สภากายภาพบำบัด ผนึก 16 มหาวิทยาลัย และ 12 เครือข่ายนักกายภาพบำบัดทั่วประเทศ สร้างหลักสูตรพัฒนาทักษะอาจารย์พิเศษทางคลินิก ร่วมผลิตนักกายภาพบำบัดที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์

450 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เมื่อเร็วๆ นี้ มีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ โครงการจัดทำมาตรฐานหลักสูตรการเรียนการสอนทางคลินิก โดยความร่วมมือระหว่างสภากายภาพบำบัด 16 มหาวิทยาลัยที่มีการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรกายภาพบำบัด (สภาการศึกษากายภาพบำบัดแห่งประเทศไทย) และ 12 เครือข่ายนักกายภาพบำบัดทั่วประเทศ รวม 60 คน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำมาตรฐานหลักสูตรกลางในการพัฒนาทักษะการจัดการเรียนการสอนให้กับอาจารย์พิเศษทางคลินิกเป็นครั้งแรกของประเทศไทย

มีงานวิจัยมากมายรายงานตรงกันว่า หัวใจของการศึกษาเพื่อผลิตนักกายภาพบำบัดที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของสังคมในวิชาชีพกายภาพบำบัดอยู่ที่ "การฝึกปฏิบัติงานทางคลินิก" รายงานดังกล่าวสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกับงานวิจัยทางแพทยศาสตร์ศึกษาหลายฉบับ การเรียนการสอนในขณะฝึกปฏิบัติงานทางคลินิกมีความแตกต่างกับการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยอย่างมาก เนื่องจากการฝึกปฏิบัติงานทางคลินิกเป็นการทำงานจริงของนักศึกษากายภาพบำบัด นักศึกษาได้เรียนรู้กับรูปแบบการทำงานจริง ผู้ป่วยจริงในสถานการณ์จริง เป็นการตรวจสอบองค์ความรู้เดิมที่มีกับความรู้ใหม่จากประสบการณ์ตรง นักศึกษาจะได้ฝึกทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีความซับซ้อนจากบุคลากรทางการแพทย์ ระบบการทำงาน และเครื่องมือที่หลากหลาย การฝึกปฏิบัติงานทางคลินิกนอกจากการฝึกประสบการณ์ทางวิชาชีพแล้ว นักศึกษาจะได้เรียนรู้และฝึกทักษะความเป็นมนุษย์ เช่น การสื่อสาร การบริหารจัดการและการทำงานเป็นทีมในระบบที่ซับซ้อน ที่สำคัญได้เรียนรู้ที่จะทำความเข้าใจกับความทุกข์และความคาดหวังของผู้ป่วยและญาติ

ในสถานการณ์ใหม่ที่ซับซ้อน จำเป็นอย่างยิ่งที่นักศึกษาจะต้องมีครูที่คอยชี้แนะ ตรวจสอบและเป็นกำลังใจในการฝึกปฏิบัติงานให้สำเร็จสู่การเป็นนักกายภาพบำบัดที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์ได้อย่างสมบูรณ์ แน่นอนว่าบุคลสำคัญในการควบคุมการฝึกปฏิบัติงานทางคลินิกของนักศึกษาแต่ละคน คือ "อาจารย์พิเศษทางคลินิก” หรือ เรียกสั้นๆ ว่า “CI” (Clinical Instructors) ซึ่งในอดีตที่ผ่านมายังไม่มีมาตรฐานหลักสูตรเพื่อการพัฒนาทักษะการจัดการเรียนการสอนทางคลินิกให้กับอาจารย์พิเศษทางคลินิก หลายมหาวิทยาลัยจึงมุ่งเน้นพัฒนาทักษะทางวิชาชีพให้กับอาจารย์พิเศษทางคลินิกเป็นหลัก อาจจะมีบ้างในบางครั้งที่จัดอบรมเกี่ยวกับการเรียนการสอนแต่เป็นเพียงบางหัวข้อไม่ครบตามหลักสูตรพื้นฐาน จึงทำให้ปัจจุบันการสอนในคลินิกของอาจารย์พิเศษทางคลินิกเป็นการสอนที่เหมือนหรือคล้ายกับการสอนเนื้อหาวิชาการในมหาวิทยาลัย ไม่สามารถสอนให้เกิดความเชื่อมโยงกับผู้ป่วยหรือปัญหาของผู้ป่วยอย่างเข้มข้นได้ เนื่องจากขาดทักษะและเทคนิคในการสอนทางคลินิก จึงนำประสบการณ์เก่าเท่าที่เคยได้เรียนรู้มาตอนเป็นนักศึกษาในอดีตมาสอนนักศึกษาในปัจจุบัน

ในการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อการจัดทำมาตรฐานหลักสูตรสำหรับอาจารย์พิเศษทางคลินิกในครั้งนี้ ใช้รูปแบบการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรงจากสถานการณ์จำลอง (Simulation Study) การทำกระบวนการละคร การอ่านเรื่องเล่า บรรยาย ฝึกปฏิบัติ ประชุมระดมสมองและถอดบทเรียนออกมาเป็นหลักสูตร โดยมี ดร.กภ.วรชาติ เฉิดชมจันทร์ คณบดีคณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นผู้นำกระบวนการหลัก ผลการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการได้ข้อสรุปโครงสร้างเนื้อหาหลักสูตรสำหรับพัฒนาศักยภาพอาจารย์พิเศษทางคลินิก ดังนี้ (๑) จิตวิญญาณความเป็นครูและการจัดการเรียนรู้เพื่อการส่งเสริมเจตคติและความเป็นนักกายภาพบำบัด (๒) เทคนิคการจัดการเรียนการสอนทางคลินิกที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยเน้นให้อาจารย์พิเศษทางคลินิกสามารถเขียนวัตถุประสงค์และแผนการสอนทางคลินิกได้รวมถึงการประเมินผลการเรียนรู้ของนักศึกษาในคลินิก (๓) ทักษะสำคัญสำหรับอาจารย์พิเศษทางคลินิก ได้แก่ การตั้งคำถามเพื่อสร้างการเรียนรู้ การให้ข้อมูลป้อนกลับเพื่อการพัฒนา การสอนข้างเตียง และการสอนกลุ่มย่อยทางคลินิก โดยมีระยะเวลาการอบรมอย่างน้อย 21 ชั่วโมง สำหรับหลักสูตรในขั้นต้น ทั้งนี้แต่ละมหาวิทยาลัยอาจจะมีการจัดอบรมที่เข้มข้นขึ้นตามบริบทและเป้าหมายของการฝึกปฏิบัติแต่ละคลินิกต่อไป

การพัฒนาศักยภาพอาจารย์พิเศษทางคลินิกให้สามารถทำหน้าที่เป็น “ครูกายภาพบำบัด” ที่สมบูรณ์สามารถจัดการเรียนการสอนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด สอนให้นักศึกษากายภาพบำบัดมีความรู้และทักษะทางวิชาชีพในการปฏิบัติงานที่เป็นมาตรฐานสากลมีความปลอดภัยในการดูแลผู้ป่วย อีกทั้งยังเชื่อมโยงความรู้และทักษะเข้ากับชีวิตจริงที่สามารถปฏิบัติได้ ถือเป็นการขับเคลื่อนคุณภาพการบริการทางกายภาพบำบัดที่มีนัยสำคัญในระบบสาธารณสุขไทยกับการผลิตบัณฑิตกายภาพบำบัดที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์ในการดูแลประชาชนต่อไป

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้