ขับ นิสสัน ลีฟ พิชิตยอดดอยอินทนนท์

679 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เรื่อง : อัฐฒา นายเรือ

หลังจากที่ค่ายนิสสันได้เปิดตัวรถไฟฟ้ารุ่นแรกที่จำหน่ายอย่างเป็นทางการในเมืองไทยด้วยรุ่น ลีฟ รถไฟฟ้า 100% โดยนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นทั้งคันซึ่งมีผลทำให้ต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงและราคารถโดดขึ้นไปร่วม 2 ล้านบาท หลังจากที่ทีมงานรายการวิทยุ SAFE SAVE DRIVE FM89.5 และเว็บไซต์ LIFESTYLE224.COM  ของเราได้เคยทดลองขับ นิสสัน ลีฟ ในรูปแบบใช้งานในชีวิตประจำวันทั้งในเมืองและชานเมืองเป็นเวลา 1 วันเต็ม คราวนี้ผมจะมาพิสูจน์สมรรถนะพละกำลังจากไฟฟ้าที่จะพาเราไปพิชิตยอดดอยอินทนนท์ที่สูงสุดในประเทศไทยได้หรือไม่ ?  และความท้าทายต่อมาคือ เมื่อชาร์จแบตเตอรีแบบ ลิเธียม-ไอออน ขนาด 40 กิโลวัตต์ต่อชม. อย่างเต็มเปี่ยมแล้วจะเพียงพอให้เราสามารถขับรถคันนี้ ขึ้น-ลง ดอยอินทนนท์ เป็นระยะทางราว 200 กม. ซึ่งช่วงขาขึ้นต้องใช้พลังงานค่อนข้างมากทีเดียว ด้วยการชาร์จที่ต้นทางเพียงครั้งเดียวหรือไม่ ? ซึ่งเราจะมาพิสูจน์กันในวันนี้

รถทั้ง 10 คัน ได้รับการเตรียมพร้อมจากทีมงานเป็นอย่างดี เราเป็นกลุ่มแรกที่จะลุ้นให้ภารกิจนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี รถทุกคันถูกชาร์จไฟเข้าไปเก็บไว้ในแบทเตอรีเต็มเปี่ยมเพื่อรอการพิสูจน์สมรรถนะและประสิทธิภาพของระบบไฮเทคต่างๆ ที่ติดตั้งมาในรถรุ่นนี้
 


เราออกเดินทางกันแต่เช้าตรู่โดยมีจุดหมายแรกอยู่ที่ยอดดอยอินทนน์ซึ่งสูงจากระดับน้ำทะเลถึง 2,565 เมตร ในช่วงแรกเราขับเป็นขบวนคาราวานจากโรงงแรมที่พักออกไปนอกเมืองราว 50 กม. ก่อนจะวิ่งแบบฟรีรันมุ่งสู่ยอดดอยอินทนนท์ การขับรถไฟฟ้าหรือ EV – Electric Vehicle อาจจะต้องมีการปรับตัวในช่วงแรกอยู่บ้างในเรื่องของปุ่มสวิทช์ต่างๆ, ตำแหน่งเกียร์, มาตรวัดที่หน้าปัด ฯลฯ พอเราคุ้นเคยกับตำแหน่งต่างๆ แล้ว การขับขี่รถไฟฟ้าก็แทบจะไม่ต่างจากรถยนต์ทั่วไปที่เราขับเป็นประจำเลย มอเตอร์ไฟฟ้าให้กำลังขับเคลื่อนที่รวดเร็ว เสียงเงียบ ต่อเนื่องและนุ่มนวล พละกำลัง 150 แรงม้า และแรงบิดที่มีมากถึง 320 นิวตัน-เมตร เหลือเฟือกับการใช้งานได้ในทุกๆ วันและทุกสภาพเส้นทางโดยเฉพาะขณะขับขึ้นเขาสูงชันแบบที่เราลองขับกันในวันนี้ การขับขึ้นดอยเป็นไปอย่างง่ายดาย สบายๆ ไม่ต้องลุ้นเลยว่าจะขึ้นไหวหรือไม่ อัตราเร่ง 0-100 กม. ทำได้ในเวลาที่รวดเร็วเพียง 7.9 วินาที ถือว่าเร็วกว่าสปอร์ทซีดานหลายๆ คันเลยทีเดียว

