“วันอนามัยโลก ปี 62” ไทยร่วมรณรงค์ สุขภาพปฐมภูมิ สู่ผลสำเร็จหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

439 จำนวนผู้เข้าชม  | 

วันอนามัยโลก 2562 ไทยร่วมรณรงค์ “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า บริการปฐมภูมิปัจจัยสำคัญสู่การบรรลุหลักประกันสุขภาพ” เผยรากฐานบริการปฐมภูมิเข้มแข็งของไทย จาก “สุขศาลา” ถึง “รพ.สต.” สู่นโยบายหมอครอบครัว ปัจจัยหนุนความสำเร็จหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไทย ส่งผลประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพ อย่างครอบคลุม ทั่วถึง อย่างมีคุณภาพ   

 

ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า วันที่ 7 เมษายนของทุกปีเป็น “วันอนามัยโลก” โดยประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกใช้เป็นโอกาสในการจัดกิจกรรมเพื่อให้ประชาชนและทุกภาคส่วนในสังคมร่วมตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพ ทั้งในเรื่องการควบคุม ป้องกัน แก้ปัญหาสุขภาพ และส่งเสริมด้านสุขภาพประชาชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน โดยในปี 2562 กำหนดรณรงค์ “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า บริการปฐมภูมิปัจจัยสำคัญสู่การบรรลุหลักประกันสุขภาพ” เพื่อกระตุ้นให้ประเทศสมาชิกทั่วโลกให้ความสำคัญการพัฒนาบริการปฐมภูมิ หนึ่งในปัจจัยสนับสนุนความสำเร็จหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

การรณรงค์วันอนามัยโลกที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกและประเทศสมาชิกได้หันมาให้ความสำคัญต่อการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เนื่องจากเป็นเครื่องมือดูแลประชากรในแต่ละประเทศให้สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่จำเป็นในเวลาที่จำเป็นได้อย่างมีประสิทธิผล ลดอุปสรรคค่าใช้จ่าย โดยก่อนหน้านี้ได้กำหนดให้เป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ภายในปี 2573 ที่ผลักดันให้ประเทศสมาชิกดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศ

ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ที่ผ่านมาหลายประเทศได้ขับเคลื่อนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงประเทศไทยที่ดำเนินมา 17 ปี และได้รับการยกย่องจากนานาประเทศให้เป็นประเทศต้นแบบของการดำเนินหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แม้ว่าจะเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลางก็ตาม ปัจจัยความสำเร็จนอกจากรัฐบาลให้ความสำคัญต่อนโยบายสุขภาพประชาชนอย่างต่อเนื่อง ประสิทธิภาพการบริหารการเงินการคลังสุขภาพและการบริหารจัดการระบบ รวมถึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วนแล้ว ประเทศไทยยังมีระบบ “บริการปฐมภูมิ” เข้มแข็ง มีหน่วยบริการกระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ทั้งในเขตเมือง ชนบทและพื้นที่ห่างไหล เชื่อมต่อกับระบบสาธารณสุขประเทศ รองรับบริการสุขภาพประชาชนเบื้องต้นได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง รวมถึงในด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ติดตามดูแลผู้ป่วยและฟื้นฟูสมรรถภาพ เป็นต้น ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการขับเคลื่อนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจนประสบสำเร็จ   

“ไทยให้ความสำคัญต่อการพัฒนาบริการปฐมภูมิอย่างต่อเนื่อง เริ่มต้นจากสุขศาลาสู่สถานีอนามัยและพัฒนาเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่ปัจจุบันมีจำนวน 9,750 แห่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ และยังมีศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองอีก 252 แห่ง ขณะที่ กทม.มีศูนย์บริการสาธารณสุข 68 แห่งขับเคลื่อนไปพร้อมกัน นอกจากนี้ในปี 2557 รัฐบาลได้มีนโยบายทีมหมอครอบครัวที่ยกระดับบริการปฐมภูมิของประเทศ ดูแลสุขภาพประชาชนได้อย่างใกล้ชิดและเป็นระบบยิ่งขึ้น เป็นการเชื่อมโยงการรักษาพยาบาลแบบไร้รอยต่อ โดยยึดโยงผู้ป่วยและครอบครัวเป็นหลัก” รมว.สาธารณสุข กล่าว



ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวต่อว่า บริการปฐมภูมิไม่เพียงเป็นกลไกลดช่องว่าง สร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการสุขภาพให้กับประชาชน แต่ยังมีผลลัพธ์คุ้มค่า ประหยัดค่าใช้จ่าย และยังทำให้บรรลุเป้าหมายการสร้างสุขภาพที่ดีให้กับประชาชนได้ ดังนั้นประเทศต่างๆ ควรให้ความสำคัญต่อการพัฒนาบริการปฐมภูมิเพื่อขับเคลื่อนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยในการประชุมผู้บริหารระดับสูงว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่กำหนดจัดขึ้นระหว่างการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชนเดือนกันยายนนี้ เป็นโอกาสอันดีเพื่อสื่อสารความสำคัญของการสร้างความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข ไม่เพียงส่งผลต่อสุขภาพบุคคล แต่ยังเสริมสร้างความแข็งแกร่งเศรษฐกิจและสังคม     

ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ระบบบริการปฐมภูมิที่เข้มแข็ง นอกจากเป็นรากฐานของระบบสาธารณสุขไทยแล้ว ยังมีส่วนสำคัญทำให้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติบรรลุเป้าหมายได้ เพราะช่วยทำให้การจัดบริการมีความครอบคลุม ทั่วถึง และเท่าเทียมด้านสุขภาพให้ประชาชนในประเทศได้ ที่ผ่านมากองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนงบการจัดบริการปฐมภูมิมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านการรักษา ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และฟื้นฟูสมรรถภาพผ่านการบริหารกองทุนในรูปแบบต่างๆ นอกจากนี้ยังได้จัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนการจัดบริการหมอครอบครัว รวมถึงการดำเนินงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นและกองทุนฟื้นฟสมรรถภาพระดับจังหวัดที่ดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ช่วยเพิ่มความเข้มแข็งบริการปฐมภูมิในแต่ละพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ความสำเร็จของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในวันนี้เกิดขึ้นไม่ได้ หากขาดระบบบริการปฐมภูมิที่เข้มแข็ง ซึ่งประเทศไทยได้มีการวางรากฐานระบบบริการปฐมภูมิมายาวนานและพัฒนาการบริการผ่านรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง ดังนั้นไม่ว่าประเทศใดการดำเนินหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต้องพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิควบคู่ จึงจะประสบผลสำเร็จได้” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้