McLaren Hyper-GT prototype ‘XP2’ || บรรลุท็อปสปีด 403 กม./ชม. ว่าที่รถเร็วที่สุดจาก McLaren

650 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ภาพ : McLaren Automotive
เรียบเรียง : Pitak Boon

แม้ต้นสังกัดจะเผยโฉมออกมาตั้งแต่ปลายปี 2018 แต่ปัจจุบัน McLaren Speedtail ยังคงเป็นรถโปรโตไทป์ และมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า McLaren Hyper-GT prototype ‘XP2’ ถูกสร้างให้เป็นไฮเปอร์คาร์ที่เร็วที่สุดจาก McLaren โดยรถโปรโตไทป์ได้ถูกนำไปวิ่งทดสอบในสนาม Johnny Bohmer Proving Ground ณ Kennedy Space Center, ฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ด้วยจำนวนการวิ่งทดสอบเพื่อหาความเร็วสูงสุดกว่า 30 เที่ยว ผลลัพธ์คือตัวเลข 403 กม./ชม. (250 ไมล์/ชม.) พร้อมอัตราเร่ง 0-300 กม./ชม. ด้วยเวลาที่ต่ำกว่า 13 วินาที



ชื่อ Speedtail จึงมาจากหางหลังที่ยาวพ้นออกจากตัวถัง ในระดับมากกว่ารถ McLaren รุ่นพื้นฐาน ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของแอร์โร่ไดนามิคบนตัวถัง ที่จะช่วยให้ ‘XP2’ สามารถแหวกม่านอากาศทำความเร็วสูงสุดได้ไม่ยากเกินไป ความยาวรวมของรถจึงมากถึง 5.2 เมตร ใช้ดีไซน์รูปทรงหยดน้ำ พร้อมตัวถังที่เตี้ยและแบนเพื่อลดแรงต้านอากาศ ส่วนกระจกบังลมหน้าและหลังพร้อมโดมหลังคา ออกแบบในลักษณะเดียวกับฝาครอบค็อกพิทของเครื่องบินขับไล่ ล้อคู่หน้ามาพร้อมฝาปิดคาร์บอนไฟเบอร์ (Front-wheel Static Aero Covers) เพื่อลดการไหลวนของอากาศ ขณะที่ส่วนหางของ Speedtail เป็นชุด Active Aerodynamic แบบแยก 2 ฝั่ง ซึ่งในสภาพปกติชุดสปอยเลอร์หลัง ซ้าย-ขวา จะซ่อนตัวอยู่ในระดับเดียวกับพื้นผิวตัวถังอย่างแนบเนียน (Active Rear Ailerons) และยกตัวขึ้นมาได้ 35 มิลลิเมตร เพื่อสร้างแรงกดท้ายรถ จากการออกแบบสปอยเลอร์แบบแยกส่วน จึงมีความเป็นไปได้สูงว่า จะสามารถทำงานแยกกันได้อย่างอิสระ เพื่อเพิ่มระดับในการสร้างแรงกดขณะรถเข้าโค้งในความเร็วสูง ซึ่งใช้หลักการเดียวกับอากาศยาน



โดย ‘XP2’ ถูก McLaren จัดอยู่ในหมวดหมู่ Ultimate Series เช่นเดียวกับไฮเปอร์คาร์ลูกผสมนาม McLaren P1 ที่คาดว่า ‘XP2’ จะหยิบยืมขุมพลัง ‘เครื่องยนต์+มอเตอร์ไฟฟ้า’ มาใช้ เพื่อให้ ‘XP2’ สามารถบรรลุภารกิจเรื่องความเร็วสูงสุดได้ตามที่ต้องการ

สำหรับ McLaren P1 ใช้เครื่องยนต์ V8 ขนาด 3.8 ลิตร เป็นอะลูมินัมอัลลอยทั้งเสื้อสูบและฝาสูบ น้ำหนักทั้งบล็อกอยู่ที่ 199 กิโลกรัม ระบบเพลาราวลิ้นแบบ DOHC 32 วาล์ว พร้อมระบบ Dual VVT (Variable Valve Timing) หรือวาล์วแปรผันทั้งฝั่งวาล์วไอดีและวาล์วไอเสีย มาพร้อม Twin-turbo ใช้บูสต์จากเทอร์โบสูงถึง 2.4 บาร์ อากาศที่ผ่านการเพิ่มแรงดันจากเทอร์โบจะถูกส่งไประบายความร้อนที่อินเตอร์คูลเลอร์แบบฝั่งใครฝั่งมัน ก่อนส่งอากาศอัดความหนาแน่นสูง (ลดอุณหภูมิ) ไปร่วมตัวกันที่ท่อร่วมไอดี รอผสมกับละอองน้ำมันเชื้อเพลิงตามจังหวะการจุดระเบิดต่อไป ผลิตแรงม้าได้ 737 PS (727 bhp) ที่ 7,500 รอบ/นาที แรงบิด 720 Nm ที่ 4,000 รอบ/นาที เครื่องยนต์วางกลางลำขับเคลื่อนล้อหลัง เกียร์ใช้แบบ 7 สปีดคลัตช์คู่ ระหว่างเครื่องยนต์กับกระปุกเกียร์ เป็นมอเตอร์ไฟฟ้าอุปกรณ์พื้นฐานของระบบไฮบริด ให้กำลัง 179 PS (176 bhp) พร้อมแรงบิดสูงสุด 130 Nm ที่สามารถขยับต่อไปได้ถึง 260 Nm มอเตอร์ทั้งชุดมีน้ำหนักอยู่ที่ 26 กิโลกรัม เมื่อรวมแรงม้าทั้งจากเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้าเข้าด้วยกัน ในทางเทคนิค McLaren P1 จะมีกำลังรวม 916 PS (903 bhp) พร้อมแรงบิดสูงสุด 900 Nm



ขณะที่ McLaren Hyper-GT prototype ‘XP2’ หรือ Speedtail ขับเคลื่อนด้วยชุด Petro-electric Hybrid เช่นเดียวกัน เคลมพละกำลังรวมออกมาที่ 1,070 PS (1,055 bhp) พร้อมแรงบิดสูงสุด 1,150 Nm โดยจะเป็นการผลิตแบบ Limited Edition จำกัดไว้ที่เพียง 106 คัน ด้วยงานประกอบระดับ hand-assembled จากโรงงาน McLaren Production Centre ในอังกฤษ โดยคาดว่า Speedtail คันแรกจะพร้อมส่งถึงมือลูกค้าภายในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2020

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้