10 ข้อที่มัก “มโน” เกี่ยวกับการใช้รถ อะไรบ้าง ที่ส่งผลทางจิตใจ แต่ “บรรลัย” ตามมา

1196 จำนวนผู้เข้าชม  | 

“นี่เธอ ทำแบบนี้สิ เขาว่าดีกับรถนะ”

“โอ๊ย บริษัทรถยนต์มันหลอกเรา อย่าไปเชื่อข้อมูลมันมาก” 

“เห็นคนนั้นบอกว่าดี คนนี้บอกไม่ใช่ ของฉันสิดีแน่ๆ” 

           

คงได้ยินกันบ่อยๆ นะครับกับคำว่า “เขาว่า เขาว่า เขาว่า” อย่างนั้นอย่างนี้ดี ต้องทำอย่างนู้นอย่างโน้นกับรถถึงจะเจ๋ง โดยเฉพาะ “ได้ยินว่า” คนนั้นคนนี้พูดไปหลายทิศทาง หรือ “ได้เห็นว่า” ตามสื่อออนไลน์ ที่จะมีเหล่า “เซียน” มาคอยตอบ หลายคนก็รู้จริง แต่ส่วนใหญ่ก็ “รู้มาก” แต่ “รู้ไม่จริง” อันนี้แหละที่น่ากลัว เพราะสิ่งที่รู้มา มันอาจจะใช่ในมุมของเขา แต่มันอาจจะ “ไม่ใช่ในมุมของเรา” ก็ได้ และสิ่งที่น่ากลัวกว่านั้น คือ “การรู้ไม่จริง” หรือ “มโน” ทำโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทำให้เกิด “ความเสียหาย” และ “อันตรายใหญ่หลวง” ต่อรถและชีวิตเราได้ เอาเป็นว่า ลองมาดูเรื่องง่ายๆ ที่ยังเข้าใจผิดกันอยู่ มีอะไรบ้าง 20 อย่าง แบบ “อ่านสบาย” ครับ


 

รถใหม่ ไม่ต้องไปดูแลมันมากหรอก

“รถใหม่มันไม่เป็นไรหรอก ใช้ๆ ไปเถอะ ว่างๆ แล้วค่อยดู ถึงเวลาก็เข้าศูนย์ไปเลย ให้ช่างจัดการ เราจะไปทำเองทำไม”

ก็จริงตามที่คุณว่ามาแหละ เพราะรถใหม่ มันก็ไม่น่าจะมีอะไรจุกจิก หรือ ผิดพลาด เหมือนรถเก่า แต่ !!! รถก็คือรถ ต่อให้เป็นรถใหม่ มันก็มีโอกาสที่จะ “ผิดพลาด” ได้เหมือนกัน ก็เห็นกันบ่อยๆ รถป้ายแดง ออกมายังไม่ทันไร เกิดปัญหานั่นนู่นนี่ โวยวายออกสื่อกันมาก็มีให้เห็นตลอด บางทีก็เรื่องง่ายๆ เช่น น้ำรั่ว น้ำมันเครื่องรั่ว คนขับก็ขับไปนึกว่ารถใหม่จะไม่มีปัญหา น้ำแห้ง น้ำมันเครื่องหมด แป่วววววว “เครื่องพัง” สิรออะไร

ให้พึงระลึกไว้ว่า “รถจะเก่าหรือใหม่ ก็ต้องมีการตรวจเช็คเสมอ” อย่าประมาทเด็ดขาด อย่างน้อยของ Basic ก็ “น้ำ น้ำมันเครื่อง” เอาแค่นี้แหละ เพราะถ้าเราหมั่นตรวจเช็คประจำ หากเกิดอะไรที่ผิดปกติ เราจะได้ทราบและแก้ไขได้ทัน ก่อนที่จะบานปลายครับ เรานี่แหละต้องตรวจสอบก่อน เพราะช่างไม่ได้มาอยู่กับเราตลอดครับ

 



