นักวิจัยมช.คว้ารางวัลงานประชุมส.แพทย์โรคหัวใจโลก หวังต่อยอดรักษา‘กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน’

797 จำนวนผู้เข้าชม  | 

นักวิจัยมช.สร้างชื่อคว้ารางวัลจากงานประชุมสมาคมแพทย์โรคหัวใจที่สหรัฐอเมริกา หลังนำเสนอผลงานการศึกษาตัวยับยั้งการแบ่งตัวและตัวกระตุ้นการรวมตัวของไมโทคอนเดรียต่อการทำงานของหัวใจ หวังพัฒนาสู่การรักษาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยต่อไป



ดร.ศิริพงษ์ ปาลี นักวิจัยประจำศูนย์วิจัยและฝึกอบรมสาขาโรคทางไฟฟ้าของหัวใจ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คว้ารางวัล 2018 International Early Career Investigator Award จากสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา จากการนำเสนอผลงานวิจัย เรื่อง “การปรับเปลี่ยนดัชนีสมดุลไมโทคอนเดรียโดยการใช้สารปรับสมดุลของไมโทคอนเดรียป้องกันการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อหัวใจจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดแล้วมีเลือดกลับมาเลี้ยงใหม่” ในงานประชุมสมาคมแพทย์โรคหัวใจ ผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยในสาขาโรคหัวใจและหลอดเลือดจากทั่วโลก ณ เมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดในโลกของสาขาดังกล่าว โดยมี ศ. ดร. ไอวอร์ เบนจามิน ประธานสมาคมฯ เป็นผู้มอบรางวัล

งานวิจัยดังกล่าวได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากฝ่ายวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยมี ศ. (เชี่ยวชาญพิเศษ) ดร. ทพญ.สิริพร ฉัตรทิพากร และ ศ. (เชี่ยวชาญพิเศษ) ดร. นพ.นิพนธ์ ฉัตรทิพากร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและฝึกอบรมสาขาโรคทางไฟฟ้าของหัวใจ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาหลัก ซึ่งผลงานวิจัยของ ดร.ศิริพงษ์จะได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารชั้นนำระดับโลกอย่าง CIRCULATION ด้วย



ทั้งนี้ ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของประชากรทั่วโลก วิธีการรักษาในปัจจุบันมีเพียงวิธีเดียว คือ การทำให้เลือดกลับมาหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจใหม่อีกครั้ง แต่วิธีนี้มักจะสัมพันธ์กับการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจบาดเจ็บ จนนำไปสู่การทำงานของหัวใจที่ผิดปกติและเป็นสาเหตุการเสียชีวิตในที่สุด ดังนั้นการลดระดับความรุนแรงของการบาดเจ็บต่อกล้ามเนื้อหัวใจภายหลังการทำให้เลือดกลับไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ใหม่ ย่อมส่งผลดีต่อการทำงานของหัวใจและเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วย



มีรายงานการศึกษาที่พบว่าไมโทคอนเดรียซึ่งทำหน้าที่เป็นแหล่งพลังงานของเซลล์ในหัวใจมีบทบาทสำคัญในการควบคุมการมีชีวิตของเซลล์ผ่านกระบวนการรวมตัวและแบ่งตัว โดยในภาวะปกติจะมีความสมดุลของกระบวนการข้างต้น แต่ในภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันจะเกิดกระบวนการไมโทคอนเดรียแบ่งตัวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสัมพันธ์กับปริมาณการตายของกล้ามเนื้อหัวใจจากภาวะดังกล่าว ดังนั้นการยับยั้งกระบวนการแบ่งตัวและการเพิ่มกระบวนการรวมตัวของไมโทคอนเดรีย จึงน่าจะส่งผลดีต่อการทำงานของหัวใจที่เกิดภาวะขาดเลือด อันเป็นที่มาของการศึกษาผลของตัวยับยั้งการแบ่งตัวของไมโทคอนเดรีย และตัวกระตุ้นการรวมตัวของไมโทคอนเดรียต่อการทำงานของหัวใจในหนูที่เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด



 ผลการวิจัยพบว่าการใช้สารทั้งสองสามารถเพิ่มความสมดุลของกระบวนการเปลี่ยนแปลงของไมโตคอนเดรีย รวมถึงช่วยลดการบาดเจ็บของเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจที่เกิดขึ้น ช่วยฟื้นฟูการทำงานของไมโทคอนเดรียด้วยการลดกระบวนการแบ่งตัว และส่งผลให้เพิ่มความสามารถในการสูบฉีดเลือดของหัวใจไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายในที่สุด นอกจากนี้ยังพบว่าสารยับยั้งกระบวนการแบ่งตัวของไมโทคอนเดรียมีประสิทธิภาพสูงกว่าการลดความรุนแรงจากภาวะดังกล่าว ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้จึงเป็นประโยชน์ต่อการนำไปประยุกต์ใช้ทางคลินิกในผู้ป่วยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน และเป็นความรู้ใหม่ที่อาจนำไปสู่การพัฒนาวิธีการรักษาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้ในอนาคต

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้