำที่มีแรงบิดสูง ด้วยความสูงใต้ท้องเครื่องที่สูงถึง 283 มิลลิเมตร ระยะช่วงล้อหน้าและล้อหลังที่กว้างขึ้น 150 มิลลิเมตร ทำให้เราขับผ่านอุปสรรคเส้นทางเนินชันต่างๆ ไปได้ด้วยดี แก้มข้างรถคู่หน้าผลิตมาจากวัสดุคอมโพสิทที่ทนทานต่อการผจญภัยแบบออฟโรดได้ถูกขยายโป่งออกเพื่อรองรับการยุบตัวของโช้คที่เพิ่มมากขึ้นและการใช้ยางแบบออฟโรดอีกด้วย

แชสซีของเรนเจอร์ แร็พเตอร์ โดยผลิตจากเหล็กอัลลอย HSLA (High-Strength Low-Alloy) เกรดต่างๆ  ได้รับการออกแบบใหม่มาเป็นพิเศษสำหรับการขับขี่ออฟโรดความเร็วสูงและทนต่อแรงกระแทกที่อาจเกิดจากการขับขี่บนทางวิบาก เราได้ลองขับผ่านเนินชันด้วยความเร็วสัก 80 กม./ชม. พอรถพ้นหัวเนิน ตัวรถจะลอยไปบนอากาศและตกลงสู่พื้นด้วยความนุ่มนวล ต้องยกเครดิตให้กับโช้คอัพแบบ Position Sensitive Damping (PSD) จาก Fox Racing Shox ผลิตโดย FOX เพื่อซับแรงกระแทกเมื่อขับขี่ออฟโรดด้วยความเร็วสูง จะเพิ่มแรงต้านเมื่อมีการกระแทกเต็มช่วงยุบกระบอกสูบ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขับขี่แบบออฟโรดให้ดียิ่งขึ้น และจะลดแรงต้านเมื่อขับขี่บนถนนทางเรียบเพื่อการขับขี่ที่นุ่มนวล ระบบกันสะเทือนวัตต์ลิงค์ ยังได้รับการออกมาเพื่อรับมือกับการขับขี่ความเร็วสูงบนสภาพผิวถนนที่ขรุขระโดยเฉพาะ โดยที่ผู้ขับขี่ยังสามารถควบคุมรถได้อย่างมั่นคงและปลอดภัย หลังจากนั้นคณะสื่อมวลชนจึงเดินทางเข้าพักกัน จบการทดลองขับในวันแรกด้วยความเรียบร้อย

วันรุ่งขึ้น เราได้ออกเดินทางแต่เช้าโดยมีจุดหมายอยู่ที่ ทุ่งกังหันลมห้วยบง ซึ่งในบริเวณนั้นมีสภาพเส้นทางที่เหมาะกับการทดลองสมรรถนะการใช้งานออฟโรดความเร็วสูงในสไตล์การแข่งขันแบบครอสคันทรี สภาพผิวทางวิ่งมีทั้งเป็นกรวด ทราย ดินลูกรัง ที่บางช่วงเต็มไปด้วย หลุม บ่อ น้ำ โคลน ฯ ให้เราได้วิ่งผ่าน เราได้มีโอกาสลองใช้โหมดบาฮาที่จะปรับการตอบสนองของเครื่องยนต์ให้เหมาะกับการขับขี่ออฟโรดด้วยความเร็วสูง โดยระบบป้องกันล้อหมุนฟรีจะถูกตัดการทำงานเพื่อไม่ให้แทรกแซงการทำงานของเครื่องยนต์ รวมทั้งเกียร์จะถูกปรับให้มีประสิทธิภาพการทำงานสูงสุดโยระบบจะค้างรอบเครื่องไว้นานขึ้นและเปลี่ยนเกียร์ลงได้อย่างรวดเร็วยิ่งกว่าเดิม บนผิวถนนที่เต็มไปด้วยลื่นและอุปสรรคต่างๆ ผมเลือกใช้การขับเคลื่อนแบบ 4 ล้อ โดยมี คุณสมเกียรติ สุขสำเร็จ เนว์วิเกเตอร์มืออาชีพซึ่งผ่านประสพการณ์การแข่งขันครอสคันทรีมาเป็นเวลานานมาเป็นผู้ให้คำแนะนำการขับขี่และบอกไลน์ในการวิ่งซึ่งมีระยะทางประมาณ 14 กม.  แรพเตอร์ไปบนทางลื่นๆ ที่เราใช้ความเร็วกันในช่วง 80 -120 กม./ชม. ได้อย่างไม่น่าเชื่อ การควบคุมบังคับทำได้อย่างไม่ยากเย็น ให้ความปลอดภัยสูงในการขับขี่ รถมีอาการลื่นไถลอยู่บ่อยครั้งแต่การแก้อาการรถถ้ามีทักษะและประสพการณ์ก็จะสามารถควบคุมให้รถไปในทิศทางที่ต้องการได้โดยไม่ยากเย็น ในช่วงโค้งเราจะพยายามขับชิดด้านในของโค้งให้มากที่สุดเพื่อเปิดทางให้รถมีพื้นที่ในการลื่นไถลแต่ยังอยู่บนเส้นทางวิ่ง และเมื่อเริ่มเข้าทางตรงเราก็เติมคันเร่งเพื่อดึงรถออกจากโค้ง พอเราเริ่มคุ้นเคย จับจังหวะและอาการของรถได้ การขับจะไปได้เร็วและปลอดภัยแฝงไว้ด้วยความสนุกในการขับขี่ ทุกอย่างอยู่ในการควบคุมถ้าเราไม่ใช้ความเร็วที่เกินลิมิตในเส้นทางแต่ละช่วง สุดยอดโช้คอัพทั้ง 4 ตัวจาก Fox และระบบ Terrain Management System (TMS) ที่มีโหมดการขับขี่ให้เลือกใช้ถึง 6 รูปแบบ มีส่วนช่วยผู้ขับขี่ได้อย่างมากในสถานการณ์แบบนี้  