รถใหม่ ไม่กล้าใช้ กลัวมันเก่า

แต่... บางคนก็ “เห่อรถใหม่มากเกินไป” จนกลายเป็น “วิตกจริต” เข้าใจได้ครับ ว่า “ของใหม่ใครก็รัก” อุตส่าห์เก็บหอมรอมริบซื้อรถใหม่มาทั้งที จะทิ้งๆ ขว้างๆ ก็กระไรอยู่ อันนี้ดีครับ แต่อย่าถนอมเกินไป เพราะ “รถซื้อมาใช้” เราก็ต้องใช้ให้คุ้มค่า การระวังนั้นไม่จำกัดเฉพาะรถใหม่ ขับรถอะไรก็ต้องระวัง เป็นการลด เลี่ยง อุบัติเหตุ ส่วนการจอดรถ ถ้าเลือกได้ก็เอาที่ที่ดูแล้วไม่เปลี่ยวเกินไป ไอ้พวก “ล็อกกันขโมย” ก็ใส่เข้าไป เอาแบบบ้านๆ นี่แหละ พวก “สารพัดตัวล็อก” ทั้งหลาย ซื้อของดีมีมาตรฐานหน่อย พวกนี้จะช่วย “ประวิงเวลา” และอาจจะทำให้ “โจรเปลี่ยนใจ” ไม่ขโมยเพราะเสียเวลา (ไปเอาคันอื่น) ส่วนการดูแลรถ เพียงแต่ดูแลตามความเหมาะสมก็พอ มีอะไรก็หมั่นจำไว้ ว่าปกติมันอยู่ระดับไหน ถ้ามันปกติก็แล้วกันไป แต่ถ้าผิดปกติเมื่อไร เราจะรู้ทันทีครับ


 

เติมน้ำมันผสม ???

อันนี้แหละที่งงมากๆ เพราะเห็นหลายคนชอบเติมน้ำมันเบนซินผสมกัน เติมทีก็เปลี่ยนชนิดที เดี๋ยว E10 เดี๋ยว E20 สลับไปเติมเบนซิน 95 อีก อะไรประมาณนี้ แล้วน้ำมันก็จะไปผสมกันในถัง ในทางเทคนิค “ยังไม่เห็นประโยชน์อะไรจากการเติมน้ำมันสลับแบบนี้นะครับ” จริงๆ แล้ว การเติมน้ำมันเชื้อเพลิง “ให้ยึดถือตามบริษัทผู้ผลิต” เพราะเขาเป็นคนผลิตรถ เขาคงไม่มาหลอกให้เติมแล้วพังให้เสียชื่อยี่ห้อเขาหรอก อีกอย่าง การเติมสลับไปมา แต่เรื่องของ “ส่วนผสมน้ำมันกับอากาศ” ที่จะป้อนเข้าไปจุดระเบิด มันจะ “ไม่คงที่” จริงๆ แล้วรถรุ่นใหม่ก็จะมี “ออกซิเจนเซนเซอร์” เอาไว้จับส่วนผสมที่ออกมากับไอเสีย แล้วให้กล่อง ECU ปรับการฉีดให้เหมาะสม ถามว่าพังไหม “ไม่พังครับ” แต่อาจจะมี “การเปลี่ยนแปลงในด้านความรู้สึกบ้าง” สำหรับรถบางรุ่น แต่ก็ไม่มีประโยชน์อันใดจะสลับเติมให้สับสน ใช้ตามที่คู่มือประจำรถกำหนดดีที่สุด

เว้นแต่ !!! คุณขับรถไปในเส้นทางที่ไม่มีน้ำมันแบบที่คุณใช้ให้เติม อันนี้อย่าไปซีเรียส สามารถเติมต่างชนิดกันเพื่อใช้ไปก่อนได้ อย่างรถใช้ E20 จะเติม E10 หรือ รถเก่า จะเติม E20 แล้ววิ่งไปชั่วคราว ไม่มีปัญหาครับอันนี้ ก็ดีกว่าน้ำมันหมดอ่ะนะ เอาง่ายๆ ขอให้มันเป็น “ประเภท” เดียวกันก็แล้วกัน ห้าม และ ระวัง !!! อย่าเติมผิดประเภท เช่น “เบนซิน” แต่ดันเติมผิดเป็น “ดีเซล” แบบนี้ไม่ได้ครับ ต้องระวังมากๆ เพราะถ้าผิดมันจะเป็นเรื่อง

