ชีวิตหลังพวงมาลัย อีกมุมหนึ่งของ ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ที่เคยเป็นนักแข่งรถจนได้รับฉายา‘ไอ้เฒ่าตีนผี’

12564 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เรื่องโดย: อัฐฒา นายเรือ

ผู้คนส่วนใหญ่จะรู้จัก ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ในบทบาทของนักชิม ศิลปินด้านการร้องเพลง นักจัดรายการโทรทัศน์สารคดีพาเที่ยวชมสถานที่ต่างๆ ฯลฯ น้อยคนนักที่จะทราบว่าท่านผู้นี้ชื่นชอบการขับรถ เคยเป็นนักแข่งตัวยงที่ฝากฝีไม้ลายมือไว้ในการแข่งขันแรลลี เวียงจันทน์-สิงคโปร์มาแล้ว
 

บทความที่ท่านจะได้อ่านต่อไปนี้ ผมมีโอกาสได้สัมภาษณ์ ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ เพื่อนำมาตีพิมพ์ลงในนิตยสาร GM CAR คอลัมน์ Once Upon A Time เมื่อ 10 กว่าปีก่อน สมัยที่ผมเป็นบรรณาธิการบริหารนิตยสารฉบับนี้  ผมจึงอยากนำเรื่องราวเหล่านี้มาเผยแพร่ลงในเวบไซต์ LIFESTYLE224.COM อีกครั้งเพื่อเป็นการไว้อาลัยและระลึกถึงท่าน รวมไปถึงให้ผู้คนทั่วไปได้รับทราบชีวประวัติของ ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ในอีกแง่มุมหนึ่งด้านยานยนต์   

ชอบขับรถตั้งแต่วัยเยาว์

“ผมเป็นคนกรุงเทพฯ เกิดที่กรุงเทพฯ บรรพบุรุษอยู่ที่เชิงสะพานพุทธ ไม่ได้อพยพมาจากไหน นอกจากมีเชื้อสายสุพรรณฯ บ้างทางคุณแม่ ในวัยเด็กก็ได้อาศัยพึ่งพระบารมีสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า หรือสมเด็จย่าของรัชกาลที่ 9 อยู่ในวังสระปทุม ท่านก็ชุบเลี้ยงมา

“ ในวังมีมหาดเล็กของสมเด็จพระราชบิดาอยู่ ก็เลยมาเป็นมหาดเล็กของพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าโดยปริยาย ที่ในวังนั้นมีรถพระที่นั่งของสมเด็จพระราชบิดาหลายคัน มีรถแบบเปิดประทุนซึ่งมีที่นั่งด้านหลังเปิดออกมาแล้วนั่งได้  เขาบอกว่าเป็นที่นั่งหมา (Dog Seat) แต่เป็นที่นั่งของผม เวลานำรถออกวิ่งเราจะขอไปนั่งข้างหลัง นั่นเป็นรถของพระราชบิดาซึ่งอยู่ในโรงรถที่วังสระปทุม ผมไปโรงเรียนราชินีก็มีรถไปส่งพร้อมกับนักเรียนที่อยู่ในพระอุปถัมภ์ ผู้ที่ขับรถเวลาเขาจะนำรถออกวิ่งเพื่อให้ไม่จอดอยู่เฉยๆ เราก็ขอไปนั่งตักจับพวงมาลัย เขาก็ปล่อยให้เลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาไปตามเรื่อง...แค่นี้ก็มันพอแล้วสำหรับเด็กๆ

“จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 ระเบิดขึ้น ญี่ปุ่นบุกเมืองไทย ตอนนั้นผมอายุได้ 16 ปี เพื่อนซึ่งอยู่หน้าวังสระปทุม คุณพ่อเขาเป็นเจ้าของโรงเรื่อยจักรอยู่ที่บ้านแก้ง (ปัจจุบันคือจังหวัดสระแก้ว) เขามีรถเล็กๆ เป็นรถออสตินหรือมอริสจำไม่ได้มั่น เป็นรถเล็กขนาด 1,000 ซีซี รถเตี้ยมากและเปิดประทุนด้วย เวลาเราจะเข้าไปนั่งก็ก้าวสูงๆ แล้วก็ลงไปนั่งได้เลยโดยไม่ต้องเปิดประตู ก็ได้รถคันนี้โดยเพื่อนสอนให้ขับ ตอนนั้นน้ำมันก็ไม่ค่อยมี ขับยังไม่ทันมันเลย น้ำมันหมดแล้ว 

