“เกียร์ธรรมดา” โยก สับ ยัด อย่างไรให้มี “ลีลา” รีวิววิธีการ “ขับ” อย่างทรงประสิทธิภาพและทนทาน

89715 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ในอดีต รถยนต์ส่วนมาก ก็เรียกว่าแทบจะ “ทั้งหมด” เลยก็ว่าได้ เป็นระบบส่งกำลังแบบ “เกียร์ธรรมดา” หรือ “เกียร์กระปุก” แต่ถ้าเป็นยุคโบราณก็ “เกียร์คอพวงมาลัย” หรือ “เกียร์คอ” ที่เรียกกันสั้นๆ ที่ตอนนี้คนเล่นรถ Retro ถวิลหากันจัง อย่างไรก็ตาม มันก็จัดอยู่ในหมวด “เกียร์ธรรมดา” หรือ “Manual Transmission” ที่คนขับจะต้อง “ทำทุกอย่างเอง” ตั้งแต่ เหยียบปล่อยคลัตช์ เข้าเกียร์ เปลี่ยนเกียร์ ให้เหมาะสมกับช่วงความเร็วกับการขับขี่ มันเป็นระบบพื้นฐานของรถยนต์ทั่วไป...

ถ้าเป็นสมัยก่อน ก็จะต้องเริ่มหัดขับเกียร์ธรรมดากันก่อน แล้วค่อยไปขับเกียร์ออโต้ จริงๆ แล้วก็ดีเพราะเราจะสามารถขับได้ 2 แบบ แต่สมัยนี้ รถเกียร์ออโต้ถูกผลิตออกมามาก ตามสภาวะการจราจรในเมืองที่ “โล่งสบายเฮียๆ” ส่วนเกียร์ธรรมดา กลายเป็นส่วนน้อย มันกลับทางกันล่ะครับ ขนาดรถญี่ปุ่นระดับ C Segment ก็แทบจะไม่มีเกียร์ธรรมดาให้เห็นกันแล้ว (ยกเว้นรุ่นที่ TAXI นิยม ก็จะมีมาเพื่อตอบสนองตลาด) เรียกว่า “ออโต้ครองเมือง” แต่ว่า เกียร์ธรรมดา ก็ใช่ว่าจะไร้ที่ยืน ยังคงมีใช้อยู่กับรถระดับ Eco car ถึง B Segment ที่เน้นขาย “วัยรุ่น” ต้องการโมดิฟายเพิ่มความแรงและความมันส์ในการขับ ส่วนอีกตลาด ก็ “กระบะ” ก็ได้ทั้งใช้งานหนักและโมดิฟายหนัก หรือ คนที่ใช้รถอยู่ต่างจังหวัด ก็ไม่จำเป็นต้องใช้เกียร์ออโต้ เพราะรถไม่ติด การใช้เกียร์ธรรมดามันก็เหมาะสมดี ทนทาน ไม่มีอะไรซับซ้อน และเผื่อขับ “ขึ้นลงเขา” เป็นประจำได้ ครั้งนี้ เราขอแนะนำ “วิธีการขับ” เกียร์ธรรมดาอย่าง “ถูกต้อง” ซึ่งจะนำพาสิ่งดีๆ นานับประการ ตั้งแต่ในด้านสมรรถนะ ความประหยัด ความนุ่มนวล และ ความทนทาน มันมาด้วยกันได้ครับ เพียงแต่คุณเปิดใจอ่านตรงนี้ก่อน...

การใช้ “คลัตช์” อย่างถูกต้อง

อาจจะสงสัยอยู่บ้าง ว่าทำไมผมไม่พูดถึงเรื่องการเปลี่ยนเกียร์ก่อน อยากจะบอกยังงี้ครับว่า “ก่อนเราจะเข้าเกียร์ หรือ ขณะที่เราเปลี่ยนเกียร์ เราต้องใช้คลัตช์ไม่ว่าจะทั้งเหยียบและปล่อยเสมอ” จุดเริ่มต้นตั้งแต่หัดขับรถ ก็คือ “การหัดปล่อยคลัตช์ให้ถูกจังหวะ” ทำให้ออกรถได้ ไม่ดับ และ เกิดความนุ่มนวลในการขับขี่ มันก็จะส่งผลต่อเนื่องตามมาทั้งหมด...