 



ใช้น้ำมันเครื่องเบอร์สูงๆ ไว้ เครื่องทนกว่า ลื่นกว่า

ไอ้นี่ก็เป็นเคสที่เจอกันบ่อยมากๆๆๆๆ แล้วก็ยังเชื่อตามๆ กันมากอีกด้วย กับความคิดที่ว่า “ใช้น้ำมันเครื่องเบอร์ความหนืดสูงๆ ไว้ดีกว่า” เช่น สเป็กโรงงานให้ใช้เบอร์ความหนืดตัวหลัง 30 แต่ “กูรู้” จะบอกว่า เอาเบอร์ 50 ไปเลยดีกว่า 30 ใสไป เติมแล้วพัง !!! เอางี้ครับ เรื่องความหนืดของน้ำมันเครื่องในยุคใหม่ จะสังเกตได้ว่า จะมี “ค่าความหนืดที่ต่ำ” อย่างเบอร์ 20 หรือ 30 ซึ่งค่อนข้างใส ในรถสมัยก่อนไม่มีแบบนี้แน่ๆ มีแต่เบอร์หนืดๆ ตั้งแต่ 40 หรือ 50 แล้วทำไมรุ่นใหม่ถึงทำใสขนาดนี้ล่ะ

 ความหนืดของน้ำมันเครื่อง จะถูกกำหนดโดย “ความห่างของชิ้นส่วนเคลื่อนที่ในเครื่องยนต์” หรือ “เคลียแรนซ์” นั่นเอง เครื่องรุ่นเก่า พวกโลหะต่างๆ ยังไม่ดีนัก การขยายตัวมาก ทำให้เกิดระยะห่างมากเช่นกัน ทำให้เกิดการ “รั่วไหล” สูง โดยเฉพาะ “กำลังอัดของเครื่องยนต์” ที่ทำให้เกิดพลังงาน ต้องใช้น้ำมันเครื่องหนืดๆ นอกจากการหล่อลื่นแล้ว ยังมีเหตุผลสำคัญๆ อีก เช่น “ซีล” กันการรั่วไหล และนอกจากนี้ ยังทำหน้าที่ “ประคองชิ้นส่วนให้ไม่มากระทบกัน” จนเกิดความเสียหาย แต่ในยุคใหม่ โลหะพัฒนาไปมาก การขยายตัวจึงมีน้อยกว่า สามารถควบคุมได้ เลยทำให้ระยะห่างของชิ้นส่วน “น้อยมาก” การรั่วไหลและสูญเสียกำลังต่ำลงมาก จึงสามารถใช้น้ำมันความหนืดต่ำลงได้อีก ทำให้ไม่กินแรงเครื่องด้วย ประหยัด ตอบสนองดี พวกนี้เรามองไม่เห็น แต่มันมีผลในด้านการสึกหรอ