การเร่งแซงแม้อยู่บนเนินเขาทำได้อย่างทันใจและปลอดภัย ไม่มีปัญหาหรือทำให้เรารู้สึกเครียดเลยในการขับขึ้นเขาสูงที่เต็มไปด้วยโค้งในวันนี้ รถยังคงเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยพละกำลังที่เหลือเฟือ ระบบรองรับได้รับการปรับเซทมาดีทีเดียว ให้ทั้งความนุ่มนวลและยึดเกาะถนนได้ดีโดยเฉพาะเมื่อวิ่งเข้าโค้งเร็วๆ ผมรู้สึกประทับใจในการควบคุมบังคับของรถไฟฟ้ารุ่นนี้ แต่จากการที่รถไฟฟ้ามีความเงียบ ไม่มีเสียงรบกวนจากเครื่องยนต์ ระบบเกียร์ ฯลฯ ทำให้เราได้ยินเสียงรบกวนจากลมภายนอกที่มาประทะจุดต่างๆ ของตัวรถค่อนข้างชัดเจนขึ้นจากการที่เสียงในรถเงียบมากไม่มีการรบกวนจากการทำงานต่างๆ ในรถ ลีฟ มีตัวถังที่ลู่ลมทำให้ค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานมีเพียงแค่ 0.28 เท่านั้นเอง
 


หลังจากที่เราขับทะยานขึ้นสูยอดเขา ผ่านโค้ง ซ้าย-ขวา ครั้งแล้วครั้งเล่า เราก็มาถึงยอดดอยอินทนนท์กันแบบสบายๆ ไม่มีการลุ้นในเรื่องของพละกำลังจากมอเตอร์ไฟฟ้าว่าจะเพียงพอต่อการวิ่งขึ้นทางชันหลายๆ จุด หลังจากที่จอดแวะพักกันสักครู่ท่ามกลางอากาศเย็น 15 องศาเซลเซียสในยามเที่ยงวันเราก็ขับลงมาสัก 500 เมตรเป็นลาน ฮ. กว้างๆ เพื่อถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกัน หลังการนั้นเราก็จะพบกับความท้าทายอีกหนึ่งขั้นในการที่จะต้องขับ นิสสัน ลีฟ ลงเขากลับมาให้ถึงโรงแรมด้วยไฟฟ้าในแบทเตอรีที่มีเหลืออยู่ โดยมีตัวช่วยจากระบบฟื้นฟูพลังงานในโหมดการขับ B ในขณะขับลงทางลาดชัน, ชะลอความเร็วหรือเบรกระบบจะมีการชาร์จไฟกลับไปเก็บไว้ในแบทเตอรีเพื่อนำไปใช้งานต่อไป (Regenerative Braking System)  นอกจากนี้เรายังเสริมด้วยโหมด ECO เพื่อเพิ่มความประหยัดพลังงานให้สามารถพาเรากลับที่ตั้งได้ด้วย


จากการที่เราชาร์จแบทเตอรีเต็มมาจาก รร. เกจ์วัดแจ้งว่าเราสามารถเดินทางได้ประมาณ 300 กม. หลังจากที่เราขับทั้งทางราบและขึ้นเขาจนถึงยอดดอยเป็นระยะทางราว 100 กม. หน้าปัดแจ้งว่า เราเหลือไฟฟ้าในแบทเตอรีอีก 36% สามารถเดินทางได้อีกแค่ 63 กม. เป็นโจทย์ใหญ่ท้าทายความสามารถเราอย่างมากเพราะเราต้องเดินทางกันอีกร่วม 100 กม. กว่าจะถึงจุดหมาย โดยที่เราต้องใช้ประโยชน์จากระบบที่จะช่วยรีชาร์จในขณะลงทางลาดชันและขณะเบรกให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่เช่นนั้นเราคงไปไม่ถึงโรงแรมอย่างแน่นอน


