ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ ร่วมต้อนรับ “ตุน ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย”

593 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ ร่วมต้อนรับ “ตุน ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย” ในโอกาสที่เดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ และเยือนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมบรรยายพิเศษในหัวข้อ ‘ความสัมพันธ์มาเลเซีย-ไทยในบริบทอาเซียน’ (Malasia - Thai Bilateral Reletions in the Context of ASEAN) โดยมี ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ และ รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ พร้อมผู้บริหารมหาวิทยาลัยให้การต้อนรับ ณ หอประชุม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดยการนี้ รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬามหาวิทยาลัย ได้นำเจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ มาให้การต้อนรับและเข้าร่วมการบรรยายครั้งนี้ พร้อมจัดอาหารว่างมารับรอง ด้วยทางศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติว่า ประเทศไทยคือศูนย์กลางด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลของโลก ที่การันตีด้วยรางวัลบริการภาครัฐแห่งชาติ ประเภทนวัตกรรมการบริการที่เป็นเลิศ ระดับดีเด่น จากโครงการ ‘HAL-Q นวัตกรรมระบบบริหารจัดการคุณภาพความปลอดภัยผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลครบวงจร’ ซึ่งทุกนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นล้วนเป็นไปเพื่อประโยชน์และคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้บริโภคทั้งสิ้น 

“ทุกครั้งที่มีงาน หรือแขกผู้มีเกียรติจากประเทศมุสลิมมาเยือน ทางศูนย์ฯ จะต้องต้อนรับและรับรองอาหารว่าง และครั้งนี้เช่นกันได้มาต้อนรับคณะผู้นำประเทศมาเลเซีย ซึ่งประเทศไทยและมาเลเซียมีความสัมพันธ์ที่ดีกันมานานแล้ว ทั้งได้มีการร่วมมือและส่งเสริมทางด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาล โดยปี 2546 ได้เปิดศักราชใหม่กับความร่วมมือระหว่างกิจการฮาลาลของประเทศไทยและมาเลเซียด้วย ทั้งได้รับเชิญไปบรรยายพิเศษเรื่องความสำเร็จของฮาลาลประเทศไทยโดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสนับสนุน ที่รัฐซาราวัก มาเลเซีย จนผู้นำของรัฐแสดงความประสงค์ใช้ประเทศไทยเป็นโมเดลในการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของเขา และรัฐยะโฮร์ ได้มาปรึกษารูปแบบของประเทศไทย เพื่อการพัฒนาศูนย์ฮาลาลให้เป็นศูนย์กลางฮาลาลที่ทันสมัยที่สุดของมาเลเซีย นอกจากนี้ ได้มาเยี่ยมชมศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ และส่งเจ้าหน้าที่มาเข้ารับการอบรมด้วย เพราะอยากทราบความก้าวหน้าของฮาลาลในประเทศไทย และประสงค์จะสร้างความร่วมมือระหว่างมาเลเซียและประเทศไทยด้านการพัฒนางานรับรองฮาลาล”

ดังนั้นการขับเคลื่อนงานฮาลาลที่ทำให้ทั่วโลกมองประเทศไทยเป็นแบบอย่าง เป็นอีกครั้งที่สร้างความภาคภูมิใจและสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย ด้วยมุ่งมั่นดำเนินงานเพื่อความปลอดภัยด้านกายภาพและจิตวิญญาณของผู้บริโภคมุสลิมทั้งในประเทศและทั่วโลก วิทยาศาสตร์ฮาลาล จึงเป็นเครื่องมือในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สาขาต่างๆ นำไปสู่การพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ ตลอดจนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ          

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้