บอร์ด สปสช. เห็นชอบ “รับฟังความเห็นกองทุนบัตรทอง ปี 62” เพิ่มประเด็นเฉพาะ “การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก”

407 จำนวนผู้เข้าชม  | 

บอร์ด สปสช.เห็นชอบ “แผนรับฟังความเห็นกองทุนบัตรทอง ปี 62” ระดมความเห็นผู้ให้บริการ-ผู้รับบริการ สู่การปรับปรุง พัฒนาระบบ เริ่ม มิ.ย.- ก.ค.62 นี้ เพิ่มประเด็นเฉพาะ “การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก” หนุนนโยบายรัฐ จัดบริการแพทย์แผนไทยภายใต้กองทุนบัตรทองอย่างเหมาะสม เผย ปี 62 ขยายช่องทางรับฟังความเห็นเพิ่มเติม ผ่านระบบออนไลน์ครอบคลุมทั่วประเทศ 



นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ประธานอนุกรรมการสื่อสารสังคมและรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้และผู้รับบริการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 4 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยมี ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ได้เห็นชอบแผนรับฟังความคิดเห็นโดยทั่วไปจากผู้ให้และรับบริการ ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามมาตรา 18 (13) ประจำปี 2562 ปีนี้กำหนดจัดขึ้นระหว่างเดือนมิถุนายน -สิงหาคม 2562

การรับฟังความเห็นโดยทั่วไปฯ เป็นไปตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ตามมาตรา 18 (10) ให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนดให้มีการจัดการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการเป็นประจำทุกปี นับเป็นกลไกสำคัญในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ก่อให้เกิดประโยชน์ในการปรับปรุงคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขมาตลอด โดยปีนี้นับเป็นครั้งที่ 16 ซึ่งประเด็นรับฟังความเห็นนอกจาก 7 ด้าน คือ 1.ประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุข 2.มาตรฐานบริการสาธารณสุข 3.การบริหารจัดการสำนักงาน 4.การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 5.การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นและพื้นที่ 6.การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และ 7.การรับรู้และคุ้มครองสิทธิแล้ว ยังได้เพิ่มประเด็นเฉพาะ “การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก” ด้วย

“รัฐบาลมีนโยบายให้หน่วยงานทุกภาคส่วนมุ่งสนับสนุนการแพทย์แผนไทยและนำมาเป็นส่วนหนึ่งของการแพทย์ไทยอย่างแท้จริง และในเวทีรับฟังความเห็นฯ ที่ผ่านมาได้มีข้อเสนอด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกเข้ามาอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากยังขาดความชัดเจน ดังนั้นในปีนี้จึงกำหนดเป็นประเด็นเฉพาะเพื่อที่จะได้ร่วมระดมความเห็นว่า การแพทย์แผนไทยฯ และระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ควรมีทิศทางอย่างไร รวมถึงการปรับปรุงสิทธิประโยชน์และการบริหาร เพื่อเกิดการเข้าถึงบริการและร่วมสนับสนุนการพัฒนาภูมิปัญญาการแพทย์ของประเทศไทยให้ยั่งยืน” ประธานอนุกรรมการสื่อสารสังคมฯ กล่าว  

นพ.เจษฎา กล่าวต่อว่า ส่วนรูปแบบการรับฟังความเห็นจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การรับฟังความเห็นในระดับพื้นที่และการรับฟังความเห็นระดับประเทศ โดยการรับฟังความเห็นในระดับพื้นที่จะมีคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่ (อปสข.) และคณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขระดับเขตพื้นที่ (อคม.) ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งจะดำเนินการครบทั้ง 13 เขต โดยเปิดให้สามารถกำหนดประเด็นเฉพาะพื้นที่เพื่อสะท้อนปัญหาพื้นที่เพิ่มเติม และจะรวบรวมและกลั่นกรองความเห็นที่ได้รับฟังเพื่อนำเสนอในเวทีระดับประเทศต่อไป

ส่วนการรับฟังความเห็นระดับประเทศ เบื้องต้นกำหนดระยะเวลาจัดประชุม 2 วัน ในวันที่ 15-16 สิงหาคม 2562 ซึ่งเป็นเวทีใหญ่ที่เปิดให้ทุกภาคส่วนสามารถร่วมแสดงความเห็นได้ เน้นสร้างการมีส่วนร่วมกับเครือข่ายวิชาชีพ เครือข่ายภาคประชาชน 9 ด้าน นอกจากนี้ยังมีการเปิดรับฟังความเห็นทางระบบออนไลน์และทางสายด่วน สปสช. 1330ซึ่งเป็นการเพิ่มช่องทางให้กับประชาชนในการร่วมสะท้อนความเห็นเข้ามาได้ 

“กระบวนการปรับฟังความเห็นฯ สปสช.ได้จัดให้มีขึ้นเป็นประจำทุกปี และปีนี้ได้ขยายช่องทางรับฟังความเห็นทางออนไลน์ให้ครอบคลุมระดับประเทศ พร้อมนำเรื่องร้องเรียนที่ได้รับจากสายด่วน 1330, หน่วยรับร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน และศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพในหน่วยบริการ มาวิเคราะห์เป็นข้อเสนอรับฟังความเห็น พร้อมปรับปรุงช่องทางและวิธีการสื่อสาร มีการคืนข้อมูลผลการรับฟังความคิดเห็นด้วยSocial Media และ Infographic เพื่อให้เกิดการสื่อสารสองทาง ทั้งหมดนี้เป็นกลไกที่สำคัญนำไปสู่การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จนประสบความสำเร็จและเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ” ประธานอนุกรรมการสื่อสารสังคมฯ กล่าว

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้