หลังจากเริ่มออกสตาร์ท เราก็เริ่มใช้เทคโนโลยีต่างๆ ที่รถคันนี้มีอย่างเต็มที่ เราใช้โหมด B และ ECO รวมทั้งเพิ่มการแตะเบรกช่วยในขณะลงทางชันเพื่อที่ระบบจะทำการชาร์จไฟไปเก็บในแบทเตอรีให้มากที่สุด เราตั้งใจขับใช้ความสามารถกันทุกเม็ดเพื่อให้เหลือพลังงานให้มากที่สุดซึ่งจะเป็นการท้าทายวัดฝีมือกันในช่วงขากลับนี้ รถคันไหนใช้ไฟน้อยที่สุดจะเป็นผู้ชนะ นั่นก็คือนอกจากการขับที่ประหยัดพลังงานแล้วยังต้องหาวิธีที่จะเพิ่มไฟเข้ามาในแบทเตอรีให้มากที่สุดด้วย



 
100 กม.สุดท้ายเป็นไปอย่างเนิ่นนาน เราต้องขับอย่างละเอียดในทุกๆ จุด ใช้สมาธิและวางแผนการขับค่อนข้างมากทีเดียว จังหวะการแซงหรือเหยียบคันเร่งต้องนุ่มนวลเพื่อให้ใช้ไฟให้น้อยที่สุด เราใช้เวลาประมาณ 1 ชม. ก็กลับมาถึงจุดหมายที่ รร. ตามมาตรวัดที่หน้าปัดเรายังเหลือไฟฟ้าในแบทเตอรีอีก 22% และรถคันนี้ยังวิ่งไปได้อีก 70 กม. เลยทีเดียว เท่ากับว่าเราใช้ระบบรีชาร์จไฟให้อย่างดีเยี่ยมจนสามารถเหลือไฟพอวิ่งใช้งานได้อีกไกลโขทีเดียวแม้ว่าจากจุดเริ่มต้นถ้าไม่มีการรีชาร์จที่ดี เรามีไฟไม่พอที่จะพาเราเดินทางกลับมา รร. ด้วยซ้ำ รถหมายเลข 6 ของเราได้ชัยชนะอันดับ 2 ในการชาเลนจ์ครั้งนี้ต่างจากที่ 1 เพียงเล็กน้อยเท่านั้นเอง ถือว่าเราประสพความสำเร็จมากทีเดียวและใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง โดยที่รถคันนี้ค่ามลพิษจะเป็นศูนย์ ไม่มีไอเสียปล่อยออกมาเลยแม้แต่น้อย


จากการทดลองขับวันนี้ถือว่า นิสสัน ลีฟ เป็นรถไฟฟ้า 100% ที่มีคุณภาพสูงจากการที่ได้รับการปรับปรุงมาจากรุ่นก่อนหน้านี้จนได้รับความนิยมทั่วโลก ระบบต่างๆ ช่วยให้เราใช้งานได้สะดวกสบาย ใช้พลังงานได้อย่างคุ้มค่า รวมไปถึงช่วยลดมลพิษในอากาศได้อย่างเด็ดขาดด้วย เป็นรถที่น่าใช้มาก แต่คงต้องใช้เวลาให้สิ่งที่จะมาประกอบการใช้งานในด้านต่างๆ ให้มีความพร้อมมากขึ้นเช่น สถานีเติมพลังงานไฟฟ้าซึ่งในปัจจุบันมีอยู่ 244 จุดทั่วประเทศ ในอนาคตอันใกล้เราคงได้เห็นรถประเภทนี้วิ่งตามท้องถนนมากยิ่งขึ้น รถไฟฟ้าจะเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวและสัมผัสได้ไม่ใช่เป็นเพียงแค่คำอธิบายเล่าขานจากนักวิชาการหรือสื่อมวลชนเท่านั้น

