หรือรถเก๋งจะหมดยุค ??? รู้จักกับ “รถครอสโอเวอร์ เอสยูวี” เทรนด์ฮิตใหม่ของโลก

3687 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี
ภาพ : Bangkok International Motor Show Official

 

ในโลกปัจจุบัน ทุกสิ่งอย่างก็เปลี่ยนไป...

ในสมัยก่อน ตลาดเมืองไทยจะนิยม “รถเก๋ง” กันเสียมากมาย เนื่องจากค่านิยมที่ “ดูดี” เรียกว่าเป็นตลาดหลักเลยก็ว่าได้ ตอนนั้นพวก “รถกระบะ” ก็คือ “รถกระบะ” ใช้บรรทุกจริงๆ ไม่ได้ออกแบบมาสะดวกสบาย ใช้งานเหมือนรถยนต์นั่งเหมือนทุกวันนี้ ส่วนรถอเนกประสงค์ก็พอมี แต่ก็ดูไม่เก๋ไก๋ คนก็เลยนิยมใช้รถเก๋งกันเป็นหลัก เพราะตัวเลือกมันก็ไม่มากนัก...

           

ความต้องการของตลาดมีมากขึ้น และ ความหลากหลายในจินตนาการ ส่งผลให้การออกแบบรถยนต์นั้นมีแบบที่ “ไม่เคยมีมาก่อน” ออกมาเพื่อเอาใจตลาดในวงกว้างขึ้น และ ตอบสนองการใช้งานที่หลากหลายขึ้น จะมีคำว่า “รถอเนกประสงค์” เกิดขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น รถกระบะ ที่ปรับปรุงให้ขับสบายเหมือนรถเก๋ง จนมีรุ่น “4 ประตู” ออกมาเอาใจตลาดครอบครัวโดยเฉพาะ แต่ บางทีจะให้ความสบายกว่าด้วย เพราะสามารถ “ลุยได้” เหมาะสำหรับถนนเส็งเคร็ง ไม่ต้องไปคิดถึงทาง Off Road หรอกครับ ใน “เมืองหลวงฟ้าอมร” เรานี่แหละ คุณก็ย่อมรู้ว่าถนนที่กำลังก่อสร้างนั้นมันสร้างความ “บันเทิงและบรรลัย” ให้กับลูกหมากของท่าน เอ้ย ของรถท่านได้ขนาดไหน เรียกว่า “รถเก๋งมีร้อง” กันบ้าง คนก็เริ่มเบื่อ และยังมี “รถอเนกประสงค์พื้นฐานจากรถกระบะ” เกิดขึ้นมา อันนี้แหละฮิตกันมาก เพราะคันใหญ่ นั่งสบาย ปรับเปลี่ยนการใช้งานได้เยอะ พับเบาะ บรรทุกของ ลุยออกทริปก็ได้ เครื่องดีเซล คอมมอนเรล ก็เออ ประหยัดและแรงดีว่ะ ทุกวันนี้ นิยมซื้อใช้งานกันจนกลายเป็นตลาดใหญ่แทบจะแทนที่รถเก๋งกันไปแล้ว...

            

แต่ว่า...ข้อจำกัดของรถเหล่านี้ ก็มีเหมือนกัน ด้วยความสูงใหญ่ของมัน ทำให้เกิดการ “ไม่คล่องตัว” ในการใช้งาน ซึ่ง “มนุษย์เมือง” ส่วนใหญ่ก็จะมีปัญหาเรื่อง “ที่จอดรถ” โดยมากจะอยู่ “คอนโดฯ” นี่แหละปัญหาเลย และอีกหลายๆ คน โดยเฉพาะ “คุณสาวๆ” ทั้งหลาย ที่ไม่ชอบรถใหญ่ กะยาก จอดยาก เกะกะไปหมด เข้าที่จอดรถแคบๆ ก็เหนื่อยชีวิต จึงไม่เหมาะกับรถประเภทนี้ ดังนั้น จึงมีรถอีกแนวหนึ่ง คือ “รถอเนกประสงค์ที่ใช้พื้นฐานจากรถเก๋ง” เกิดขึ้น จุดเด่นของมันก็คือ “ขับขี่สบายกว่ารถเก๋ง” ด้วยความสูงของตัวรถและช่วงล่างที่มากกว่า มีความนุ่มนวล ผ่านอุปสรรคได้มากกว่า การขับขี่ การทรงตัว อาการโคลงมีน้อยกว่ารถอเนกประสงค์พื้นฐานรถกระบะ รวมไปถึงประโยชน์ในการใช้สอยที่ปรับเปลี่ยนได้เยอะกว่ารถเก๋ง ทำให้รถกลุ่มนี้ เติบโตขึ้นมากในตลาดทั่วโลก ที่ต้องการ “รถเพียงคันเดียว ตอบโจทย์ได้หลากหลาย” นั่นเอง และเป็นที่มาของคำว่า “รถอเนกประสงค์แบบครอสโอเวอร์” ที่เรากำลังจะพูดถึงต่อไปนี่แหละครับ


