15 ปี BUGATTI Veyron || การลงทุนครั้งสำคัญ เพื่อดึงแบรนด์ BUGATTI หวนคืนตลาดซูเปอร์คาร์

1399 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ภาพ: Bugatti Automobiles S.A.S.
เรียบเรียง : Pitak Boon

ผู้ให้กำเนิด BUGATTI เป็นชาวอิตาเลียนนาม Mr. Ettore Bugatti (EB) ท่านผู้นี้เป็นศิลปินที่ชื่นชอบรถเป็นชีวิตจิตใจ เริ่มต้นสานฝันเกี่ยวกับรถยนต์ของตนเองในเยอรมนี ประเทศซึ่งเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ ย้ายสำนักงานอยู่หลายเมือง แต่ท้ายสุดมาลงเอยที่เมือง Molsheim ในประเทศฝรั่งเศส และสร้างสำนักงานใหญ่ของ BUGATTI อยู่ที่นี่จวบจนถึงปัจจุบัน จากผลพวงทางเศรษฐกิจ ทำให้ ‘Bugatti Automobiles S.A.S.’ ต้องตกไปเป็นหนึ่งในเครือ ‘Volkswagen Group’ เช่นเดียวกับบริษัทผู้ผลิตซูเปอร์คาร์รุ่นพี่อย่าง ‘Automobili Lamborghini S.p.A.’ จึงทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กับค่ายรถยนต์สมรรถนะสูงเหล่านี้ จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อรถระดับซูเปอร์คาร์ที่มีบุคลิกอันเด่นชัดเฉพาะตัว ต้องมาเจอกับยักษ์ใหญ่เจ้าเทคโนโลยียานยนต์



Veyron 16.4 เป็นซูเปอร์คาร์คันแรกจาก BUGATTI ภายใต้ร่มเงาของ VW Group เป็นโปรเจ็กต์สุดบรรเจิดที่บริษัทแม่ทุ่มทุนมหาศาลในการวิจัยและพัฒนา เพื่อดึงแบรนด์ BUGATTI หวนคืนสู่วงการอีกครั้ง จากดำริของ Mr. Ferdinand Karl Piech วิศวกรซึ่งเป็นทั้ง CEO และประธาน ของ VW Group ในยุคนั้นได้ “ฝัน” จะสร้างซูเปอร์คาร์ระดับ 1,000 แรงม้า ที่เร็วได้กว่า 400 กม./ชม. ซึ่งเทคโนโลยีขณะนั้นไม่ใช่งานที่ง่ายเลย แม้ VW Group จะวิศวกรระดับมันสมองของโลกเดินอยู่เต็มโรงงานก็ตาม จนกระทั่งวิศวกร VW บรรลุเป้าหมายในการสร้างเครื่องยนต์บล็อค “W” ลูกสูบทั้ง 16 ลูก พร้อมปริมาตรกระบอกสูบระดับ 8 ลิตร (7,993 ซีซี) จึงถูกสร้างขึ้นในขนาดที่ไม่ใหญ่โตเกินไปที่จะบรรจุลงกลางลำของซูเปอร์คาร์สักคันได้ ในที่สุดฝันของ Piech ก็เริ่มมีเค้ารางของความเป็นจริง หลังจาก Dr. Wolfgang Schreiber เข้ามารับหน้าที่หัวหน้าทีมวิศวกรในปี 2003 เพื่อสานต่อโปรเจคสุดหิน เต็มไปด้วยปัญหาเชิงวิศวกรรมที่ยุ่งยากซับซ้อน และให้กำเนิด Veyron 16.4 ออกมาได้ในที่สุด



เนื่องในโอกาสครบรอบ 15 ปี Veyron ทาง BUGATTI เปิดเผยข้อมูลขั้นตอนการพัฒนาซูเปอร์คาร์บ้าพลังรุ่นนี้ออกมาเพิ่มเติม เริ่มต้นจากโปรเจคนี้เดิมทีจะเป็นรถ 4 ประตู ที่เน้นทั้งความหรู และพละกำลังอันมหาศาลจากเครื่องยนต์ รถโปรโตไทป์โมเดลแรกที่เปิดตัวออกมา คือ ‘EB 118’ ใช้ดีไซน์ Retro Car ผสานเข้ากับ DNA ของ BUGATTI ผลงานการออกแบบจาก Giugiaro เป็นรถต้นแบบที่ถูกส่งไปโชว์แสนยานุภาพทางเทคโนโลยีในงาน Paris Motor Show ปี 1998 ใช้เครื่องยนต์ W18 วางด้านหน้า ใช้ระบบขับเคลื่อน Permanent all-wheel drive โครงสร้าง Space Frame และช่วงล่างมัลติลิงค์