 อัฐฒา นายเรือ



****************************************************************************************************************************************


ข้อมูลรายละเอียดของ นิสสัน ลีฟ

 

เทคโนโลยีการขับขี่อัจฉริยะ (Intelligent Driving)


เทคโนโลยีการขับขี่อัจฉริยะที่โดดเด่นในลีฟ ใหม่ คือ อี-เพดัล (e-Pedal) ซึ่งจะเป็นอุปกรณ์มาตรฐานใหม่สำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเพื่อเพิ่มความสะดวกให้ผู้ขับขี่ในการออกตัว เร่งความเร็ว ชะลอความเร็ว หยุดนิ่งและควบคุมตัวรถให้อยู่กับที่ด้วยการใช้แป้นคันเร่งอย่างเดียว ถือเป็นนวัตกรรมที่สามารถเปลี่ยนรูปแบบการขับขี่ได้อย่างสิ้นเชิง

ด้วยอัตราการชะลอความเร็วที่สูงถึง 0.2G เพียงยกเท้าออกจากคันเร่งตัวรถจะลดความเร็วจนหยุดนิ่งได้อย่างนุ่มนวลโดยไม่จำเป็นต้องแตะแป้นเบรก เทคโนโลยี e-Pedal ทำให้ผู้ขับขี่ไม่ต้องยกเท้าจากแป้นคันเร่งเพื่อเหยียบแป้นเบรกบ่อยครั้งเมื่อต้องการชะลอระดับความเร็วหรือหยุดรถซึ่งช่วยลดความเมื่อยล้าและเพิ่มความเพลิดเพลินในการขับขี่


นิสสัน ลีฟ ใหม่ ยังติดตั้งเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยขั้นสูง ได้แก่

เทคโนโลยีเตือนการชนด้านหน้า (Forward Collision Warning: FCW)

เทคโนโลยีช่วยเบรกฉุกเฉิน (Forward Emergency Braking: FEB)

กล้องอัจฉริยะมองภาพรอบทิศทาง (Intelligent Around View Monitor : IAVM)

พร้อมเทคโนโลยีเตือนวัตถุเคลื่อนไหวรอบคัน (Moving ObjectDetection: MOD)

เทคโนโลยีช่วยควบคุมเสถียรภาพขณะเข้าโค้ง (Active Trace Control: ATC)

และเทคโนโลยีช่วยเตือนเมื่อเหนื่อยล้าขณะขับขี่ (Driver Attention Alert: DAA)



หน้าจอแสดงข้อมูล และสวิตช์ควบคุมต่างๆ ถูกปรับเปลี่ยนรูปแบบให้มีความฉลาด และใช้งานง่ายขึ้นโดยที่มีความโดดเด่นมากที่สุด คือ การผสมผสานระหว่างมาตรวัดความเร็วแบบอนาล็อกกับหน้าจอแสดงผลแบบ multi-information ด้านซ้าย หน้าจอสีแบบ Thin-film Transistor (TFT) ขนาด 7 นิ้ว บอกปริมาณกำลังไฟฟ้าที่ใช้ตามการกำหนดค่ามาตรฐาน

โดยคนขับสามารถเลือกแสดงข้อมูลตามที่ต้องการ หน้าจอแสดงผลตรงกลางแบบ Flush-surface ช่วยให้ผู้ขับขี่สะดวกต่อการเลือกระบบความบันเทิง รวมทั้งแสดงให้เห็นการทำงานของเทคโนโลยี Safety Shield ระดับการชาร์จไฟของรถ และพลังงานที่เหลืออยู่ รวมถึงระบบเสียง และข้อมูลระบบนำทาง
 

ข้อมูลจำเพาะของนิสสัน ลีฟ ใหม่ (รุ่นวางจำหน่ายในประเทศไทย)