 

“ครอสโอเวอร์ เอสยูวี” มันเป็นเช่นใด

เอาเป็นว่า ผมขออธิบายแบบง่ายๆ สไตล์ผมแล้วกันนะครับ อาจจะไม่เหมือนกับเซียนท่านไหนบอกไว้ ไม่ว่าจะเซียนตัวเป็นๆ หรือ เซียนโซเชียล ก็ตาม เพราะฉะนั้น ผมจึงเลี่ยงใช้คำ “บ่งชี้” เพราะแต่ละคนก็เข้าใจกันคนละอย่าง บางทีรถเหมือนกัน เรียกไม่เหมือนกัน รถไม่เหมือนกัน ดันมาเรียกเหมือนกันอีก รวมไปถึง บริษัทรถยนต์ เขาก็หา “คำการตลาด” ต่างๆ ให้ดูแหวกแนวกว่าชาวบ้าน ก็อย่ามาเถียงกันให้เป็น “ดราม่า” รับชมกันด้วยความสบายใจดีกว่า

ในเมืองไทยเราได้ยินคำว่า “ครอสโอเวอร์” เมื่อไม่นานมานี้เอง แต่ในเมืองนอกเขามีมานานแล้ว ถ้าจะพูดกันง่ายๆ ในยุคนั้นก็คือ “รถเก๋งยกสูง” จากโรงงานนั่นแหละครับ ยกตัวอย่างในบ้านเรา รถ VOLVO XC70 ที่เป็นแบบ Cross Country ซึ่งสัญลักษณ์ของตัว X ก็คือ Cross นั่นเอง มันก็เป็นพื้นฐานมาจากรถเก๋ง C70 นั่นเอง แต่เอาตัวแวนมาทำ เพื่อความอเนกประสงค์ ยกสูง และเสริมอุปกรณ์ให้ดูดุดันสมกับเป็นตัวลุยกันหน่อย ถ้าเป็นแนวนี้ ค่าย SUBARU ก็มีตัว LEGACY OUTBACK เอาตัวแวนมายกสูง ยกตัวอย่างพอประมาณดังนี้...

   

 

ในช่วงปี 90 ปลายๆ จนถึงยุค 2000 ก็เริ่มมีรถแบบ “เอสยูวี” แบบอเนกประสงค์ (ซึ่งในยุคนั้น บ้านเรายังไม่เรียก ครอสโอเวอร์) เป็นรถที่มีรูปลักษณ์แบบชัดเจน ไม่ใช่รถเก๋งยกสูง แต่เอาแค่ Platform พื้นฐาน เช่น ช่วงล่าง เครื่องยนต์ ระบบขับเคลื่อน แต่ตัวถังเป็นการ “สร้างโมเดลใหม่ทั้งหมด” ตอนนั้นตลาดการแข่งขันสูงมาก เพราะคนเริ่มจะหาสิ่งใหม่ๆ ในยุคแรกเริ่ม ตั้งแต่ช่วงกลางยุค 90 ถึง 2000 ก็จะมี HONDA CR-V, TOYOTA RAV-4, NISSAN X-TRAIL, SUBARU FORESTER, MITSUBISHI OUTLANDER/AIRTREK ประมาณนี้ ส่วนค่ายยุโรป เช่น BMW ก็มี X5 เป็นครั้งแรกที่ทำรถแบบนี้ คู่กัดกับ MERCEDES – BENZ ML Class ที่ยังให้อารมณ์เหมือนขับรถซีดานหรูหรา (ไม่นับ G – Class ที่เป็นรถแนว Off Road พันธุ์แท้) หรือแม้แต่ PORSCHE ที่ไม่เคยทำรถอื่นใดนอกจาก “รถสปอร์ต” ก็ยังต้องหันมาทำ CAYENNE กับเขาเลย ได้รับความนิยมมากในระดับ Hi – end ก็คิดเอาแล้วกันว่ากระแสแรงขนาดไหน