ระบบเบรกที่ปรับเซทมาเป็นอย่างดี โดยการใช้ชิ้นส่วนพิเศษที่ทำขึ้นเฉพาะรุ่น คาลิปเปอร์เบรกคู่หน้าเป็นแบบลูกสูบคู่ ที่เพิ่มขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางขึ้น 9.5 มิลลิเมตร มาพร้อมกับจานเบรกคู่หน้าแบบมีครีบระบายความร้อนที่มีขนาดใหญ่ถึง 332 x 32 มิลลิเมตร และเป็นครั้งแรกของเรนเจอร์ ที่ส่วนด้านหลังมาพร้อมกับดิสก์เบรกที่มาพร้อมกับระบบ brake actuation master cylinder ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเบรกให้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งยังมีจานเบรกแบบมีครีบระบายความร้อนขนาด 332 x 24 มิลลิเมตร คู่กับคาลิปเปอร์เบรกใหม่ขนาด 54 มิลลิเมตร

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ช่วยให้การขับขี่บนทางวิบากที่ความเร็วสูง รวมไปถึงในเส้นทางที่โหดหินที่เราต้องปีนป่ายผ่านไปได้ด้วยดี ทุกสถานการณ์ที่เราได้ทดลองขับแบบเต็มๆ มาเป็นเวลา 2 วัน ตอบคำถามเราได้เป็นอย่างดีว่า ทำไมพิคอัพ ฟอร์ด เรนเจอร์ แรพเตอร์ จึงมีค่าตัวที่สูงในระดับนี้ แต่ถ้าได้มาสัมผัสและใช้งานในสภาพที่ผมได้ลองขับเพื่อให้อุปกรณ์พิเศษต่างๆ ที่ผู้ผลิตใส่ลงมาในรถคันนี้ได้แสดงประสิทธิภาพออกมาอย่างเต็มพิกัดก็จะรู้ได้เลยว่า 1.699 ล้านบาทมีความคุ้มค่ากับเงินที่เสียไป

ถ้าคิดว่าจะนำเรนเจอร์ตัวทอพที่มีเครื่องยนต์และเกียร์เหมือนกันไปปรับแต่งให้มีสมรรถนะในด้านต่างๆ เป็นเช่นเดียวกับแรพเตอร์ ผมบอกได้ว่า ลืมไปได้เลยครับ เพราะเขาปรับเซทรถมาทั้งคันไม่ใช่แค่เอาเรนเจอร์ ธรรมดามาใส่อุปกรณ์พิเศษต่างๆ ลงไป จุดยึดต่างๆ ของระบบรองรับบางจุดก็แตกต่างกัน ถึงจะย้ายระบบต่างๆ ของแรพเตอร์มาลงไว้ในเรนเจอร์ตัวทอพ งบที่ลงไปเกินค่าตัวของแรพเตอร์ไปเยอะอย่างแน่นอนครับ ผมคิดว่าถ้าต้องการรถแบบนี้กำเงินไปซื้อแรพเตอร์ตัวจริงเลยจะดีกว่า ได้รถที่สมบูรณ์แบบในทุกส่วนบนงบประมาณที่ไม่บานปลาย

ขอขอบคุณ บริษัท ฟอร์ด ประเทศไทย จำกัด และเจ้าหน้าที่ทุกท่านที่มอบความรู้และประสพการณ์ในการขับขี่สไตล์ออฟโรด รวมไปถึงการขับขี่แบบครอสคันทรีความเร็วสูง ที่จะช่วยให้เราสามารถเค้นประสิทธิภาพและความสามารถของรถรุ่นนี้ออกมาได้อย่างเต็มที่

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้