ภายนอก

ความยาวของตัวรถ (มม.) 4,480

ความกว้างของตัวรถ (มม.) 1,790

ความสูงของตัวรถ (มม.) 1,540

ฐานล้อ (มม.) 2,700

ความกว้างระหว่างล้อ คู่หน้า/คู่หลัง (มม.) 1,530/1,545

ความสูงจากพื้นรถ (มม.) 150

สัมประสิทธิ์แรงเสียดทานอากาศ 0.28

ยางรถยนต์ 215/50R17 91V

พื้นที่เก็บสัมภาระ 435 ลิตร




น้ำหนัก / ความจุ

ความจุ 5 ที่นั่งผู้โดยสาร

น้ำหนักสุทธิของรถ 1,523 กิโลกรัม
 

แบตเตอรี่

ประเภท แบตเตอรี่แบบลิเธียม-ไอออน

ความจุ      40 กิโลวัตต์ชั่วโมง


มอเตอร์ไฟฟ้า

ชื่อรุ่น EM57

กำลังขับสูงสุด 110 kW (150 ps)/3283~9795 rpm

แรงบิดสูงสุด 320 N・m (32.6 kgf・m)/0~3283 rpm

 

สมรรถนะ 

ระยะทางที่สามารถขับขี่ได้ 311 กิโลเมตร (NEDC mode)

การชาร์จแบบปกติ   (เวลาในการชาร์จ) 12 hours (3.6 kW) ชั่วโมง  6 hours (6.6 kW) ชั่วโมง เวลาในการชาร์จจากระดับแจ้งเตือนถึง 80เปอร์เซ็นต์   40  นาที  (การชาร์จแบบเร็ว)

 

วิธีการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า

เจ้าของนิสสัน ลีฟ สามารถชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ได้ถึงสามวิธีหลักๆ ประกอบด้วย การชาร์จจากไฟบ้านปกติ (standard outlet charging) การชาร์จจากอุปกรณ์ชาร์จติดผนัง หรือ wall box charging และรวมถึงการชาร์จแบบด่วนหรือที่เรียกว่า Quick Charge ซึ่งสำหรับรายละเอียดของการชาร์จแบบต่างๆ มีดังนี้

 การชาร์จจากไฟบ้านปกติ (standard outlet charging)
เช่นเดียวกับการเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จสมาร์ทโฟน ซึ่ง 80-90 เปอร์เซ็นต์ของเจ้าของรถนิสสัน ลีฟ ส่วนใหญ่เลือกที่จะชาร์จรถยนต์ที่บ้านโดยใช้เคเบิลอเนกประสงค์ (EVSE cable) ที่มาพร้อมกับรถยนต์ โดยส่วนมากเป็นการชาร์จแบบข้ามคืนใช้เวลาชาร์จประมาณ 12-16 ชั่วโมง

 การชาร์จจากเครื่องชาร์จไฟฟ้า หรือ wall box charging จากที่บ้าน ที่ทำงาน หรือในที่ๆ อื่นๆ ที่มีการติดตั้งซึ่งจะสามารถชาร์จไฟฟ้าให้เต็มได้ภายในระยะเวลา 6-8 ชั่วโมง

 การชาร์จแบบด่วนหรือที่เรียกว่า Quick Charge
เป็นการชาร์จไฟฟ้ากระแสตรง โดยใช้เวลาชาร์จเพียงแค่ 40-60 นาทีเพื่อชาร์จให้แบตเตอรี่มีความจุที่ 80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งส่วนใหญ่มักมีติดตั้งในพื้นที่ที่ชาร์จสะดวก เช่น ห้างสรรพสินค้าหรือที่สาธารณะต่างๆ  


          

นิสสัน ลีฟ จะมีการรับประกันคุณภาพรถยนต์เป็นเวลา 3 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร พร้อมการรับประกันระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าเป็นเวลา 5 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร และการรับประกันการเสื่อมของแบทเตอรีเป็นเวลา 8 ปี หรือ 160,000 กิโลเมตร อีกด้วย

ขอขอบคุณ : บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด สำหรับการอำนวยความสะดวกตลอดทริปการทดลองขับในครั้งนี้

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้