 

ตอนนั้นตลาดก็เริ่มโตขึ้นมาเรื่อยๆ รถที่ยกตัวอย่างมานี้ เป็นแนว “ขับเคลื่อน 4 ล้อ” ที่เน้นการลุยได้ “บ้าง” แต่ไม่หนักเหมือน Off Road พันธุ์แท้ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดอีก เพราะความที่เป็นรถขับเคลื่อน 4 ล้อ จึงทำให้ “ภาระในการขับเคลื่อนที่สูง” ที่แน่ๆ คือ “เปลืองน้ำมัน” และหลายคนก็ขับแต่ในเมือง เพราะรถพวกนี้ ปกติก็จะเป็นแบบ “ขับสองล้อ” นี่แหละ ไม่ได้ขับสี่ตลอดเวลานะ จะทำงานขับสี่ก็ต่อเมื่อ “ล้อเกิดอาการสลิป” ลื่น เริ่มหมุนฟรี ระบบถึงจะส่งให้เป็นขับสี่ ดังนั้น คนที่ใช้งานในเมือง บนถนนดำทั่วไป ไม่เคยลุยอะไรกับใครเขาหรอก ระบบขับขี่จึงกลายเป็น “ภาระ” ทั้งน้ำหนัก การดูแลรักษาที่มากขึ้น จึงทำให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงกันอีกครั้งหนึ่ง

ในตอนนี้ ก็เริ่มจะทำให้รถครอสโอเวอร์ มีความ “ปราดเปรียว” ขึ้นแล้ว จากเดิมที่ตัวบอดี้จะออกแบบให้ดู “สูง” เพื่อให้ “เฮดรูม” โล่งๆ แต่มันต้านลม ก็เลยต้องออกแบบให้หลังคาเตี้ยลง ลดการต้านลม ลดการโคลงตัวของรถ และดู “สปอร์ต” มากขึ้น โดยมากก็จะเป็นพื้นฐานจากรถเก๋งขนาดเล็ก และ เป็นแบบ “ขับสองล้อหน้า” เพื่อแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าว ทำให้ประหยัดน้ำมันมากขึ้นกว่ารถขับสี่ล้อ ราคาถูกลง เรียกว่าเอาใจฐานลูกค้าใหญ่ชาวเมืองนี่เอง และก็ไม่แปลกที่มันจะขายดี และเริ่มติดตลาดในช่วงระยะเวลาอันสั้น...

 


 

 

Sub – compact Crossover SUV ค่ายไหนๆ ก็มีแล้ว

สำหรับยุคใหม่นี้ มักจะเป็นรถแบบ Sub – compact Crossover SUV ที่อาศัยพื้นฐานรถเก๋งขนาดเล็กมาทำ ก็อย่างที่กล่าวไปว่า “เอาใจคนเมือง” ถึงที่สุด อย่างในบ้านเรา รถแนวนี้ที่เริ่มบุกตลาด ก็จะมี HONDA HR-V ที่มีพื้นฐานมาจาก HONDA JAZZ ก็ได้รับความนิยมสูง หลังๆ ก็ออกตามกันมาเพียบ เช่น TOYOTA C-HR ก็คือพื้นฐานเดียวกับ ALTIS ตัวใหม่ แล้วก็ NISSAN KICK E – POWER ที่ยังต้องใช้ “น้ำมัน” ไปให้เครื่องยนต์ “ปั่นไฟ” แล้วส่งไปยัง “มอเตอร์ไฟฟ้า” ขับเคลื่อนรถยนต์ โดยที่เครื่องยนต์ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนแต่อย่างใด ทาง TOYOTA ก็ออก COROLLA CROSS แบบ “ชัดเจน” เพราะอย่าง C-HR มันก็ใช่ครอสโอเวอร์แหละ แต่มันไม่อเนกประสงค์จริงๆ สักเท่าไร เน้นรูปลักษณ์แปลกมากกว่า แต่ COROLLA CROSS จะอเนกประสงค์อย่างชัดเจน (กว่า) ถ้าจะแบบหรูๆ หน่อย ก็ LEXUS ก็เล่นตลาดรถขนาดเล็กแบบพรีเมียม เช่น NX และ UX ค่าย MAZDA ตอนนี้ขนเหล่า CX ต่างๆ ออกมาขยี้ตลาด ครอสโอเวอร์ สายญี่ปุ่น ซึ่งแต่ก่อน MAZDA ก็ทำแต่รถเก๋ง แต่ตอนนี้ ครอสโอเวอร์ มาเต็ม เหลือเก๋งเพียงแค่ 2 และ 3 เท่านั้น ส่วน SUBARU คลอด XV ออกมา เป็นแนวสปอร์ตและกะทัดรัดกว่า FORESTER ที่จะออกแนวครอบครัวรุ่นใหญ่ ก็เรียกเรตติ้งได้เพียบ