เมื่อเราใช้น้ำมันเครื่องที่หนืดเกินไป ทำให้ “ภาระ” เครื่องยนต์สูงขึ้น หมุนยากขึ้น กินน้ำมันเชื้อเพลิงมากขึ้น การหล่อลื่นก็ใช่ว่าจะดีนะ เพราะเมื่อระยะห่างมันมีน้อย แต่น้ำมันเครื่องดันหนืด มันจะ “เล็ดเข้าไปได้ยากขึ้น” อันนี้พูดถึงรถสภาพเดิม ไม่นับรวมพวกรถโมดิฟายที่มันต้องเปลี่ยนเงื่อนไขต่างๆ ไปจากเดิม (เราไม่ขอพูดถึง) ดังนั้น “ใช้น้ำมันเครื่องตามที่ผู้ผลิตกำหนด” เถอะครับ แต่ว่า หากพอมีงบสักหน่อย อยากใช้น้ำมัน “เกรดสูง” แต่ยังเป็น “เบอร์เดิม” อันนั้นไม่มีปัญหาครับ แต่เอาจริงๆ ถ้าเครื่องเดิมๆ ใช้ของที่ได้มาตรฐานทั่วไปก็พอแล้วครับ เพียงแต่ “เปลี่ยนถ่ายตามระยะ” อันนี้สำคัญ ต่อให้ใช้น้ำมันเครื่องเทพ แต่ไม่เปลี่ยน ปล่อยให้เลยระยะไปแบบทิ้งๆ ขว้างๆ ก็ไร้ประโยชน์ครับ

 

เติมลมยางแข็งๆ เพื่อให้รถเกาะถนนขึ้น

เคสแบบนี้ ก็ไม่รู้นะว่าจะ “เกาะเสาไฟ” หรือ “เกาะกลาง” แทนมั้ย กับแนวคิด “เติมลมยางแข็งๆ ไว้ เกาะถนนดีกว่า” ต้องบอกอย่างนี้ก่อนว่า ใน “รถบ้านทั่วไป” ผู้ผลิตจะให้เน้นความ “นุ่มนวล” เป็นหลัก ด้วยยางแก้มสูง เวลาเลี้ยวจึงอาจจะมีการ “โย้ตัว” ของรถไปบ้าง ก็เป็นธรรมดา แต่หลายคนก็พยายามเติมลมยางให้แข็งขึ้น เพื่อลดการโย้ตัวของยาง ด้วยเหตุผลก็อาจจะเป็นไปได้ครับ เพิ่มจากเดิมไม่เกิน 2 ปอนด์ พอไหว แต่บางคนเห็นหวดกันอย่างกับรถบรรทุก รถเก๋งทั่วไปเฉลี่ย 30 ปอนด์ มีบวกลบนิดหน่อยแล้วแต่รุ่น พวกหวดกัน 35 - 40 ปอนด์ ยังเคยเจอ??? โดยเฉพาะรถแบบ Off road SUV ตัวสูงทั้งหลาย หวดลมแข็งๆ 40 – 45  ปอนด์ เพราะเหตุผลว่า “รถมันหนัก ลมยางต้องแข็งๆ เอาไว้ ไม่งั้นไม่เกาะถนน” อันนี้เจ้าของสั่งเติมเองด้วย แล้วจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้

การเติมลมยางแข็งเกินไป (อ่านนะครับ “แข็งเกินไป”) ด้วยเหตุผลของส่วนใหญ่ “ยังไม่เล็งเห็นถึงประโยชน์อันใด” ประการแรก “รถกระด้างและสะเทือนมากขึ้น” อันนี้ได้มาฟรีแน่ๆ ชอบเหรอครับ ??? ประการที่สอง “เกาะถนนแย่ลง ร่อนง่ายขึ้น” เนื่องจากลมยางที่แข็ง จะทำให้ “หน้ายางไม่แนบสนิทกับพื้นถนน” บ่ายางจะลอยขึ้น เหมือนยางมอเตอร์ไซค์ อย่างที่บอกดูด้วยตาเปล่าอาจจะไม่เห็น แต่สัมผัสได้แน่ๆ รถจะขับแล้วร่อนๆ เหมือนยางหมด ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายขึ้น คุณเองนั่นแหละครับที่ทำให้รถมัน “ไม่เอาถนน” ก็ไปว่ารถเขาไม่ดีนู่นนี่ การเติมลมยาง “ควรอ้างอิงตามผู้ผลิตกำหนด” เพราะเขารู้ว่ารถต้องการเท่าไร อาจจะมีเพิ่มสัก 1 หรือ 2 ปอนด์ ไว้หน่อยก็ยังไม่น่าเกลียด บางคนอาจจะไม่มีเวลาเติมบ่อยอันนี้เข้าใจ แต่ไม่ใช่หวดกันหนักๆ จะว่าไม่เตือนเด้อครับ

