McLaren Speedtail ว่าที่รถ Hyper-GT รุ่นแรกจาก McLaren

1654 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ภาพ : McLaren Automotive

เรียบเรียง : Pitak Boon


ซูเปอร์คาร์คือที่สุดของยนตรกรรม อัดแน่นไปด้วยสมรรถนะที่มาพร้อมความหรูหรา และความสบายในระดับหนึ่งเมื่อเทียบกับรถยนต์ทั่วไป ขณะที่ ‘ไฮเปอร์คาร์’ เรื่องความหรูอาจไม่โดดเด่นเท่า ทว่าเรื่องพละกำลังจากเครื่องยนต์ และสมรรถนะจากการขับขี่นับว่าไม่เป็นรอง สำหรับไฮเปอร์คาร์ที่ดูจะเน้นเป็นพิเศษ คือเรื่องของน้ำหนัก ความเบาจึงเป็นหลักการเบื้องต้นของรถกลุ่มที่ถูกจัดให้เป็นไฮเปอร์คาร์ เมื่อมันเบา จึงมาพร้อมการตอบสนองที่รวดเร็ว และฉับไวเป็นบุคลิกพื้นฐาน ซึ่ง McLaren คือผู้ผลิตไฮเปอร์คาร์ระดับหัวแถวของโลก ล่าสุดได้ปล่อยตัวโปรโตไทป์ของรถโมเดลใหม่ ในชื่อ ‘Speedtail’ ออกมาเรียกเรตติ้งจากบรรดาเศรษฐีกระเป๋าหนัก โดย McLaren จัดให้มันเป็น ‘Hyper-GT’ โมเดลแรกประจำค่าย

ตัวแรงจาก McLaren ทุกรุ่นที่ถูกผลิตเพื่อจำหน่ายทั้งกับบรรดาเศรษฐีทั่วไป และทีมแข่ง ถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ ‘Sport Series’ [570 GT, 570S Coupe, 540C Coupe], ‘Super Series’ [675 LT Spider, 675 LT Coupe, 650S, 625C และ 720S] และ ‘Ultimate Series’ [P1 GTR, P1] โดยจะมี ‘McLaren Speedtail’ เข้ามาเป็นสมาชิกคันล่าสุดของกลุ่ม Ultimate Series เป็นการผลิตแบบ Limited Edition ด้วยยอดจำกัดไว้ที่เพียง 107 คัน พร้อมราคาค่าตัวระดับ 1.75 ล้านปอนด์ คำนวณออกมาเป็นเงินไทยราว 73 ล้านบาท แบบยังไม่รวมภาษี!!!

McLaren Speedtail ได้รับ Know-how ทั้งคันมาจาก F1 ใช้โครงสร้างคาร์บอนไฟเบอร์ ที่มีชื่อเฉพาะว่า Monocage น้ำหนักของรถทั้งคันอยู่ที่เพียง 1,430 กิโลกรัม ขับเคลื่อนด้วยชุด Petro-electric Hybrid พละกำลังรวม 1,050 PS ซึ่งค่ายนี้บุกเบิกพัฒนามาก่อนใน McLaren P1 ด้วยรูปทรงที่ออกแบบตามทฤษฎีแอร์โร่ไดนามิคในทุกรายละเอียด ส่งผลให้ Speedtail แหวกม่านความเร็วไปได้ถึง 403 กม./ชม. อัตราเร่ง 0-300 กม./ชม. คุยกันที่เวลา 12.8 วินาที ทั้งหมดเป็นคุณสมบัติของรถที่ถูกเรียกว่า ‘Hyper-GT’ จาก McLaren

Speedtail มีความยาวถึง 5.2 เมตร ใช้ดีไซน์รูปทรงหยดน้ำ พร้อมตัวถังที่เตี้ยและแบนเพื่อลดแรงต้านอากาศ ส่วนกระจกบังลมหน้าและหลังพร้อมโดมหลังคา ออกแบบในลักษณะเดียวกับฝาครอบค็อกพิทของเครื่องบินขับไล่ ล้อคู่หน้ามาพร้อมฝาปิดคาร์บอนไฟเบอร์ (Front-wheel Static Aero Covers) เพื่อลดการไหลวนของอากาศ ขณะที่ส่วนหางของ Speedtail เป็นชุด Active Aerodynamic แบบแยก 2 ฝั่ง ซึ่งในสภาพปกติชุดสปอยเลอร์หลัง ซ้าย-ขวา จะซ่อนตัวอยู่ในระดับเดียวกับพื้นผิวตัวถังอย่างแนบเนียน (Active Rear Ailerons) และยกตัวขึ้นมาได้ 35 มิลลิเมตร เพื่อสร้างแรงกดท้ายรถ จากการออกแบบสปอยเลอร์แบบแยกส่วน จึงมีความเป็นไปได้สูงว่า จะสามารถทำงานแยกกันได้อย่างอิสระ เพื่อเพิ่มระดับในการสร้างแรงกดขณะรถเข้าโค้งในความเร็วสูง ซึ่งใช้หลักการเดียวกับอากาศยาน

เสน่ห์ของ Speedtail อยู่ที่การออกแบบห้องโดยสาร ได้รับแรงบันดาลใจมาจากรถ McLaren F1 เจ้าของสถิติรถถนนที่เร็วที่สุดในโลกเมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา ทีมออกแบบวางตำแหน่งเบาะนั่งคนขับไว้ตรงกลาง เพื่อทัศนวิสัยที่ชัดเจนเช่นเดียวกับรถแข่ง F1 และขนาบข้างด้วยเบาะนั่งของผู้ติดตามทั้งฝั่งซ้าย และฝั่งขวา ค็อกพิทรอบตัวผู้ขับก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตอลอย่างเต็มรูปแบบ ข้อมูลต่างๆ แสดงผลผ่านจอ LCD จำนวน 3+2 จอ จอตรงกลางหลังพวงมาลัยใช้แสดงความเร็ว พร้อมวัดรอบ เช่นเดียวกับชุดมาตรวัดอนาล็อกแบบดั้งเดิม อีก 2 จอ บนคอนโซลหน้า เป็นส่วน Infotainment และระบบปรับอากาศ ขณะที่อีก 2 จอ ติดบานประตูแบบปีกนก ทำหน้าที่แทนกระจกมองข้างแบบ E-mirrors สำหรับสวิตช์ควบคุมเกียร์ และโหมดการขับขี่ย้ายไปอยู่บนคอนโซลเพดาน

รายละเอียดของ Speedtail ที่ McLaren ยังไม่ได้เปิดเผย เป็นในส่วนชองชุดขับเคลื่อน หรือระบบไฮบริด ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากหากจะยกชุดมาจาก McLaren P1 แล้วมาพัฒนาต่อ โดย McLaren Speedtail จะพร้อมส่งมอบรถให้กับลูกค้าที่เริ่มต้นจองกันไปเรียบร้อยแล้ว ในปี 2020

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้