จาก ‘EB 118’ ต่อยอดไปเป็น ‘EB 218’ ในปี 1999 เรื่องดีไซน์ปรับเปลี่ยนไปเล็กน้อย แต่เทคโนโลยีพื้นฐานยังคงเหมือนเดิม ทว่าในที่สุดโปรเจคสปอร์ตซาลูน 4 ประตู ก็ถูกพับเก็บและแทนที่ด้วย Super Sport Car ในชื่อ ‘EB 18/3 Chiron’ (ชื่อเดียวกับ BUGATTI Chiron โมเดลปัจจุบัน) ถูกส่งมาโชว์ตัวครั้งแรกในงาน IAA Frankfurt Motor Show ปี 1999 และถัดจากนั้นไม่กี่เดือน เผยโฉมรถต้นแบบโมเดลที่ 4 ภายใต้ชื่อ ‘EB 18/4 Veyron’ ในงาน Tokyo Motor Show ปีเดียวกัน ถัดมาต้นปี 2000 งาน Geneva Motor Show, Piech แถลงข่าวโปรเจคซูเปอร์คาร์ 1,001 แรงม้า (PS) ความเร็วสูงสุดทะลุเพดาน 400 กม./ชม. เร่งแตะ 100 กม./ชม. เร็วกว่า 3 วินาที ซิ่งได้ทั้งบนถนน และในสนามแข่ง



งาน Paris Motor Show เดือนกันยายนปี 2000, BUGATTI เผยโฉม EB 16.4 Veyron ที่ลดจำนวนสูบเครื่องยนต์จาก W18 มาเป็น W16 ซึ่งเป็นงานวิศวกรรมจากทีมวิศวกร VW ใช้แนวคิดจับเครื่องยนต์ VR8 ที่มีอยู่ มาเชื่อมต่อเข้าด้วยกันในลักษณะไขว้แบบตัว ‘W’ เพื่อลดความยาวของเครื่องยนต์ลง ปริมาตรกระบอกสูบรวมมหาศาลถึง 8 ลิตร จึงต้องลำเรียงอากาศเข้าห้องเผาไหม้ ด้วยเทอร์โบถึง 4 ตัว โดยเทอร์โบ 1 ตัวรับผิดชอบ 4 สูบ เป็นที่มาของกำลังระดับ 1,001 PS ที่ 6,000 รอบ/นาที ขณะที่แรงบิดเลยเถิดไปไกลถึง 1,250 Nm มาในรูปแบบ ‘flat torque’ ลากยาวตั้งแต่ 2,200-5,500 รอบ/นาที



หมดปัญหาเรื่องเครื่องยนต์ ทีมวิศวกรซึ่งนำโดย Dr. Wolfgang Schreiber ต้องแก้ปัญหาทางเทคนิคเพิ่มเติมอีกหลายรายการ โดยเฉพาะเรื่องแอร์โร่ไดนามิคในความเร็วสูงที่ยังไม่มีรถถนนรุ่นไหนเคยทำได้มาก่อน ซึ่งในที่สุด Veyron ก็พร้อมลงไลน์ผลิตอย่างเป็นทางการในปี 2005 และบรรลุเป้าหมายตามที่ท่านประธาน Piech ตั้งไว้ คือ อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ใช้เวลาเพียง 2.5 วินาที (0-200 กม./ชม. และ 0-300 กม./ชม. ใช้เวลา 7.3 และ 16.7 วินาที ตามลำดับ) พร้อมความเร็วสูงสุด 406 กม./ชม. กลายเป็นเจ้าของสถิติ Production Car เร็วที่สุดในโลกในยุคนั้นทันที บรรดาเศรษฐีสายซิ่งสามารถเป็นเจ้าของ Veyron ด้วยสนนราคา 1 ล้านยูโร เท่านั้นเอง (ไม่รวมภาษีนำเข้า)

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้