การปล่อยคลัตช์ อันนี้คงบอกได้ยาก มันต้องผ่าน “การฝึกฝน” ตอนที่หัดขับรถ ครูฝึกก็ให้เราสามารถออกรถได้ไม่ดับ แต่ว่าจะทำได้ดีแค่ไหน ก็อยู่ที่การฝึกและเอาใจใส่ของทั้งครูฝึก และที่สำคัญ “ตัวเราเอง” ไอ้ออกรถให้มันไม่ดับมันไม่ยากหรอก เร่งคันเร่งเยอะๆ ปล่อยคลัตช์แบบ “เลีย” ยาวๆ มันก็ไม่ดับ แต่ “คลัตช์จะเสียหาย” และ “เปลืองน้ำมัน” การใช้คลัตช์ที่ถูกต้อง คุณจะต้อง “จับระยะการปล่อยคลัตช์ให้ได้ก่อนเพื่อน” โดยใช้ประสาทสัมผัสจาก Teen ไปยังสมอง การปล่อยคลัตช์ต้องทำอย่างนิ่มนวล แล้วค่อยๆ เร่งอย่างนุ่มนวล “สวนกัน” รถก็จะออกตัวได้อย่างนุ่มนวล มือใหม่อาจจะต้องใช้เวลา “จับจังหวะ” กันหน่อย แต่ก็ไม่ยากหรอกครับหากตั้งใจ ถ้าคุณทำได้มันก็คือทำได้ตลอด จังหวะเปลี่ยนเกียร์ก็เหมือนกัน เหยียบคลัตช์ ถอนคันเร่ง เข้าเกียร์ ปล่อยคลัตช์ ทำจังหวะให้มัน “เข้ากัน” คุณจะรู้สึกได้เลยว่ารถจะนุ่มนวล วิ่งดีต่อเนื่อง ประหยัดน้ำมัน เพราะจังหวะทุกอย่างมัน “ลงตัว” กันนั่นเอง...

ไม่ควร “แช่คลัตช์”

การ “แช่คลัตช์” หมายความว่า “วางเท้าบนแป้นคลัตช์ตลอดเวลา” แบบนี้ คลัตช์จะทำงานตลอด เหมือนกับเรา “เหยียบอ่อนๆ” ไว้ เพราะขาเรามีน้ำหนักมากนะอย่าลืม เท่ากับว่า คลัตช์จะปล่อยไม่สุด จะมีระยะเหยียบอยู่ ทำให้การจับตัวของแผ่นคลัตช์ “ไม่สมบูรณ์” เท่าที่ควร จริงอยู่ แป้นคลัตช์มันมีระยะ “ฟรี” ไว้ประมาณหนึ่งก่อนคลัตช์จะทำงาน ลำพังแค่ “แตะเท้า” เพื่อรอเปลี่ยนเกียร์ล่ะก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้า “วางทิ้งน้ำหนักเท้าลงไปทั้งหมด” เวลาขับนานๆ นี่แหละ แช่คลัตช์ ทำให้คลัตช์สึกหรอเร็วกว่าปกติ กินน้ำมันมากขึ้น มันอาจจะมีผลน้อยแต่ระยะยาวมันก็เห็น ทางปฏิบัติ คือ “เมื่อปล่อยคลัตช์เรียบร้อยแล้ว ควรจะเอาเท้าซ้ายออกจากแป้น ไปวางไว้ที่พักเท้าซ้าย” พักไว้ก่อน เวลาใกล้จะเปลี่ยนเกียร์ก็ยกเท้ามาแตะรอที่แป้น แล้วค่อยเหยียบลงไป ปล่อยเสร็จก็วางพักเท้าเหมือนเดิม ผู้ผลิตรถยนต์เขาออกแบบมาให้ใช้งานแบบนี้ครับ (ไม่งั้นจะทำมาทำไมล่ะ) อีกอย่าง คุณจะ “สบาย Teen ซ้าย” มากขึ้น ไม่ต้องไปเขย่งวางค้างไว้ เชื่อผมเถอะ แล้วจะติดใจ...

