บอร์ด สปสช.ปรับ “ระเบียบฯว่าด้วยการตรวจสอบ” ใหม่ ให้สอดคล้องกระทรวงการคลัง

482 จำนวนผู้เข้าชม  | 

บอร์ด สปสช. มีมติเห็นชอบ “ร่างระเบียบฯ ว่าด้วยการตรวจสอบ” ฉบับใหม่ ทดแทนฉบับเดิมหลังใช้เกือบ 10 ปี ปรับให้สอดคล้องหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ 2561 ของกระทรวงการคลัง  



นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 5/2564 ที่มี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2564 มีมติเห็นชอบร่าง ระเบียบคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วยการตรวจสอบ พ.ศ.... ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อทดแทนระเบียบคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วยการตรวจสอบ พ.ศ.2554 ฉบับเดิม ที่มีเนื้อหาไม่ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนด  

ทั้งนี้ ร่างระเบียบฯ ฉบับดังกล่าว ได้ทำการปรับปรุงโดยกำหนดเนื้อหาตามที่หลักเกณฑ์กระทรวงการคลังกำหนด เท่าที่ไม่ขัดแย้งกับ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เช่น จำนวน อำนาจหน้าที่ คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม วาระของคณะอนุกรรมการ คุณสมบัติผู้อำนวยการและเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ เป็นต้น  

นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า เนื่องจากระเบียบฯ ฉบับเดิมที่ได้กำหนดขึ้นตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 และใช้บังคับมาเป็นเวลาเกือบ 10 ปี แต่ต่อมากระทรวงการคลัง ได้ประกาศ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ซึ่งกำหนดให้หน่วยงานของรัฐถือตามมาตรฐานและหลักเกณฑ์ดังกล่าว  



สำหรับข้อแตกต่างเพิ่มเติมจากหลักเกณฑ์ของกระทรวงการคลัง อาทิ การให้คณะอนุกรรมการมีอำนาจหน้าที่กรณีที่ตรวจพบ หรือมีข้อสงสัยว่ามีการกระทำซึ่งอาจมีผลกระทบต่อฐานะทางการเงิน และผลการดำเนินงานของสำนักงาน ให้รายงานคณะกรรมการทันที หรือกรณีที่สำนักงานมีเจตนาหรือปล่อยปละละเลยในการปฏิบัติตามระเบียบนี้โดยไม่มีเหตุอันควร ให้แสดงความเห็นพร้อมทั้งเสนอแนะมาตรการต่อคณะกรรมการ  

ขณะเดียวกัน ยังมีในส่วนของการให้ประธานและอนุกรรมการ มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี และอาจได้รับการแต่งตั้งใหม่อีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งเกินกว่าสองวาระติดต่อกันไม่ได้ รวมถึงการให้คณะอนุกรรมการตรวจสอบ ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ เป็นคณะอนุกรรมการตามระเบียบนี้ และให้นับเป็นวาระแรก  

“เมื่อเราทบทวนพบว่าระเบียบฯ เดิมมีหลักเกณฑ์ไม่ครบถ้วนตามที่กระทรวงการคลังกำหนด จึงได้จัดทำร่างฯ ฉบับใหม่นี้ขึ้น เพื่อกำหนดเนื้อหาตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว และไม่ขัดแย้งกับ พ.ร.บ.หลักประกันฯ โดยในส่วนของระเบียบฯ ปี 2554 จะถูกยกเลิกและนำเนื้อหาบางส่วนมารวมไว้ในฉบับนี้ ขณะเดียวกันจะมีบทเฉพาะกาลเกี่ยวกับสถานะคณะอนุกรรมการตรวจสอบชุดปัจจุบัน ตามระเบียบใหม่นี้ด้วย” เลขาธิการ สปสช. กล่าว  

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้