“สมัยนั้นเราต้องใช้ถ่านทำเป็นเตาอยู่ท้ายรถประจำทาง ก่อนจะไปต้องเผาถ่านให้เกิดความร้อนเพื่อนำไปหมุนเครื่องยนต์ เราเรียกว่า ‘รถกำลังถ่าน’ วิ่งได้ไม่เกิน 50 กม./ชม. แต่ก็พอไปไหนมาไหนได้ ยังดีกว่า ‘มอเตอร์ขา’ ที่ไม่ใช่ ‘มอเตอร์คาร์’

“ตอนสงครามใกล้สงบ ขับรถได้แล้วแต่ยังไม่คล่อง ญี่ปุ่นมาจ้างให้โรงเลื่อยจักรบ้านแก้งตัดไม้ โดยให้รถบรรทุกมาหลายคันยี่ห้ออีซูซุ พ่นสีเป็นลายพรางแบบรถทหาร เรามาถอดกระบะท้ายออกแล้วเอาสาลี่มาพ่วงเข้าเพื่อใช้บรรทุกไม้เข้าโรงเลื่อย




ก้าวมาเป็นสารถีขับรถยนต์พระที่นั่ง

“ในเวลาต่อมาได้ไปถวายการรับใช้สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ท่านทรงสร้างสวนอยู่ที่จันทบุรี ท่านไปซื้อรถเชฟโรเลต 6 ล้อ เราเลยได้ใช้ฝีมือจากการขับรถบรรทุก ขนวัสดุก่อสร้างจากกรุงเทพฯ ไปจันทบุรี ไปทางคลองด่านข้ามแพที่บางปะกง แล้วก็ขับต่อไป ออกจากกรุงเทพฯ 9 โมงเช้า ไปถึงราวๆ 3 โมงเย็น ก็ได้ขับรถคันนั้นมาเรื่อย

“ต่อมาได้ขับเวลาท่านเสด็จฯ ไปต่างจังหวัด ผมเป็นสารถีขับรถพระที่นั่ง ขับรถถวายท่านมาโดยตลอด เพราะว่าคนที่เคยขับรถในวังนั้นมือไม่ถึง ไม่เคยขับในที่ทุรกันดาร ชนิดหลุม บ่อ แล้วเวลาจะข้ามน้ำเขาไม่ได้มีสะพานไม้ มีเพียงแค่ซุง 2 ต้น ฝานแล้ววางห่างกันเท่าล้อรถเลย ถนนก็เป็นลูกรัง ต้องวิ่ง 60 กม./ชม. จึงจะอยู่บนผิว บนยอดคลื่น เพื่อไม่ให้สะเทือนมาก คราวนี้มันมีปัญหาตอนที่จะข้ามสะพาน ซึ่งไม่มีราวกั้นไม่มีอะไรเลย ถือมือใหม่มักเหยียบเบรกรถจะปัดทันที เราต้องแม่น ขับ 60 แล้ววิ่งผ่านเลย

“การเปลี่ยนเกียร์รถบรรทุกไม่มีซิงโครเมช ต้องเบิลเครื่องให้รอบมันได้ จึงจะเข้าเกียร์ได้ ต้องอาศัยประสบการณ์จากการที่เคยขับรถลากไม้ เปลี่ยนเกียร์เหมือนลิงเลย เวลาขึ้นยอดเนินต้องเบิลกันอยู่อย่างนั้น ถ้าเบิลไม่เข้าท่าเครื่องเกิดดับ ตายสถานเดียว