 



 
เติม “เกิน” เผื่อไว้ก่อน จะได้ไม่พัง

ไหนๆ ก็ว่ากันเรื่องนี้หน่อย ก็จะมีความคิดกันว่า “เติมเกิน เติมเผื่อ” หมวด “ของเหลว” เอาไว้หน่อย จะได้ไม่พัง เช่น น้ำมันเครื่อง หรือ น้ำในถังพักน้ำหม้อน้ำ เพราะกลัวมันพร่องแล้วเครื่องจะพัง จริงๆ แล้ว การเติมของเหลวในรถยนต์ จะต้องเติมให้ “พอดี” กับ “จุดที่กำหนดเอาไว้” ไม่ควร “ขาด” หรือ “เกิน” นิดหน่อยพอได้ แต่อย่าเยอะ อย่าง “น้ำมันเครื่อง” ถ้าเติมมากเกินไป ข้อเหวี่ยงจะตีน้ำมัน ทำให้เกิดแรงต้าน น้ำในถังพักน้ำหม้อน้ำ จะมีระดับที่เหมาะสมเอาไว้ ตอนเครื่องเย็นและร้อน บางคนเติมอัดจน “เต็ม” ปริเลย ตอนเครื่องร้อนเกิดแรงดันของน้ำ มันก็จะ “โบล์วทิ้ง” ไม่งั้นหม้อน้ำระเบิดแน่ น้ำมันเบรก น้ำมันเพาเวอร์ เติมเต็มไปตอนร้อนก็ “ดันทะลักออก” จริงๆ แล้วไม่ดีครับ มันเหมือนคุณกินมากไปจนจุกจนอ้วกนั่นแหละ เติมให้พอดีตามที่กำหนดไว้ดีที่สุดครับ

 

ขับช้าๆ ไว้ ประหยัดน้ำมันดี

อันนี้จริงๆ แล้วก็ถูกต้องครับ เพราะการขับรถเร็ว เราต้องเหยียบคันเร่งมาก เครื่องยนต์ทำงานมากขึ้น ทำให้สิ้นเปลืองทั้งเชื้อเพลิง รวมถึงการสึกหรอที่สูงขึ้น ซึ่งการขับช้ามันก็ดีครับ แต่ไม่ควรจะ “ช้าเกินไป” บนทางไฮเวย์ หรือ ทางด่วน การขับแบบเต่าๆ ก็ไม่ประหยัดนะครับ เพราะรถมันจะวิ่งด้วยเกียร์ต่ำ การที่จะประหยัดที่สุด คือ “ความเร็วลอยลำที่เหมาะสมบนเกียร์สูงสุด” ความเร็วเดินทางก็ควรอยู่ประมาณ 80 – 100 km/h ถ้าช้าเกินไป รอบเครื่องยนต์จะ “ต่ำ” ทำให้ไม่มีแรงขับเคลื่อน จะเห็นได้ว่า เราต้องเหยียบคันเร่งมากขึ้น ทำให้ไม่ประหยัดอย่างที่คิด แต่ถ้าลอยลำในความเร็วที่เหมาะสม จะรู้สึกว่า “เบาคันเร่ง” แตะๆ หน่อยรถก็ไปเรื่อยๆ จุดนั้นแหละครับประหยัดสุด และ การขับช้าเกินไป จะทำให้เกิดอันตรายได้ เราควรใช้ความเร็วที่เหมาะสมกับเส้นทาง และ สถานการณ์การจราจร จะปลอดภัยที่สุดครับ...


 



เบรกย้ำๆ หยุดได้ดีกว่า ???