อย่า “เลี้ยงคลัตช์” เวลาขึ้นทางชัน

การเลี้ยงคลัตช์ คือ “ปล่อยคลัตช์ไม่หมด” คาไว้ครึ่งหนึ่ง ให้คลัตช์จับครึ่งๆ เพื่อ “ยื้อไม่ให้รถไหล” ทักษะเทพนะครับ ไอ้จังหวะเลี้ยงกันรถไหลแป๊บๆ ล่ะได้ แต่ถ้านานหน่อยก็ “คลัตช์ไหม้” บรรลัยจักร ลองคิดดูครับ ฟลายวีล (ล้อช่วยแรง) หมุน แต่คลัตช์อยู่เฉยๆ เสียดสีกัน แล้วอะไรจะเหลือล่ะ ??? ทางที่ถูก คือ “ใช้เบรก” เท่านั้น คลัตช์ไม่ได้เอาไว้ทำหน้าที่เบรกครับ เบรกมีไว้เบรกครับ...

ออกรถทางชัน ใช้ “เบรกมือ” ให้เป็นประโยชน์

ต่อจากตะกี้ เวลาหยุดรถบนทางชันนานๆ แนะนำให้ใช้ “เบรกมือ” ดึงไว้กันรถไหล ท่านจะได้ไม่ต้องเหยียบเบรกค้างไว้นานๆ ของมีให้ใช้ก็ใช้ให้คุ้มค่า (ท่านเสียตังค์ซื้อรถมาแล้วนะ) เวลาจะออกตัว อย่าเพิ่งปลดเบรกมือลง ให้เข้าเกียร์เหยียบคลัตช์เหมือนปกตินั่นแหละ เอามือจับเบรกมือพร้อม “ปลดลง” ไว้ พอออกรถแล้วรู้สึกว่า “คลัตช์จับ” แล้วรถกำลังจะไป ก็ปลดเบรกมือแล้วออกตัวไป อาจจะฟังดูยากครับ แต่ถ้าหัดให้ชินแล้ว จะทำให้ขับง่ายและสบายกว่าเดิมเยอะ ไม่ต้องกังวลเรื่องรถไหลด้วย...

เข้าเกียร์นิ่มๆ ก็ได้มั้ง ไม่ต้องกระแทกหรอก

ถ้ารถปกติ เกียร์จะเข้าได้นุ่มนวลอยู่แล้ว โดยเฉพาะรถยุคใหม่ เรียกว่าดันเบาๆ ก็เข้า (โตแล้วไม่เจ็บหรอก) การเข้าเกียร์ที่ถูกต้อง “ใช้ข้อมือช่วย” เกียร์จะเข้าได้ง่าย โดยเฉพาะตำแหน่งเกียร์ที่ “เยื้อง” กัน เช่น 2-3 หรือ 4-5 หรือ 5-4 และ 3-2 ใช้ข้อมือช่วยมันจะเข้าได้ง่าย ถ้าคุณ “เกร็งแขนและข้อมือ” ก็จะทำให้เข้าเกียร์ได้ยาก และ “กระแทก” ไม่นุ่มนวล โอกาส “ใส่เกียร์ผิด” มีมาก เพราะคุณไม่รู้ด้วยธรรมชาติว่าตำแหน่งเกียร์อยู่ตรงไหน ไม่ต้องเกร็งหรอกครับ สบายๆ เข้าใจว่าแรกๆ ก็ต้องเกร็งบ้างแหละ หมั่นฝึกฝนบ่อยๆ เวลารถจอดกับที่ “ดับเครื่อง” ก่อนนะครับ แล้วฝึกเข้าเกียร์ไป จาก 1 ถึง 5 หรือ 6 (ถ้ามี) แล้วก็ทวนลงทีละเกียร์ “ห้ามมองเกียร์เด็ดขาด” ถ้าคุ้นมือแล้วก็สบายครับ คุณจะขับรถได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดความเมื่อยล้าลงได้มาก...