“มีอยู่คราวหนึ่งจะนำรถไปใช้ในสวน เป็นรถเฟียต 500 คันเล็กๆ ทำเป็นแวกอน ตัวถังเป็นไม้ ถนนแถวนั้นรถวิ่งกันจนเป็นร่อง สันกลางถนนนูนขึ้นมา ถ้าวิ่งไปจะติดตรงสันกลาง เราต้องวิ่งไปข้างๆ กว่าจะถึงเมืองจันทบุรี คนถามว่าไปไหนมาทำไมเดินเอียงอย่างนี้ เพราะว่าเราต้องขับเอียงมาโดยตลอด ช่วงนั้นมีความสุขมาก บางทีหลับในรู้สึกตัวอีกทีลงไปอยู่ในทุ่งนา ถ้าเป็นสมัยนี้ตายแล้ว สมัยก่อนมันไม่มีรถ วันหนึ่งมีรถวิ่งสัก 2 เที่ยวได้”


รถยนต์คันแรกในชีวิต

“การขับรถสมัยก่อนไม่มีเกียร์ออโตฯ สมัยขับรถใหม่ๆ ไม่มีรถเป็นของตัวเอง มามีรถเองตอนทำมาหากินได้แล้ว เป็นรถเฟียต 500 หรือที่เมืองนนท์ใช้เป็นรถแทกซี่ ที่เรียกกันว่า ‘รถหนู’ เรามาติดตั้งท่อไอเสียอะบาธด้วย ตอนหลังรถโฟล์คสวาเกนเริ่มเข้ามา เลยมีรถคันใหม่เป็นโฟล์คเต่า”

 

 

เริ่มชีวิตนักแข่งรถ ฉายา ‘ไอ้เฒ่าตีนผี’

“ในปี พ.ศ. 2512 มีแรลลีสหประชาชาติ วิ่งจากเมืองเวียงจันทน์ไปสิงคโปร์ ก็ได้ไปขับในทีมโฟล์คสวาเกน ทีมเรามี 3 คน คือ จามร ชุมสาย และประยุทธ เราผลัดกันขับ ประยุทธเป็นนักเรียนเยอรมันเคยขับในออโตบาห์นมา แต่พอมาเจอทางลูกรังเข้าออโตบาห์นก็เสร็จเหมือนกัน

“ผู้ที่ลงแข่งสมัยนั้นก็มี คุณสรรพสิริ วิริยะสิริ วุฒา-วาปี ภิรมย์ภักดี ส่วนพอใจ ชัยเวฬุ ไปกับเพื่อนที่เป็นครูสอนถ่ายภาพที่วิทยาลัยเทคนิค ใช้รถโฟล์คเหมือนกัน แต่ไปกลางทางขับไปชนควายต้องออกจากการแข่งขันไป พระองค์พีระฯ ก็แข่งด้วย แต่ไปชนเขาในช่วงเขาพับผ้า
         

“ออกสตาร์ทจากเวียงจันทน์ ข้ามแม่น้ำโขงโดยใช้แพข้ามมา ช่วงนั้นขับยาวมาจนถึงกรุงเทพฯ พักนอน 1 คืน รถจอดที่สวนอัมพร รุ่งเช้าช่วงสอง ก็ขับไปจนถึงสะเดาเลย ทีมเราขับออกจากกรุงเทพฯ ไปราว 500 กม.ถึงชุมพร จึงเปลี่ยนคนขับ จามรมาขับแทน ตอนนั้นมืดแล้ว พอออกมามีรถลงข้างทางไป 3-4 คัน จามรเลยจอด ไม่เอาแล้วให้ผมขับแทน ก็เลยต้องควงตั้งแต่ยังไม่ถึงระนองช่วง 2 ทุ่มจนถึงสะเดาเอาตอน 6 โมงเช้า พรรคพวกก็มาอุ้มออกจากรถไปให้น้ำ อาบน้ำอุ่น นวดแขนขา ได้พักอยู่ 3 ชม.