 



Luxury Crossover SUV ค่ายสุดหรู ยังต้องยอมสยบ         

ถ้าเป็น “สายยุโรป” ขนาดรถแบรนด์หรูสุดของโลก “ค่ายนางฟ้า” อย่าง ROLLS – ROYCE ยังต้องเอา ผลิตรุ่น CULLINAN CROSSOVER หรือ BENTLEY ผลิต BENTAYGA ซึ่งเป็นรถครอสโอเวอร์ครั้งแรกของค่าย MERCEDES – MAYBACH จัด GLS ที่เหนือชั้นกว่า BENZ เทียบเท่าค่ายนางฟ้า ส่วน “ค่ายฟ้าขาว” BMW ก็มี X7 มาเรียกแขก ถ้าจะมาแบบ “โคตรแรง ก็มีสายอิตาเลียน “ค่ายกระทิงดุ” LAMBORGHINI URAS แบบแรงๆ และ “ค่ายตรีศูลย์” MASERATI ก็ไม่ยอมแพ้ เข็น LAVANTE ออกมาสู้ “ค่าย เจมส์ บอนด์” ASTON MARTIN มี DBX ก็ลองคิดเอา ขนาดค่ายรถยักษ์ใหญ่ที่ “ไม่เคยแยแส” กับรถแบบนี้มาก่อนเลย มุ่งมั่นแต่รถเก๋งลิมูซีนหรู หรือ ซูเปอร์คาร์ ก็ยังต้องยอมสยบให้กับความต้องการของตลาด หันมาผลิตรถครอสโอเวอร์ออกมาขายกันจนได้ คิดเอาเองแล้วกัน

 

“ครอสโอเวอร์ เอ็มพีวี” นี่ก็มาแรง ตอบโจทย์คนรักครอบครัว


และจะมีแตกยอดมาอีกแบบ ก็คือ “ครอสโอเวอร์ เอ็มพีวี” มันจะเป็น “รถแวน 7 ที่นั่ง” อย่างชัดเจน แล้ว MITSUBISHI ก็จับ X – PANDER CROSS มาก่อน แล้ว SUZUKI ก็งัด XL7 มาสู้ ทั้งคู่ใช้เครื่องยนต์ 1.5 ลิตร เหมือนกัน เกิดมากัดกันโดยตรง ก็ดีครับสำหรับแบบ “ครอบครัว” แถมยังยกสูง สามารถขับขี่บนถนนสุดเลิศหรูในเมืองกรุงฟ้าอมรได้อย่างสบายกว่ารถเก๋งปกติ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมมากๆ เรียกว่าพัฒนามาตอบโจทย์คนเมืองจริงๆ ครับ

บทสรุป รถยนต์แบบ “ครอสโอเวอร์” เชื่อได้เลยว่า “ตลาดโต” แน่นอน ด้วยความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป พูดง่ายๆ คือ “ซื้อคันเดียว ต้องใช้งานได้ทุกประเภท” ความอเนกประสงค์ต้องมี แบบที่รถเก๋งทั่วไปให้ไม่ได้ แต่ก็ยังติดฟิลลิ่งการขับ การนั่ง ในแบบรถเก๋งอยู่ ยังไม่อินกับรถแบบ “Off Road SUV” ที่จะเป็นอีกคาแรกเตอร์หนึ่ง อันนั้นถ้าเน้นสายลุย ถึกๆ ทนๆ ล่ะก็ได้ แต่คนเมืองส่วนใหญ่ก็จะหารถที่คล่องตัว พูดง่ายๆ “เหมือนขับรถเก๋งยกสูง” ดังนั้น รถครอสโอเวอร์ จึงเข้ามาตอบโจทย์ ไม่แปลกเลยที่ทุกค่าย “ของต้องมี” แน่นอนครับ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้