แต่อีกแบบ คือ “บ้าพลัง” เข้าเกียร์กระแทกปึ้งปั้ง จะโชว์ว่า “เก๋าสับโดด” ว่างั้นเถอะ เปลี่ยนเกียร์ทีกระแทกกันเบาะโยก พื้นแทบทะลุ โทษนะ เกียร์เข้ามันก็คือเข้า ไม่ต้องกระแทกหรอก มันก็ไม่ได้เร็วช้ากว่ากันเท่าไร อันนี้เราเน้นขับทั่วไปไม่ได้ขับแข่ง กระแทกเกียร์นอกจากจะเปลืองแรง ทำให้รถกระโชกโฮกฮากไม่นิ่ม กินน้ำมันมาก ทุกอย่างสึกหรอบรรลัยหมด เพราะแน่นอนว่าคนที่ขับแบบนี้ไม่ปล่อยคลัตช์นิ่มนวลหรอก บางคนขับอย่างกะแม่งโกรธกับเกียร์มาตั้งกับชาติไหน บูชคันเกียร์สึกหรอง่าย แป๊บเดียวก็คลอนและดัง เฟืองซินโครเมชในเกียร์ก็สึกเร็ว นี่แหละที่มันจะทำให้เข้าเกียร์ไม่ได้...

ไม่ต้องรักเกียร์มาก ปล่อยมันมั่งก็ได้

บางทีก็สงสัยเหมือนกันนะ หลายคนขับรถแล้ว “จับเกียร์ตลอดเลย” จับไว้ทำไมกัน กลายเป็นว่า “ขับรถมือเดียว” ซึ่งจะทำให้ความปลอดภัยในการขับขี่และควบคุมรถนั้นน้อยลงไป อาจจะคิดว่า “เก๋า” ขับรถมือเดียว แต่ถ้ามีอะไรขึ้นมาแล้วจะรู้สึก หรือไม่ทันรู้สึกก็ “ไปก่อน” การจับเกียร์ จะจับแค่ตอนจังหวะ “เปลี่ยนเกียร์” ก็พอ เปลี่ยนจบแล้วก็เอามือมาจับพวงมาลัย 2 มือ จะเกิดความปลอดภัยสูงสุดในการขับขี่ ไม่จำเป็นต้องคลำไว้ตลอดหรอกครับ จะจับค้างไว้ก็เวลาจะเปลี่ยนเกียร์จาก 1 มา 2 อันนั้นน่ะได้ เพราะมันเป็นช่วงสั้นๆ แค่นั้นพอ บางคนเล่นจับไว้แทบตลอดทางเลย ก็ไม่รู้ทำไมเหมือนกัน กลัวใครขโมยเกียร์ไปหรืออย่างไร...

ควรเปลี่ยนเกียร์ที่ความเร็วเหมาะสม

ไอ้คำว่าเหมาะสมนี่อาจจะ “บอกยาก” หน่อย เพราะสภาวะมันต่างกัน เช่น กำลังของรถ รถกำลังแรงบิดเยอะๆ ในรอบต่ำอย่างพวก “ดีเซล” พวกนี้เปลี่ยนเกียร์รอบต่ำได้สบาย แต่ถ้าเป็นรถเครื่องเบนซินเล็กๆ เปลี่ยนเกียร์รอบต่ำเกินไปจะทำให้ “รถไม่มีกำลังพอ” ประเภทเร่งไปนิดเดียว รอบยังไม่ทันขึ้นเลยก็เปลี่ยนเกียร์แล้ว หลายคนทำเพราะเชื่อว่า “ประหยัดน้ำมัน” แต่จริงๆ แล้วกลับ“เปลืองยิ่งกว่า” กรณีใช้รอบต่ำเกินไป เครื่องยนต์มีแรงบิดไม่พอ รถจะออกอาการ “สั่น” และ “อืด” แล้วคุณก็ต้องเหยียบคันเร่งเพิ่มเข้าไปอีก น้ำมันก็ถูกฉีดไปแต่รถไม่วิ่ง เพราะรอบมันต่ำแต่ดันใช้เกียร์สูงเกินไป เชื้อเพลิงก็ต้อง “จ่ายหนา” แถมไม่วิ่งอีก เหมือน “ฉีดทิ้งขว้าง” อ่ะครับ แล้วจะประหยัดท่าไหน รถก็วิ่งอืด เป็นการสิ้นเปลืองที่ไม่คุ้มค่าจริงๆ...