“ตอนขับช่วงเขาพับผ้า จากตรังไปพัทลุง เส้นทางบนเขาระยะทาง 60 กม. ตอนนั้นยังไม่มีการทำมุมโค้ง ยังมีหักศอกอยู่ ให้เวลา 60 นาทีบนเขา เรารู้ล่วงหน้าเลยไปซ้อมก่อนเป็นเดือนแล้วลองจับเวลาดู ขับไป-กลับ ไป-กลับ อย่างนั้นอยู่ 7 วัน วันละ 2 เที่ยว จนกระทั่ง ‘เชื่อง’ เพราะว่าตอนแข่งจะต้องขับผ่านเขาพับผ้ากันตอนตี 3 ช่วงนี้เราทำเวลาเพี้ยะเลยมาจนถึงสะเดา ต่อจากนั้นก็ขับไปเรื่อยๆ จนถึงมาเลเซีย ถนนในมาเลเซียดีกว่าเรามาก ตอนแข่งแรลลีผมได้ฉายา ‘ไอ้เฒ่าตีนผี’

“ขำที่สุดก็คือ มีเจ้าลาวชื่อ ท้าวคำปัน ที่เวียงจันทน์ มาลงแข่งด้วย ตามธรรมดาเขามาถึงกันหมดแล้ว แต่แกมาหลัง 4 วัน แกขับเข้ามายังจุดพักรถ เราเลยถามว่าท้าวคำปันเพิ่งมานี่เป็นจั่งได๋ครับ แกตอบว่า ‘โอ้ย ตีนค่อยแตก 4 ตีน รถข้อยมีตีนสำรองอยู่แค่ตีนเดียว เสียเวลาเปลี่ยนตีน เลยมามันเรื่อยๆ 4 วัน พักมาตลอด ยังดีที่มาถึง”



ใช้รถหลากหลายยี่ห้อ

“พอกลับมาก็ยังได้แข่งขันแรลลีรอบประเทศอีกหนหนึ่ง ฝุ่นมันมากเหลือเกิน เกิดภูมิแพ้ ก็เลยเลิกไม่เอาแล้ว ไม่แข่งแรลลี แต่ก็ยังชอบความเร็วอยู่ พอมีเงินหน่อยก็ใช้รถเฟียตจากการที่ช่วงนั้นไปช่วยทางเฟียตอยู่ ถ้ารถใหญ่เราจะใช้อาเจนต้า เป็นรถใหญ่ของเฟียตที่นิ่มมาก ส่วนรถที่ใช้ทุกวันใช้เฟียต 131 เรซซิ่ง ไม่ได้ตกแต่งอะไรเพิ่มเติม เป็นรถที่ประทับใจมากที่สุด มันเร่งดี แหมมันมากเหลือเกิน พอขับไปมักมีพวกหนุ่มๆ มาเทียบขอประลองความเร็ว เราก็ไม่เอา เพราะสมัยนั้นรถดีๆ ยังไม่ค่อยมีหรอก เฟียต เรซซิ่ง นี่ก็มีเพียงไม่กี่คัน ต่อจากนั้นมายังใช้โฟล์คอยู่เรื่อยๆ ตอนหลังถนนจอแจมาก ก็เลยเปลี่ยนจากโฟล์คมาเป็น เฟียต สเตชั่นแวกอน ไม่มีเพาเวอร์ ต้องใช้ ‘เพาเย่อ’ เกือบแย่เลย ตอนนั้น พ.ศ. 2502-2503 ต่อจากนั้นเปลี่ยนมาใช้รถซูบารุ เป็นรถดีเหลือเกิน ไม่มีปัญหาเลย วิ่งดี ใช้อยู่พักใหญ่”

 