เคยเจอไหมครับ คนที่ขับรถแบบ “เบรกย้ำๆ” หลายๆ ครั้งต่อเนื่องกัน นั่งแล้วอยากคายของในกระเพาะจริงๆ ครับ ขนาดผมเองเมารถยากนะ เจอแบบนี้เข้าไปก็มึนตึ้บเหมือนกัน เขาคงคิดว่าเบรกแบบนี้แล้วรถจะหยุดดีขึ้น ก็ไม่รู้ใครแนะนำมา แต่คาดว่าน่าจะเกิดจากความคิดที่ว่า การย้ำ หรือ ปั๊มเบรก หลายๆ ที มันเหมือนการทำงานของระบบเบรก ABS ที่ “จับปล่อย” เพื่อป้องกันล้อล็อก ทำให้สามารถหยุดรถและควบคุมรถได้ในขณะถนนลื่น...

แต่ มันไม่เหมือนกันครับ การเบรกแบบย้ำๆ ปล่อยๆ ลักษณะนี้ จะยิ่งทำให้ “ระยะเบรกเพิ่ม” ขึ้นไปอีก ตอนที่คุณปล่อยเบรก รถมันก็ไหลไปอีก ไม่มีทางที่ระยะเบรกจะสั้นเหมือนเบรกครั้งเดียวต่อเนื่องได้ การสึกหรอของเบรกก็มากขึ้น นั่งแล้วอ้วกจะแตก การทรงตัวของรถก็ไม่เสถียร มัน “กระดกไปกระดกมา” แนะนำว่า ให้ “เบรกต่อเนื่องครั้งเดียว” จนหยุด โดยการควบคุมน้ำหนักเท้า ค่อยๆ “นวด” เบรกให้เหมาะสม อันนี้ต้องฝึกครับ แล้วคุณจะควบคุมเบรกได้แน่นอน มั่นคง นุ่มนวล

กรณีภาวะฉุกเฉินที่จะต้อง “กระทืบเบรก” กระทันหัน อันนี้กระทืบลงไปเลยครับ อย่าไปกลัว เพราะรถสมัยนี้มี ABS ป้องกันล้อล็อกอยู่แล้ว ที่สำคัญ “ห้ามย้ำเบรกเด็ดขาด” รับรอง “ย่น” แน่นอน แต่การย้ำเบรกนั้น จะใช้ได้ในบางกรณี เช่น ขับรถลงเขา การเบรกต่อเนื่องยาวๆ จะทำให้ “เบรกไหม้” และ “เบรกไม่อยู่” คราวนี้เลิกคุย จึงต้อง “เบรกย้ำ” เป็นจังหวะๆ เพื่อให้เบรกมีโอกาส “คลายความร้อน” ได้บ้าง แต่ไม่ใช่ย้ำๆ ปล่อยๆ รัวๆ นะครับ ที่สำคัญกว่า “ใช้เกียร์ให้เหมาะสม” เพื่อเอา “แรงเบรกจากเครื่อง” มาดึงรถไว้ เบรกจะได้ไม่ทำงานหนักครับ

 

หน้าฝน ล้างทำไม เดี๋ยวก็เลอะ

แต่ก่อนผมก็คิดแบบนี้นะ ท้ายสุดก็ทำไม่ได้ เห็นรถสกปรกมากๆ แล้วใจคอไม่ค่อยดี หลายคนหน้าฝนแทบไม่ล้างรถเลย เพราะความคิดว่า “ล้างแล้วก็เลอะอีก” หรือ “เป็นพิธีเรียกฝน” ล้างปุ๊บ ตกปั๊บ ก็เลยเสียดายค่าล้างรถ งั้นกรูไม่ล้างดีกว่า