การเปลี่ยนเกียร์ที่เหมาะสม ตรงนี้คงชี้ชัดได้ยาก เพราะอยู่ที่หลายๆ ตัวแปร โดยหลักก็ให้ยืนตาม “คู่มือติดรถ” จะมีบอก  “ช่วงความเร็วที่เหมาะสมในการเปลี่ยนเกียร์” ก็ประมาณนั้นแหละครับ ใช้ความรู้สึกประกอบด้วยเพราะบางทีเราก็ไม่ต้องจ้องมาตรวัดความเร็วตลอด (อย่าเลยเดี๋ยวจะจูบตูดคันหน้าซะก่อน) เอาเป็นว่า ถ้าคุณใช้เกียร์ได้ถูกต้องเหมาะสมตามความเร็วรถ รถจะวิ่งดี ไปได้ต่อเนื่อง เบาคันเร่ง แถมประหยัดอีกด้วยนะ ไม่เชื่อก็ลองดู ลองดูแล้วไม่ต้องเชื่อเพราะเห็นภาพชัดเจน...

อยากประหยัด  เหยียบคลัตช์ เกียร์ว่าง ปล่อยไหล

สงสัยจะแข่งประหยัดน้ำมันหรือยังไง จะมีคนนิยม “เหยียบคลัตช์ ยัดเกียร์ว่าง” ปล่อยไหลเพื่อตัดกำลังจากเครื่องยนต์ เพราะคิดว่าทำแบบนี้แล้วจะประหยัด เอาอย่างนี้ คุณทำแบบนี้แล้วจะได้อะไร ประการแรก ถ้าคุณคาเกียร์ไว้ คุณจะได้เรื่อง “ระยะเบรกที่สั้นกว่า” การปล่อยไหล เพราะเวลาถอนคันเร่ง เครื่องยนต์จะมี “เอนจิ้นเบรก” หรือ “การเบรกด้วยแรงฝืดของเครื่อง” จะช่วย “หน่วง” ให้ระยะเบรกสั้นลง คุมรถได้ง่ายขึ้น จะเห็นผลชัดมากๆๆๆๆๆ ในเกียร์ธรรมดา จะมีผลมากในขณะ “ขับลงทางชัน” ต้องใช้เกียร์ต่ำ ความเร็วต่ำ เอ็นจิ้นเบรกเยอะ ไม่งั้นลองปล่อยไหลมารับรอง “ไม่ได้เห็นหน้ากัน” อีกแน่แท้ ประการที่สอง “ไม่เกี่ยวกับเรื่องเปลืองเลยสักนิดเดียว” เวลาคุณถอนคันเร่ง แม้จะคาเกียร์ไว้ “น้ำมันก็จะจ่ายน้อยเท่ารอบเดินเบา” เพราะตอนนี้เครื่องไม่ต้องการกำลังแล้ว ความคิดนี้มันมีมาตั้งแต่สมัย “เครื่องคาร์บูเรเตอร์” ที่แม้จะถอนคันเร่ง แต่รอบเครื่องสูงอยู่มันก็จะ “ดูดน้ำมันเบนซิน” ออกมาด้วยตามแรงดูดของเครื่องยนต์ อันนั้นแหละมีผลบ้าง สำหรับปัจจุบันเป็นเครื่องหัวฉีด ที่ “จ่ายน้ำมันตามความเป็นจริง” คุณถอนคันเร่งหมดน้ำมันก็จ่ายแค่เท่ารอบเดินเบาเพื่อเลี้ยงเครื่อง มันก็ไม่ต่างกันหรอกครับ จะประหยัดน้ำมันสักกี่หยดเชียว แลกกับการปล่อยไหลที่ “ระยะเบรกจะยาวขึ้น” คุ้มหรือไม่คิดเอาเอง ไม่เจ็บคอแต่ไม่พูดมาก แต่ผมไม่เอาด้วยคนนะจ๊ะ...

