JENESYS 2016 ตะลุยแดนญี่ปุ่น

2327 จำนวนผู้เข้าชม  | 

          สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดงานแสดงความยินดีและปฐมนิเทศแก่น้อง ๆ ฑูตเยาวชนวิทยาศาสตร์ไทยระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจำนวน 23 คนจากทั่วประเทศ ที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนเยาวชนระหว่างประเทศญี่ปุ่นและประเทศอาเซียนหรือ JENESYS 2016 ณ กรุงโตเกียว และจังหวัดคานางาวะ ประเทศญี่ปุ่น

          นายชิโร่ เทราชิมา เลขานุการเอก สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “โครงการ JENESYS หรือ Japan-East Asia Network of Exchange for Students and Youths ในปี 2016 ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ประสงค์จะให้เกิดการแลกเปลี่ยนเยาวชนระหว่างประเทศญี่ปุ่น ประเทศสมาชิกอาเซียน และกลุ่มโอเชียเนีย ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีเยาวชนจากกลุ่มประเทศดังกล่าวเข้าร่วมกว่า 1,670 คน ร่วมกับเยาวชนญี่ปุ่น เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และส่งเสริมการสร้างความเข้าใจในงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศญี่ปุ่นในภาพกว้างขึ้น

          โครงการนี้จะเน้นการเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี พาไปเยี่ยมชมความน่าทึ่งของนวัตกรรมต่าง ๆ ในญี่ปุ่น พร้อมสอดแทรกความคิดว่าทำไมถึงคิดเทคโนโลยีนี้ขึ้นมา และคิดขึ้นมาได้อย่างไร พร้อมร่วมพูดคุยถกปัญหากับครอบครัวชาวญี่ปุ่นและนักเรียนญี่ปุ่นที่ได้ร่วมกิจกรรมด้วยกัน ภายหลังกลับมาประเทศไทย อยากให้เยาวชนได้นำประสบกาณ์ความรู้ไปเผยแพร่ต่อยังโรงเรียนและคนใกล้เคียงต่อไป พร้อมต่อยอดความคิดในเรื่องอนาคตว่าอยากจะประกอบอาชีพอะไร อาจคิดเรื่องไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่นก็ได้ ซึ่งทางสถานฑูตเองมีการสนับสนุนในเรื่องทุนไปเรียนต่อที่ประเทศญี่ปุ่นอยู่แล้ว”
          เยาวชนไทยจะได้ทัศนศึกษาที่กรุงโตเกียว โดยเริ่มต้นที่มหาวิทยาลัยโตเกียว เพื่อรับฟังบรรยายในเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต่อด้วยการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์โตเกียวเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับอวกาศ หุ่นยนต์ และนวัตกรรมใหม่ล่าสุดของญี่ปุ่น พร้อมชมนิทรรศการนักโนเบลญี่ปุ่นที่ได้รับรางวัลเมื่อไม่กี่ปีก่อนนี้
          จากนั้นจะเดินทางไปสัมผัสวัฒนธรรมที่เมืองโยโกสึกะ จังหวัดคานางาวะ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมกับเยาวชนระดับมัธยมของญี่ปุ่น และค้างพักแรมแบบโฮมสเตย์ 2 คืนกับครอบครัวชาวญี่ปุ่น
          ปิดท้ายด้วยการสัมผัสและชมเทคโนโลยี Cutting-Edge Technology อันตระการตาของญี่ปุ่น คือ อุโมงค์ใต้ทะเล หรือที่เรียกว่า ยูมิโฮทารุ (Umihotaru) สะพานอุโมงค์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเชื่อมต่อกับอุโมงค์ทางน้ำ เสมือนเกาะเทียมนั่นเอง นับเป็นการเสริมสร้างประสบการณ์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเยาวชนไทย และความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศญี่ปุ่นและไทยได้เป็นอย่างดี


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้