แต่...สิ่งหนึ่งที่จะเสียมากกว่าค่าล้างรถ คือ “สีรถคุณจะหมองเร็ว” เพราะคราบสกปรกที่ติดกับสีรถ ยิ่งนานวัน โดนแดด โดนฝน กระหน่ำซ้ำเข้าไป จะยิ่งทำให้มันฝังแน่น ทำลายชั้นสีของรถ โดยเฉพาะเหล่า “ขี้นก ยางไม้” ต่างๆ นี่ตัวดีเลย พอรถเริ่มสกปรกมากขึ้น ก็ควรจะล้างเพื่อ “เคลียร์” ของสกปรกออกไปก่อน อย่าให้มันฝังนาน ล้างแล้วฝนตกอีกก็ช่างมันปะไร อย่างน้อยก็ไม่ให้สิ่งสกปรกหมักหมมก็ยังดีกว่าทำให้สีหมองเร็ว ค่าล้างรถถูกกว่าค่าทำสีครับ ตอนล้างก็อย่าลืม “ฉีดล้างใต้ซุ้มล้อ” หรือ “ซอกมุมต่างๆ” มันเป็นแหล่งสะสมขี้ดินเลยแหละ ต้องล้างให้สะอาดด้วย อย่าปล่อยผ่านคิดว่าเป็นจุดที่มองไม่เห็น...

 



เปิดสปอตไลต์ ไฟตัดหมอก แบบไร้สาระ !!!

ตบท้ายกับค่านิยมที่ไม่รู้ว่าใครฝังในความคิด จะเจอบ่อยๆ กับเหตุการณ์แบบนี้ “ในเมืองก็ยังจะเปิด” ก็ยังงงๆ อยู่เหมือนกันว่า “ทำไปเพื่อ” เพราะในเมืองที่มีไฟส่องถนน เราใช้เฉพาะไฟหน้าปกติก็พอ เอาว่าบางที่เจอถนนมืดๆ ก็แค่ “เปิดไฟสูง” ส่องชั่วคราวก็สว่างเหลือเฟือแล้ว อย่าง ไฟสปอตไลต์ จะเอาไว้ใช้ในกรณีวิ่งทางหลวงที่มืดจริงๆ เช่น ทางต่างจังหวัดที่ไม่มีไฟส่องถนน หรือ มีแต่ไม่พอ ก็เปิดส่องได้ แต่พอมีรถสวนมาก็ “กรุณามีมารยาทปิดด้วยนะครับ” เดี๋ยวจะมีอุบัติเหตุร้ายแรงเพราะรถที่สวนมาเขาตาพร่ามองไม่เห็นอะไรเลย และ ไฟตัดหมอก หน้าที่ของมันก็ต้องใช้ตอน “มีหมอกลง” ถ้าไม่มีพี่จะเปิดทำไมให้มัน “แสงฟุ้ง” และโดยเฉพาะ “ไฟตัดหมอกหลัง” นี่นรก บางคันก็เปิดไว้ อาจจะด้วยไม่ตั้งใจ หรือ “ตั้งใจเปิด” จะเอาเท่หรือจะโชว์ว่ากรูมีก็ตามแต่ ให้รู้ไว้นะครับ ว่า “รถคันหลังเขาเดือดร้อน แสบตา” ถ้าโดนชนตูดหนักๆ ขึ้นมาก็ขอให้รู้ว่าคุณคือต้นเหตุ ของมีให้ใช้ก็ใช้ให้ถูกเรื่องครับ

นี่แหละครับ ความเข้าใจผิดที่สร้างความเดือดร้อนให้กับการใช้รถ บางสิ่งก็ดูจะเป็นเรื่องเล็กๆ แต่กลับขยายผลอย่างมหาศาล และ เป็นจุดเกิดของความสึกหรอ เสียหาย ที่ร้ายแรงสุด คือ “อุบัติเหตุ” ที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น เอาเป็นว่า การใช้รถนั้นก็ควรจะศึกษาให้ถูกต้อง ถึง “วิธีปฏิบัติ” เพื่อใช้รถได้เต็มประสิทธิภาพ ปลอดภัย คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไปครับ แฟนๆ ทุกท่านสามารถศึกษาได้ในเว็บไซต์ Lifestyle 224.com เจ้าประจำ จะนำข้อมูลดีๆ ที่อ่านง่าย เข้าใจง่าย ภาษาบ้านๆ มาฝากกันเสมอ ขอบคุณและโชคดีครับ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้