ใส่เกียร์ว่างทุกครั้งที่จอดรถ อย่าคาเกียร์เอาไว้

บางคนติดนิสัย “คาเกียร์” เอาไว้ เพื่อกันรถไหล แล้วเบรกมือเอาไว้ทำไมล่ะครับ ??? ปกติรถรุ่นใหม่ๆ เบรกมือก็จะ “แน่นมาก” อยู่แล้ว ปลดเกียร์ว่าง กันรถไหลก็ดึงเบรกมือไว้ซะ (ต้องดูด้วยนะว่าจอดขวางใครหรือเปล่า เดี๋ยวจะมีดราม่าเป็นรอยรอบคัน) ก่อนดึงเบรกมือ ก็ “เหยียบเบรกไว้แน่นๆ” ก่อน เวลาดึงเบรกมือจะแน่นมากขึ้น แต่ถ้าเกิดเจอรถบรรทุกหนักจริงๆ เบรกมือเอาไม่อยู่ กลัวจะไหลก็คาเกียร์ไว้ได้ แต่อย่าลืม “ปลดเกียร์ว่างก่อนสตาร์ทเครื่อง” จำไว้ให้ขึ้นใจ...

ก่อนสตาร์ทเครื่อง เช็คเกียร์ว่าง เหยียบคลัตช์ด้วย

มันเป็นเรื่อง “เซฟตี้” แบบสากล ซึ่งรถยุโรปเกียร์ธรรมดา และ รถเกาหลี อย่าง HYUNDAI บางรุ่น ไม่เหยียบคลัตช์สตาร์ทเครื่องไม่ได้ อย่างน้อยก็กัน “รถพุ่ง” ไปชนใครเข้า แต่ก่อนอื่นใด ทางปฏิบัติพื้นฐาน ก็คือ “เช็คให้แน่ใจว่าอยู่เกียร์ว่าง” โดยการ “โยกไปซ้ายและขวา” ถ้าเกียร์ว่างมันจะโยกด๊อกแด๊กได้สุดสองฝั่ง ก่อนบิดกุญแจสตาร์ท ก็เหยียบคลัตช์ด้วยกันเหนียวอีกครั้งหนึ่ง จะได้เพิ่มความปลอดภัยให้สูงสุด...

ก็เล่ามากันมาแบบ “จัดเต็ม” กันเลยทีเดียว สำหรับวิธีการขับรถเกียร์ธรรมดาให้ถูกต้อง มันมีความสำคัญมากๆ นอกจากสมรรถนะแล้ว ยังมีเรื่องของ “ความปลอดภัย” ที่เราเน้นหนักหนามาตลอดเวลา แม้ว่าตอนนี้คนจะหันไปใช้เกียร์ออโต้กันเกือบหมดแล้ว แต่เกียร์ธรรมดามันก็ยังมีอยู่บนโลก คนที่ใช้อยู่ก็จะได้นำความรู้ในบทความนี้ไปใช้ให้เป็นประโยชน์ เราก็ดีใจแล้ว ครั้งหน้า เป็นคิวของ “การขับรถเกียร์ออโต้ให้ถูกต้อง” ในรูปแบบ “ไลฟ์สไตล์ 224” ที่มีสาระแบบเบาๆ แต่ได้ประโยชน์หนักแน่น แล้วพบกันครับ...

 

           

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้