ความเร็ว 220 กม./ชม. บนเฟอร์รารี

“มีอยู่คราวนึงที่ขับเร็วที่สุดในชีวิตช่วงปี พ.ศ. 2505 เป็นรถของพระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช ยี่ห้อเฟอร์รารี 12 สูบ ท่านขับรถไปกับเราจากโลซานไปสตอกโฮล์มเพื่อขึ้นเครื่องบิน ท่านทิ้งรถแล้วบอกว่า “หมึก เอารถกลับไปโลซานให้ด้วย” ...แหม มันจริงๆ เพราะออกมาจากเดนมาร์ก ถนนมีแค่ 2 เลน พอข้ามมาเข้าออโตบาห์นตรงพุดการ์เดน โอ้โห...สวรรค์เลย ที่นั่นขับรถกันดีมากขวาสุดเป็นเลนสำหรับรถบรรทุกวิ่ง ถัดออกมาวิ่งกันราว 120 กม./ชม. พอถัดออกมาอีกเลนวิ่งเกิน 120 กม./ชม. เปิดเต็มที่เลย        

“พวกนี้เขาจะรู้ พอรถที่เขาใช้ความเร็วสัก 180 วิ่งมา เขาจะกะพริบไฟแวบแวบ เราต้องเบนหลบให้ แต่ในวันนั้น...เราแวบแวบให้คนอื่นหลบตลอดทาง เพราะเราล่อซะ 220 เลย ไม่รู้มันไปได้อย่างไร นิ่งมาก มันยังไปได้อีกแต่กลัวเครื่องระเบิดเสียก่อน ต้องเบรกกะทันหัน 2 หน เพราะไปเจอรถที่ขับไม่รู้เรื่องรู้ราว ไม่รู้วรรณะว่าต้องอยู่ช่องไหน ครั้งนั้นเป็นครั้งที่ประทับใจที่สุด”

การแข่งรถครั้งสุดท้าย

เมื่อประมาณ 8 ปีก่อน ตอนอายุราว 70 ปี ทางวอลโว่ สั่งมาเซราติเข้ามาขาย เขาเอารุ่น 4 ประตูมาให้ใช้ ขับไปหัวหินกับผู้การถาวร ช่วยประสิทธิ์ พอมาถึง 3 แยกวังมะนาว มีรถปิกอัพแต่งโหลดเตี้ยเข้ามาทาบ ตอนนั้นขับอยู่ประมาณ 100 เดียว เขาขับเข้ามาดูว่า เอ๊ะ! รถอะไร ท่อไอเสียมีตั้ง 4 ท่อ ก็เลยโฉบเข้ามาแล้วพยักหน้า เราก็เฉยๆ ขับไปเรื่อยๆ
        

“ผู้การถาวรบอกว่าเขามาท้าแข่งนะคุณชาย รถปิกอัพขับเฉียดไปมาอยู่พักหนึ่ง เราก็ลองเร่งเครื่อง เขาก็เร่งตามมา พอมาเทียบถึงเราปั๊บ เรากระแทกคันเร่งพรวดเดียว รถลูกน้องที่ขับตามหลังมาบอกว่าทีแรกก็เห็นคันโตๆ แวบเดียว...เห็นคันเล็กนิดเดียวเอง

“รถปิกอัพเร่งจนเครื่องจะพัง พอทิ้งไปแล้วเราก็ชะลอเขาก็ขับตามมา พอมาถึง เขาก็โค้งศีรษะให้แล้วก็ขับไปเลย เพราะรู้แล้วว่ารถเก๋งคันนี้มันไม่ใช่ธรรมดา...นั่นเป็นการแข่งครั้งสุดท้าย


แขวนพวงมาลัยเมื่ออายุ 72 ปี 

“พออายุมากเข้าก็เปลี่ยนมาใช้วอลโว่ตลอดเรื่อยมาเลย มีอยู่ครั้งหนึ่งขับเข้าบ้าน ถนนแคบมีรถสวนมา เราก็หลบ พอออกมาก็ขับเบียดเสาไฟฟ้า ก็เลยเลิกขับตอนช่วงอายุ 72 ปี ไม่ได้ขับมา 6 ปีแล้ว         

“ตอนนี้ใช้รถโฟล์คตู้ คาราเวลล์ วี 6 มีคนขับแล้ว ไม่ต้องขับเอง สบายๆ” 

  

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้